อินเตอร์เฟอรอน แกมมา (Interferon gamma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารอินเตอร์เฟอรอน แกมมา (Interferon gamma ย่อว่า IFN y) มีต้นกำเนิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cell) สารอินเตอร์เฟอรอนชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นร่างกายให้ต่อต้านเชื้อไวรัส รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโปรโตซัวบางชนิด ทางเภสัชกรรมการผลิตสารนี้ขึ้นมาใช้เป็น ยาอินเตอร์เฟอรอนแกมมา โดยอาศัยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมในเชื้อ Escherichia coli(E.Coli) และได้เภสัชภัณฑ์ยาที่เป็นลักษณะแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า “Recombinant human IFN-gamma ย่อว่า rhIFN-γ”

การแพทย์แผนปัจจุบันใช้ ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา มารักษาอาการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา และเกิดการติดเชื้อบ่อยๆซ้ำๆ ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมาจะช่วยชะลอความรุนแรงของการติดเชื้อ ตลอดจนใช้บำบัดอาการโรคออสติโอพีโตรซิส/โรคกระดูกหนา(Osteopetrosis, โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก)ที่มีความผิดปกติของกระดูกโดยกระดูกจะมีความหนาแน่นมวลกระดูกมากขึ้น จนส่งผลให้รูปร่างของกระดูกผิดปกติไป

อินเตอร์เฟอรอน แกมมามีกี่ชนิด อะไรบ้าง?

อินเตอร์เฟอรอนแกมมา

ทางคลินิก มีการพัฒนายาอินเตอร์เฟอรอน แกมมาออกมา 1 ตัว คือ “อินเตอร์เฟอรอน แกมมา-วันบี (Interferon gamma-1b)” ได้จากการตัดต่อพันธุกรรมในแบคทีเรียที่ชื่อว่า E.Coli เภสัชภัณฑ์ที่ได้มาจัดเป็นยาที่มีราคาแพงมาก และวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Actimmune

ประโยชน์ของอินเตอร์เฟอรอน แกมมามีอะไรบ้าง?

ประโยชน์/สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา เช่น

  • ใช้บำบัดและรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ที่เป็นบ่อยๆซ้ำๆใน ผู้ป่วยโรค Chronic granulomatous disease ที่เป็นโรคพบยากที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติจึงส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายและร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างเป็นก้อนเนื้อที่เกิดจากดซลล์ที่เกี่ยวกับการอักเสบเรื้อรัง(Macrophage)โดยเรียกก้อนเนื้อนี้ว่า Granuloma
  • บำบัดรักษาภาวะกระดูกมีความหนาแน่นกระดูกมากผิดปกติที่มักพบในเด็กอ่อน ที่เรียกว่าโรค Malignant osteopetrosis/ Malignant infantile osteopetrosis

อินเตอร์เฟอรอน แกมมามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมาคือ ตัวยาจะไม่มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยารับประทาน แต่จะเป็นยาฉีดที่ต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น

อินเตอร์เฟอรอน แกมมามีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมามีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับโรค Chronic granulomatous disease และ Malignant osteopetrosis เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 50 ไมโครกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร 3 ครั้ง/สัปดาห์ กรณีผู้ป่วยมีพื้นที่ของผิวของร่างกายน้อยกว่า 0.5 ตารางเมตร ให้ใช้ยาขนาด 1.5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 3 ครั้ง/สัปดาห์
  • เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

อินเตอร์เฟอรอน แกมมามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มอินเตอร์เฟอรอน(Interferonย่อว่า IFN)ที่มีทั้งหมด 3 ชนิด (แอลฟา/IFN alpha , เบต้า/IFN beta, และแกมมา/IFN gamma) มีกลไกการออกฤทธิ์ที่คาบเกี่ยวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค และยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรีย หรือชะลอการแพร่พันธุ์ของไวรัส ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา และเบต้า จะมีกลไกเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)บนผิวของเซลล์ในร่างกายที่ตำแหน่งแอลฟา(Alpha receptor)และเบต้า(Beta receptor) และถูกเรียกว่า “Type 1 interferon”

ขณะที่อินเตอร์เฟอรอน แกมมา มีการเข้าจับกับ ตัวรับที่แตกต่างออกไป จึงเรียกว่าเป็น “Type 2 interferon”

