อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี (Interferon beta-1b)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี (Interferon beta-1b) เป็นยาอินเตอร์เฟอรอน(Interferon ย่อว่า IFN)ที่ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียชนิด E.Coli และมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ยานี้จะช่วยลดอาการกำเริบหรืออาการเป็นๆหายๆของโรค และสามารถป้องกันความเสียหายของเซลล์ประสาทในสมองจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งลงอีกด้วย

ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี มีข้อห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้ รวมถึงกับสตรีมีครรภ์ ด้วยอาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนเบต้า-วันบี ผู้ป่วยจะต้องแจ้งประวัติโรคประจำตัวทุกประเภทให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบเมื่อเข้ารับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจวาย โรคตับ โรคลมชัก ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย โลหิตจาง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีกับสตรีในภาวะให้นมบุตร

หากเปรียบเทียบการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี กับยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ(Interferon beta 1a) เราจะพบว่า ผู้ป่วยต้องรับยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีวันเว้นวันหรือทุกๆ 48 ชั่วโมง แต่หากใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ผู้ป่วยจะได้รับยาตัวนี้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และใช้ขนาดยาที่น้อยกว่า

ในประเทศไทย ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี ถูกจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย มีจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Betaferon PFS และจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร ?

อินเตอร์เฟอรอนเบต้าวันบี

ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(Multiple sclerosis) ยาชนิดนี้จะช่วยชะลอความเสียหายจากการอักเสบภายในเซลล์ประสาทของสมอง และลดโอกาสการกลับมาเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งดังกล่าว

อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีคือ ตัวยาจะสร้างสมดุลของสารที่กระตุ้นการอักเสบของเซลล์ประสาทในสมอง โดยช่วยชะลอหรือลดการนำสารที่กระตุ้นการอักเสบผ่านเข้าทางแนวกั้นกลางระหว่างเลือดและสมองหรือที่เรียกกันว่า Blood-brain barrier ส่งผลให้ลดการอักเสบของเซลล์ประสาทในสมอง และยังช่วยให้การผลิตสารที่เป็นปัจจัยในการเจริญของเซลล์ประสาท (Nerve growth factor) ตลอดจนกระทั่งช่วยยืดอายุของเซลล์ประสาทอีกด้วย จากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้อาการปลอกประสาทเสื่อมแข็งทุเลาลง

อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยาInterferon beta-1b 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร หรือ 0.250 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดผงแห้งปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยาInterferon beta-1b 0.3 มิลลิกรัม/ขวด

อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เช่น

  • ผู้ใหญ่:
    • สัปดาห์ที่ 1 – 2: ฉีดยาครั้งละ 0.0625 มิลลิกรัม วันเว้นวัน
    • สัปดาห์ที่ 3 – 4: ฉีดยาครั้งละ 0.125 มิลลิกรัม วันเว้นวัน
    • สัปดาห์ที่ 5 – 6: ฉีดยาครั้งละ 0.1875 มิลลิกรัม วันเว้นวัน
    • สัปดาห์ที่ 7 เป็นต้นไป: ฉีดยาครั้งละ 0.25 มิลลิกรัม วันเว้นวัน

อนึ่ง:

  • ระยะเวลาของการใช้ยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีได้ตามแพทย์นัด ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อ แพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ ที่ผู้ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว และไม่ควรหยุดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก ผมร่วง ลมพิษ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง แพทย์จะแจ้งเตือนผู้ป่วยถึงเรื่องดังกล่าว และนัดหมายผู้ป่วยเข้ามาตรวจการทำงานของหัวใจเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ความดันหลอดเลือดปอดสูง
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดโรคไตชนิดที่เรียกว่า Nephrotic syndrome และ Glomerulosclerosis
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า มีอาการอยากทำร้ายตนเอง นอนไม่หลับ ง่วงนอน วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน อาจเกิดอาการชัก ปวดศีรษะไมเกรน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว ปวดคอ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ลดลง
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น อาจมีอาการ/กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับอักเสบ ตับวาย ตับอักเสบด้วยภูมิต้านทานตนเอง(โรคออโตอิมมูนที่เกิดกับตับ) ตัวเหลือง บิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาเจียน ปวดท้อง ปากแห้ง ท้องอืด ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือไม่ก็ต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรต้นตำรับยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ก่อนใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี ผู้ป่วยจะต้องแจ้ง แพทย์ เภสัชกร ว่า ตนเองมีการใช้ยาชนิดใดอยู่ก่อนแล้วบ้าง
  • ห้ามใช้ยาใดๆขณะได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีนอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • กรณีผู้ป่วยด้วยโรคตับ มีภาวะทางจิตใจ มีโรคหัวใจ หรือโรคประจำตัวใดๆผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้ง เมื่อเข้ารับการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อรับการให้ยาและรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี ร่วมกับยาBupropion ด้วยจะ ทำให้เกิดอาการลมชัก และทำให้ตับได้รับความเสียหาย/ตับอักเสบรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี ร่วมกับยาZidovudine ด้วยจะทำให้กด ไขกระดูกรุนแรงจนเกิดภาวะโลหิตจาง
  • ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี ร่วมกับยาTramadol ด้วยอาจทำให้เกิด ภาวะลมชัก
  • ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี ร่วมกับยาNatalizumab เพราะจะเพิ่ม ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสในสมองมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบีอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี ดังนี้ เช่น

  • เก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิที่ระบุในเอกสารกำกับยา เช่น ยาฉีดชนิดผงแห้งปราศจากเชื้อ สามารถเก็บที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • ยาฉีดชนิดผงแห้งปราศจากเชื้อ ที่เตรียมเป็นสารละลายแล้วต้องใช้ยานั้นภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว

อินเตอร์เฟอรอนเบต้าวันบีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันบี มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Betaseron (เบต้าซีรอน)Bayer HealthCare
Betaferon PFS (เบต้าเฟอรอน พีเอฟเอส)Bayer HealthCare

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/betaferon%20pfs/?type=brief [2018,June2]
  2. https://www.drugs.com/dosage/extavia.html [2018,June2]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2003/ifnbchi031403lb.pdf [2018,June2]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Interferon_beta-1b [2018,June2]
  5. https://www.drugs.com/sfx/extavia-side-effects.html [2018,June2]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/interferon-beta-1b,extavia-index.html?filter=3&generic_only= [2018,June2]