อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน (Insulin zinc suspension)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตได้จากตับอ่อนทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายสามารถใช้น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในกระแสเลือดได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนอินซูลินจะเกิดภาวะ/โรคเบาหวานประเภทที่ 1 (Diabetes type 1) ซึ่งผู้ป่วยควรต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ยืนยันก่อนเสมอ ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน (Insulin zinc suspension) เป็นยาที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคเบาหวาน โดยตัวยาถูกสกัดมาจากตับอ่อนของสุกรหรือบางสูตรตำรับยาจะสกัดมาจากตับอ่อนของมนุษย์ซึ่งทำให้มีราคาจำหน่ายสูงขึ้น

ข้อจำกัดการใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีอยู่ไม่กี่ประการเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้ และในผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่แล้ว
  • กลุ่มสตรีตั้งครรภ์กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์หากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้
  • สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัวและมีการใช้ยาชนิดอื่นๆอยู่แล้วก็อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันได้เช่น มีการใช้ยา Diltiazem, Gemfibrozil หรือยากลุ่ม Tocolytics (ยาลดการบีบตัวของมดลูก) อย่าง Ritodrine ก็สามารถทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาอินซู ลิน ซิงค์ ซัสเพนชันด้อยลงไป หรือการใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันร่วมกับยากลุ่ม Beta-blockers, Fenfluramine, ยากลุ่ม MAOIs, Penicillamine, Aspirin, Tetracyclines รวมถึงการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่บ้างหรือไม่

ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันเป็นยาอินซูลินชนิดที่ถูกผลิตขึ้นมาในลักษณะของยาฉีด ปกติจะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาล หากมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องนำกลับมาใช้ที่บ้าน จะต้องเรียนรู้เทคนิคและหัตถการในการใช้ยานี้อย่างถูกต้องจากแพทย์พยาบาลหรือเภส้ชกร รวมถึงวิธีเก็บรักษายานี้ และการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าหมดอายุหรือไม่

บางครั้งร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันอาจเกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆได้เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า หรือ

กรณีที่ได้รับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันเกินขนาด สามารถพบอาการหนาวสั่น วิงเวียน เป็นลม ปวดศีรษะ ง่วงนอน หัวใจเต้นเร็ว หิวอาหารบ่อย กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน เกิดอาการชัก เหงื่อออกมาก ตัวสั่น และอ่อนเพลีย เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรต้องเรียนรู้การปรับและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมอย่างเช่น การควบคุมอาหาร การเรียนรู้ถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากแพทย์พยาบาลเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และประเด็นที่สำคัญจะต้องใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันตรงตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ

อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อินซูลิน-ซิงค์-ซัสเพนชัน

ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 diabetes)

อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในเซลล์ต่างๆที่เรียกว่า อินซูลิน รีเซพเตอร์ (Insulin receptor) ทำให้มีการนำน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ของร่างกายเช่น กล้ามเนื้อ ร่างกายจึงสามารถนำน้ำตาลฯมาใช้เผาผลาญเกิดเป็นพลังงานที่ใช้ในร่างกายซึ่งช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้

อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 100 ยูนิต/มิลลิลิตร

อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยา/การบริหารยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันนั้นไม่สามารถระบุได้เพราะจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย จะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาโดยมีข้อมูลทางการแพทย์เช่น ผลค่าน้ำตาลในเลือดและอายุผู้ป่วยเป็นข้อมูลประกอบในการปรับขนาดยาของแพทย์

อนึ่งมีขั้นตอนในการปฏิบัติ/ในการฉีดยานี้ดังนี้

  • ล้างมือทำความสะอาดก่อนจะใช้ยา
  • เขย่าขวดยาให้ตัวยาภายในขวดกระจายตัวเข้ากันดี และสังเกตในขวดยาจะต้องไม่มีฝุ่นผง ใดๆปะปนลงไป แต่ถ้ามีฯห้ามใช้ยานั้นให้ทิ้งยานั้นไป
  • ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณจะฉีดยาด้วยแอลกอฮอล์ 70% (แอลกอฮอล์ทำแผล) จากนั้นตรึงผิวหนังให้แผ่ออกไม่ให้มีรอยย่น แล้วทำการฉีดยาตามหลักหัตถการที่ถูกต้องตามที่แพทย์พยาบาลแนะนำ
  • การฉีดยานี้แพทย์/พยาบาลจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการฉีดยาซ้ำๆต่อเนื่องในบริเวณเดิมทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการระคายเคืองทางผิวหนัง ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรจะแนะนำฉีดยานี้ที่ผิวหนังในส่วนหน้าท้อง
  • หลังการฉีดยานี้ควรเฝ้าระวังว่าจะเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ โดยสังเกตจากมีอาการ วิงเวียน ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก เป็นลม ง่วงนอน เป็นต้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันควรทำอย่างไร?

หากลืมฉีดอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันสามารถฉีดยาอินซูลินฯเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน ปวดบริเวณที่ฉีดยา มีเหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น เกิดภาวะตาพร่า การมองภาพไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการมือสั่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ อาจมีภาวะชัก กระสับ กระส่าย หมดสติ
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ของอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยาอินซูลินชนิดอื่นร่วมในการรักษาโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หลังได้รับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน
  • ระวังการใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเช่น น้ำ หวานเพื่อช่วยประทังอาการน้ำตาลในเลือดต่ำก่อนไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองว่าเป็นปกติหรือไม่เสมอตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรอย่างเคร่งครัดเช่น ควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม
  • มารับการตรวจเลือดที่สถานพยาบาลและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันร่วมกับยาต้านเบาหวานชนิดอื่น, ยาในกลุ่ม ACE inhibitors, ยากลุ่ม MAOIs, ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) จะส่งผลให้ลดน้ำตาลในกระแสเลือดมากยิ่งขึ้น การใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันร่วมกับยาต้านแบคทีเรียเช่น Doxycycline สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำยิ่งขึ้น การใช้ยาร่วมกันผู้ป่วยควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดว่าปกติดีหรือไม่ตามแพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำก็ได้ อีกทั้งส่งผลเสียต่อการรักษาเพราะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้

ควรเก็บรักษาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันอย่างไร?

ควรเก็บยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันในที่เย็นภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) และห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
LENTE ILETIN II (เลนเต ไอเลติน II)Eli Lilly
Humulin U (ฮิวมูลิน ยู)Eli Lilly

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/drp/insulin-zinc-suspension.html [2016,May14]
  2. http://www.drugs.com/cdi/insulin-zinc-suspension-extended.html [2016,May14]
  3. http://www.drugs.com/cdi/lente-iletin-ii-suspension.html [2016,May14]
  4. https://www.drugs.com/drp/iletin-ii-lente-pork-100-units.html [2016,May14]
  5. http://www.drugs.com/pro/humulin-u.html [2016,May14]