ทั้งนี้ Chronic granulomatous disease (ย่อว่า CGD) เป็นโรคเกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของเม็ดเลือดขาว(Leukocyte) ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา/อินเตอร์เฟอรอน แกมมา-วันบี จะช่วยปรับแต่งกระบวนการสันดาปของเม็ดเลือดขาวชนิดแมโครฟาจ(Oxidative metabolism of macrophages) และกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวประเภท Natural killer cells ส่งผลให้ร่างกายมีความต้านทานเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้มากขึ้น ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้อาการป่วยจาก CGD ดีขึ้นเป็นลำดับ

ส่วนในโรค Malignant osteopetrosis ที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของเซลล์กระดูกที่ชื่อ ออสทีโอคลาสท์ (Osteoclast)ซึ่งมีหน้าที่ช่วยสลายกระดูกเพื่อปรับให้กระดูกมีรูปร่างอย่างเหมาะสมกับการใช้งาน กรณีออสทีโอคลาสท์ทำหน้าที่น้อยเกินไปจะทำให้กระดูกเจริญเติบโตอย่างผิดปกติและผิดรูปร่าง นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา-วันบี จะเร่งการทำงานของออสทีโอคลาสท์ให้กลับมาเป็นปกติซึ่งจะทำให้อาการ Malignant osteopetrosis ทุเลาลง

อินเตอร์เฟอรอน แกมมามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ดังต่อไปนี้ เช่น

  • เกิดอาการหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ขณะใช้ยานี้ผู้ป่วยจะต้องรับการตรวจติดตามการทำงานของหัวใจเป็นระยะไปตามคำสั่งแพทย์
  • อาจมีกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ หนาวสั่น แพทย์จะจ่ายยาลดไข้อย่าง Acetaminophen/ Paracetamol เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว
  • มีภาวะวิงเวียน หรืออาจเกิดอาการทางจิตประสาท แต่อาการดังกล่าวจะหายได้เองหลังจากหยุดใช้ยานี้ภายใน 2– วัน
  • เกิดภาวะกดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล/Neutrophilและ เกล็ดเลือดลดต่ำลง เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวระหว่างได้รับยาอินเตอร์เฟอรอนชนิดนี้ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจเลือดCBCควบคู่กันไปตามคำสั่งแพทย์
  • กระตุ้นให้ตับมีการสร้างเอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มมากขึ้น กรณีที่ตรวจพบความผิดปกติของตับ/เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยานี้ลดลง
  • อาจทำให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงกับไต ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมาซ้ำๆหลายครั้ง
  • กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น เกิดผื่นคันตามร่างกาย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม กรณีมีอาการเหล่านี้ ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอน แกมมาอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ แพ้ส่วนประกอบของยานี้ และ/หรือแพ้เภสัขภัณฑ์ที่ผลิตจากเชื้อ Escherichia coli
  • ก่อนใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ว่า ปัจจุบันมีการใช้ ยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพรชนิดใดบ้างเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา
  • ห้ามใช้ยาใดๆขณะได้รับอินเตอร์เฟอรอน แกมมา นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือสตรีที่ปฏิเสธการป้องกันการตั้งครรภ์/การคุมกำเนิด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยาและรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ผู้ที่ได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมาต้องรับการตรวจสอบร่างกายอะไรบ้าง?

นอกจากการตรวจอาการของโรคแล้ว ผู้ป่วยที่ได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา จะต้องเข้ารับการตรวจต่างๆจากแพทย์ เช่น ความสมบูรณ์ของเลือด(CBC) ตรวจเลือดดูสภาพการทำงานของตับ ของไต ตรวจร่างกายทางระบบประสาท ตลอดจนกระทั่ง ตรวจการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ควรเก็บรักษาอินเตอร์เฟอรอน แกมมาอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอินเตอร์เฟอรอน แกมมาดังนี้ เช่น

  • เก็บยาฉีดเบต้า อินเตอร์เฟอรอน ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว

อินเตอร์เฟอรอน แกมมามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินเตอร์เฟอรอน แกมมา มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ACTIMMUNE (แอคทิมมูน)Horizon Pharma Ireland Ltd.

บรรณานุกรม

  1. https://www.merriam-webster.com/dictionary/beta%20interferon [2018,May26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Interferon_gamma [2018,May26]
  3. https://www.drugs.com/mtm/interferon-gamma-1b.html [2018,May26]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/interferon%20gamma/?type=brief&mtype=generic [2018,May26]
  5. https://www.actimmune.com/images/pdf/About-ACTIMMUNE-Brochure.pdf [2018,May26]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/interferon%20gamma/?type=brief&mtype=generic [2018,May26]
  7. http://www.invivogen.com/human-ifng [2018,May26]