อินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ (Integrase Inhibitor)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 25 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณอย่างไร?
- ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ขนาดยา และ วิธีการรับประทานยา รวมถึงหากลืมรับประทานยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ควรทำอย่างไร?
- ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
- ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มียาชื่อการค้าใดบ้าง? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ
ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretrovirus หรือ Antiretroviral agent) หรือยาต้านเอชไอวี/HIV เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ปัจจุบันมียาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มใหม่ ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ยากลุ่ม “อินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ (Integrase inhibitor,หรือ Integrase strand transfer inhibitors ย่อว่า INSTs)” ซึ่งยามีกลไกยับยั้งกระบวนการอินทีเกรชั่น(Integration)ของไวรัสเอชไอวีคือ ตัวยาจะรบกวนการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรซ (Integrase enzyme)ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถเข้าเชื่อมต่อกับสาย/เส้นดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์ได้เพื่อการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกายมนุษย์ ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายของยาต้านรีโทรไวรัสที่จะเข้าทำปฏิกิริยา คือ การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรซของเชื้อไวรัสเอชไอวี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวีเชื่อมต่อกับดีเอ็นเอของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดซีดี-4 (CD-4 cell, Cluster of differentiation 4)ของผู้ป่วยเอชไอวีได้ จึงส่งผลทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกายผู้ป่วยลดลง
ปัจจุบันยาในกลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์เป็นยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มใหม่ (Novel agents) ที่นำมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีทั้งในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับยาต้านรีโทรไวรัสมาก่อน (Naive patient) รวมถึงการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาต้านเอชไอวีที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาแล้ว
ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณอย่างไร?
ยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ เช่นยา ราลทิกราเวียร์ (Raltegravir, RAL), เออวิทิกราเวียร์ (Elvitegravir, EVG), โดลุทิกราเวียร์ (Dolutegravir, DTG) มีข้อบ่งใช้/สรรพคุณสำหรับต้านรีโทรไวรัส/ไวรัสเอชไอวี โดยสูตรยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี จะประกอบด้วยยาต้านรีโทรไวรัสจำนวน 3 ชนิด เรียกว่า HAART (Highly Active Antiretroviral Therapy) ปัจจุบันสูตรยาฮาร์ท (HAART) ที่มียากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์เป็นตัวยาหลัก (INSTI-based regimens) มี 4 สูตร ดังนี้
ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ เช่นยา ราลทิกราเวียร์ (Raltegravir; RAL), เออวิทิกราเวียร์ (Elvitegravir, EVG), โดลุทิกราเวียร์ (Dolutegravir,DTG) เป็นยาต้านรีโทรไวรัสที่มีกลไกยับยั้งกระบวนการอินทีเกรชั่น (Integrase inhibitor, INSTs)ของเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีผลทำให้เกิดการรวมตัวของดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัสเอชไอวีกับดีเอ็นเอของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดซีดี-4 (CD-4) ของผู้ป่วยเอชไอวีเพื่อเพิ่มจำนวนไวรัสนี้ในผู้ป่วย โดยอาศัยเอนไซม์อินทีเกรซ (Integrase enzyme) ขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าว
กลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มนี้ คือ เมื่อตัวยาเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเข้ารบกวนการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรซ (Integrase enzyme) ของเชื้อไวรัสเอชไอวี เพื่อป้องกันไม่ให้สารพันธุกรรมดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชไอวี (Proviral DNA) เข้าเชื่อมต่อกับสาย/เส้นดีเอ็นเอของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดซีดี-4 (CD-4 cell) ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ จึงมีผลทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
ยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ ได้รับรองทางการแพทย์ให้ใช้เพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาต้านเอชไอวีหลายชนิด ซึ่งก็คือกรณีที่มีการเพิ่มปริมาณไวรัสเอชไอวีในขณะที่ผู้ป่วยกำลังได้รับยาต้านรีโทรไวรัสอยู่
ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ คือ ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet)
เมื่อมีการสั่งยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- กรณีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีมีภาวะการติดเชื้ออื่นร่วม เช่น วัณโรค, ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี จำเป็นต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกรทราบด้วย เพื่อประโยชน์ในการเลือกใช้ยาสูตรฮาร์ทให้เหมาะสมกับสภาวะและโรคร่วมขณะนั้น
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจาก ยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดสำหรับความปลอดภัยในการใช้ยากลุ่มอินทิเกรซอินฮิบิเตอร์ในหญิงตั้งครรภ์ และการผ่านของยาทางน้ำนม แพทย์จึงพิจารณาใช้ยากลุ่มนี้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรเฉพาะกรณีแพทย์พิจารณาประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ยังไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีอยู่ให้นมบุตร
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยา/ไม่ได้รับยา หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยาอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ทุก 12 ชั่วโมงได้ เช่น กรณีช่วงถือศีลอด หรือ เป็นช่วงที่ต้องหยุดยา/งดอาหารและยานี้เพื่อทำหัตถการทางการแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากยากลุ่มอินทิเกรซ อินฮิบิเตอร์เป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัด
- เนื่องจากยาในสูตรฮาร์ทบางสูตร รวมถึงยาสูตรที่มียากลุ่มอินทิเกรซ อินฮิบิเตอร์สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาในสูตรยาดังกล่าว กับยาชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยได้รับเพิ่มเติมได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรตระหนักถึงโอกาสในการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา โดยควรแจ้งบุคลลากรทางการแพทย์(เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร)ทุกครั้งถึงการกำลังรับประทานยาอะไรอยู่บ้างเมื่อมารับการรักษา
ขนาดยา และ วิธีการรับประทานยา รวมถึงหากลืมรับประทานยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ควรทำอย่างไร?
ขนาดยา และ วิธีรับประทานยา รวมถึงหากลืมรับประทานยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ ควรปฏิบัติดังนี้ เช่น
1. ขนาดยาของยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี จะมีขนาดยาและความถี่ในการรับประทานยาแตกต่างกันตามสภาวะโรคของผู้ป่วย รวมถึงชนิดยาต้านรีโทรไวรัสอื่นๆ หรือยาอื่นๆที่ใช้รักษาร่วมในขณะนั้น โดยแพทย์อาจพิจารณาเพิ่มหรือลดขนาดยาหรือความถี่ในการรับประทานยาในแต่ละผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
2. ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: สำหรับยาราลทริกราเวียร์และยาเออวิทิกราเวียร์ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง สามารถใช้ขนาดยาปกติ แต่สำหรับยาโดลุทิกราเวียร์ แพทย์จำเป็นต้องปรับขนาดยาตามการทำงานของไต กรณีผู้ป่วยได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกไตผ่านทางเลือด แพทย์จะแนะนำการบริหารยาภายหลังการฟอกไต หลีกเลี่ยงการให้ยาก่อนการฟอกไต
3. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาราลทริกราเวียร์,ยาโดลุทิกราเวียร์ และ ยาเออวิทิกราเวียร์ ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องปานกลาง แต่ยังไม่มีการศึกษาผลของภาวะตับบกพร่องรุนแรง จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาทั้ง 3 ตัวนี้ กรณีผู้ป่วยมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติขั้นรุนแรง
4. วิธีการรับประทานยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยานี้ ให้ตรงเวลาอย่างเคร่งครัด และพบว่าอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมของยาราลทริกราเวียร์ และยาโดลุทิกราเวียร์เข้าสู่กระแสโลหิต ดังนั้นจึงสามารถรับประทานยาราลทริกราเวียร์ และ ยาโดลุทิกราเวียร์ได้ทั้งขณะท้องว่างหรือหลังอาหารก้ได้ แต่สำหรับยาเออวิทิกราเวียร์ แนะนำให้รับประทานยาพร้อมอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึมยาได้ดีขึ้น ความถี่ในการรับประทานยากลุ่มนี้มีทั้งการรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง และรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง สำหรับการรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง แนะนำให้รับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน และรับประทานยาห่างกัน 12 ชั่วโมงกรณีมีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง
5. กรณีลืมรับประทานยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ กรณีมีวิธีรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป(วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
กรณีลืมรับประทานยาและมีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานไป จากนั้นรับประทานยา ในขนาดปกติต่อไป (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือนำยามื้อที่ลืมไปมารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดยาเดิม
การกินยานี้ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยานี้ในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยานี้มีขนาดต่ำก็จะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเอชไอวีเกิดการกลายพันธุ์และเป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา
ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาการ/ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)ของยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ เช่น ท้องเสีย, ปวดศีรษะ, นอนไม่หลับ, คลื่นไส้, อ่อนเพลีย, ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และอาจพบความผิดปกติของค่าทางห้องปฏิบัติการ โดยพบค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งค่าเอนไซม์การทำงานของตับจะเพิ่มสูงขึ้นได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีภาวะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี มาก่อน และอาจพบภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis: ระดับเอนไซม์อะไมเลส/Amylase/ และ เอนไซม์ ไลเปส/Lipase /เอนไซม์ตับอ่อนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น)
ค่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ควรติดตามขณะใช้ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับ (Liver Function Enzyme ได้แก่ ค่าAST/Aminotransferase , ALT/Alkaline phosphatase , Bilirubin), เอนไซม์ที่บ่งชี้ภาวะตับอ่อนอักเสบ ได้แก่ อะไมเลส (Amylase ),และไลเปส (Lipase), ค่าระดับครีอะทีน ฟอสโฟไคเนส หรือ ซีพีเค (Creatine Phosphokinase(CPK) ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ในการติดตามการสลายตัวของกล้ามเนื้อลาย/กล้ามเนื้อลายสลาย และค่าซีรัมครีทีนีน (Serum creatinine)กรณีใช้ยาโดลุทีกราเวียร์ เนื่องจากยาเข้ายับยั้งการทำงานในการขจัดของเสียออกจากร่างกายบริเวณท่อไต(Renal tubular secretion) จึงอาจส่งผลทำให้ค่าซีรัมครีทีนีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ ดังนั้นควรติดตามค่าทางห้องปฏิบัติการเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์นี้
อีกทั้งยังพบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางผิวหนังอย่างรุนแรงและภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitibity) คือ ผื่นตามผิวหนัง อาจเกิดผื่นเพียงเล็กน้อยถึงรุนแรงแบบจุดและแบบตุ่มแดงเล็กๆ หรือปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรงถึงชีวิต เช่น สตีเวนจอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome) หรือ เทนส์(Toxic Epidermal Necrolysis; TEN) โดยผู้ป่วยควรสังเกตอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หรือมีตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย ร่วมกับมีไข้ มีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ เจ็บบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก เจ็บบริเวณช่องคลอด รอบทวารหนัก ที่อวัยวะเพศ รอบตา ตาแดง เยื่อตาอักเสบ หากเกิดอาการดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ป่วยต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ เช่น
- พบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางผิวหนังอย่างรุนแรงและภาวะภูมิไวเกิน คือ ผื่นตามผิวหนัง อาจเกิดผื่นเพียงเล็กน้อยถึงรุนแรงแบบจุดและแบบตุ่มแดงเล็กๆ หรือปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรงถึงชีวิต เช่น สตีเวนจอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome) หรือ เทนส์(Toxic Epidermal Necrolysis; TEN) โดยผู้ป่วยควรสังเกตอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หรือตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย ร่วมกับมีไข้ มีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ เจ็บบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก เจ็บบริเวณช่องคลอด รอบทวารหนัก อวัยวะเพศ รอบตา ตาแดง เยื่อตาอักเสบ หากเกิดอาการดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ป่วยต้องรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ภาวะ Immune Reconstitution Syndrome: มีรายงานการเกิดภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลายชนิดร่วมกัน ที่เกิดกลุ่มอาการนี้ในช่วงต้นของการรักษา เนื่องจาก เมื่อผู้ป่วยเอชไอวีที่ได้รับยาต้านรีโทรไวรัส ระบบภูมิคุ้มกัน(ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายจะทำงานได้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันฯมีการตอบสนองต่อภาวะ/โรคติดเชื้อฉวยโอกาสเดิมของผู้ป่วย จึงเกิดการตอบสนองของร่างกายแบบก่อการอักเสบ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะทางคลินิกที่ร้ายแรงหรือมีอาการจากเชื้อฉวยโอกาสนั้นๆกำเริบขึ้น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium aviumของระบบหายใจ, การเกิดจอตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสซีเอ็มวี (Cytomegalovirus, CMV), เกิดโรคปอดบวมจากเชื้อพีซีพี ( Pneumocystis jroveci, PCP), และเกิดวัณโรค (Tuberculosis,TB) ซึ่งแพทย์จะมีการประเมินภาวะอาการอักเสบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ และทำการรักษาภาวะต่างๆเหล่านั้นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- ยาในกลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยสำหรับการใช้ ในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ในหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงหญิงให้นมบุตร
- การใช้ยาโดลุทิกราเวียร์ แพทย์จำเป็นต้องปรับขนาดยาตามการทำงานของไต สำหรับยาราลทริกราเวียร์ แต่การใช้ยาเออวิทิกราเวียร์ แพทย์สามารถใช้ขนาดยาปกติได้ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา
- ยาราลทริกราเวียร์,ยาโดลุทิกราเวียร์ และ ยาเออวิทิกราเวียร์: แพทย์มักไม่ใช้ยาทั้ง 3 ตัวนี้ กรณีผู้ป่วยมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติขั้นรุนแรง
ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
1. การใช้ยาราลทิกราเวียร์ หรือยาโดลุทิกราเวียร์ ร่วมกับยาไรแฟมปิน (Rifampin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค) มีผลทำให้ระดับยาราลทิกราเวียร์ และ ยาโดลุทิกราเวียร์ ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก แพทย์จึงจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาราลทิกราเวียร์ และ ยาโดลุทิกราเวียร์ กรณีที่ผู้ป่วยกำลังได้รับยาไรแฟมปินร่วมด้วย
2. การใช้ยาราลทิกราเวียร์ หรือ ยาโดลุทิกราเวียร์ หรือ ยาเออวิทิกราเวียร์ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสอื่น เช่น อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir), เอฟฟาไวเรนซ์(Efavirenz), ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir), ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) จะมีผลทำให้ระดับยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ดังกล่าวในเลือดลดลงหรือเพิ่มขึ้น ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยาเหล่านี้เป็นกรณีๆไป หรือให้ตามเอกสารกำกับยา
3. ควรใช้ยาในกลุ่มยาลดกรดชนิดน้ำที่มีส่วนประกอบของอะลูมินั่ม (Aluminum เช่น Aluminium hydroxide) หรือแมกนีเซียม (Magnesium, เช่น Magnesium hydroxide) หรือยากลุ่มอื่นๆที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม (Calcium, เช่น Calcium carbonate), และเหล็ก (Ferrous, เช่น Ferrous sulfate) ให้ห่างจากการรับประทานยาราลทิกราเวียร์ และยาเออวิทิกราเวียร์ อย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการจับกันของตัวยาเหล่านั้นกับยาราลทิกราเวียร์และยาเออวิทิกราเวียร์ ซึ่งจะส่งผลต่อการดูดซึมยาต้านรีโทรไวรัสทั้ง2ชนิดนั้น ทำให้ไม่สามรถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างสมบูรณ์
4. เมื่อใช้ยาโดลุทิกราเวียร์ ร่วมกับยาดังต่อไปนี้ คือ ยา เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz), คาร์บามาซีปีน(Carbamazepine), ฟอสแอมพรีนาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ (Fosamprenavir/Ritonavir), ทิพรานาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ (Tipranavir/Ritonavir), เนวิราปีน(Nevirapine),ไรแฟมปิน (Rifampin) แพทย์อาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มขนาดยาโดลุกราเวียร์ เนื่องจากยารายการดังที่กล่าวมา มีผลทำให้ระดับยาโดลุกราเวียร์ในเลือดลดลง
5. เมื่อใช้ยาราลทริกราเวียร์, โดลุทิกราเวียร์ และ เออวิทิกราเวียร์ ร่วมกับยาบางชนิดที่ส่งผลกระตุ้นหรือยับยั้งกระบวนการขจัดยากลุ่มนี้ออกจากร่างกาย เช่น ยาฟีโนบาบิทาล (Phenobarbital: ยากันชัก), ยาฟีนีทอย (Phenytoin: ยากันชัก), ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir: ยาต้านรีโทรไวรัส) ซึ่งอาจมีผลเพิ่มหรือลดระดับยาทั้ง 3ชนิดได้ ดังนั้น แพทย์ และ/หรือ เภสัชกรจึงควรตรวจสอบรายการยาต่างๆที่ผู้ป่วยได้รับเสมอว่า อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ หรือไม่ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ที่ส่งผลต่อระดับยา อินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ ที่อาจทำให้ผลการรักษาด้วยยาอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ ล้มเหลว
ควรเก็บรักษายากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์อย่างไร?
แนะนำเก็บยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ ที่อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือเก็บยาในห้องที่ร้อนจัดหรือมีความชื้นมาก เช่น ในรถยนต์ หรือในห้องน้ำ นอกจากนี้ยังควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมและเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา
ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์มียาชื่อการค้าใดบ้าง? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
บรรณานุกรม
- Lacy CF, Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013
- Elaine W, Nathan T, April Y. HIV pharmacotherapy:A review of integrase inhibitors. American Academy of Physician Assistants. 2016; 29: 36-40
- Kundan BI, Manish SB, Review HIV-1 integrase inhibitors: a review of their chemical development. Antibiral Chemistry & Chemotherapy 2011; 22: 95-105.