อาหารในโรคตับแข็ง (Diet and liver cirrhosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง (Liver cirrhosis) การเลือกกินอาหารที่จะช่วยลดอาการได้นั้นจะมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่ป่วยอยู่ ซึ่งได้แก่

  1. ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งระยะแรก (ยังไม่มีตาเหลือง หรือท้องมาน) ซึ่งการเกิดภาวะขาดสารอาหารพบได้ประมาณ 20 %
  2. ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งระยะลุกลาม ดูได้จากมีอาการบวม มีท้องมานมีตาเหลือง มีอา การหมดสติ หรือซึม จากตับวาย ซึ่งหมายถึง มีสภาพการทำงานของตับเหลืออยู่น้อย ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบบ่อยที่มีภาวะขาดสารอาหารร่วมด้วย โดยภาวะขาดสารอาหารจะพบได้ประมาณ 60% และอาจสูงถึง 80% ในผู้ป่วยตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง

เมื่อเกิดภาวะเริ่มตับแข็งในระยะสั้นๆ จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการมากนัก แต่ถ้าอาการของโรคเปลี่ยนไปเป็นโรคตับแข็งที่รุนแรงมากขึ้น จะมีผลต่อภาวะโภชนาการอย่างมาก เกิดภาวะขาดสารอาหารต่างๆ เช่น ขาดอาหารที่ให้พลังงานซึ่งที่สำคัญ คือ โปรตีน ขาดวิตามินต่างๆ

สาเหตุของภาวะขาดสารอาหาร คือ ได้อาหารไม่พอ ประสิทธิภาพของการย่อย การดูดซึม และการเผาผลาญอาหาร ลดน้อยลงไป

ดังนั้น การปรับดัดแปลงอาหารให้เหมาะสมกับระยะภาวะเจ็บป่วยจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย

อนึ่ง สามารถปรับใช้บทความนี้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับได้ เพราะผู้ป่วยมะเร็งตับมักมีโรคตับแข็งร่วมด้วย และ/หรือมีการสูญเสียการทำงานของตับเช่นเดียวกับในผู้ป่วยโรคตับแข็ง การดูแลผู้ป่วยในเรื่องอาหารจึงเช่นเดียวกัน

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคตับแข็งเกิดภาวะขาดสารอาหารมีอะไรบ้าง?

อาหารในโรคตับแข็ง

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคตับแข็งเกิดภาวะขาดสารอาหาร ได้แก่

  1. จากโรคตับแข็งที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ทำให้มีอาการเบื่ออาหาร และรับประทานได้น้อยลง
  2. ผู้ป่วยจะมีการดูดซึมสารอาหารได้น้อยกว่าคนปกติ อันเนื่องมาจากการบวมของผนังลำไส้
  3. ผู้ป่วยซึ่งมีน้ำในช่องท้อง (ท้องมาน) เป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้กินอาหารได้น้อยลงจาก เกิดภาวะแน่นท้อง ลำไส้เคลื่อนไหวได้น้อย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ บางครั้งแพทย์จึงพิจารณาให้การรักษาโดยการเจาะน้ำในช่องท้องออก การเจาะน้ำแต่ละครั้งก็จะทำให้ผู้ป่วยสูญ เสียโปรตีนออกจากร่างกายจำนวนหนึ่ง
  4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง จะมีการสลายอาหารสะสมในกล้ามเนื้อ เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานมากกว่าคนปกติ เนื่องมาจากผู้ป่วยที่มีท้องมานจะต้องแบกน้ำหนักของน้ำที่อยู่ในช่องท้องด้วย จึงทำให้มีความต้องการในการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการรับประทานอาหารได้น้อย ไม่พอเพียง จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดสารอาหารขึ้นได้

อาหารอะไรบ้างในผู้ป่วยโรคตับแข็งที่ต้องควบคุม?

ก. อาหารต้องควบคุม/จำกัดในโรคตับแข็ง คือ

  1. อาหารเค็ม
  2. อาหารกลุ่มโปรตีน

ข. อาหารที่ต้องงดในโรคตับแข็ง คือ

  1. อาหารสุกๆ ดิบๆ
  2. อาหารเก่าเก็บ อาหารค้างคืน
  3. อาหารกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
    1. กลุ่มที่อาจมี สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่สร้างจากเชื้อรา Asper gillus ซึ่งเป็นเชื้อราตระกูลเดียวกับที่พบตามขนมปังที่เก็บไว้นานๆนั่นเอง เชื้อรา Aspergillus บางตระกูลสามารถสร้างสารพิษที่เรียกว่า อะฟลาทอกซินนี้ขึ้น ซึ่งทนความร้อน การหุงต้มไม่เพียงพอที่จะทำลายสารพิษนี้ได้ และสารพิษนี้สามารถชักนำให้เกิดมะเร็งตับได้ (เมื่อได้รับในปริมาณสูงหรืออย่างต่อเนื่อง) เชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในอาหารบางอย่าง ซึ่งเก็บอย่างไม่ถูกวิธีและมีความชื้น เช่น ถั่ว พริกป่น กระเทียม ข้าวโพด เป็นต้น
    2. อาหารกลุ่มที่อาจมีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ถ้าเป็นน้ำจืด คือเชื้อที่เรียกว่า Aeromonas และถ้ามาจากน้ำทะเลหรือน้ำกร่อย คือเชื้อสายพันธุ์เดียวกับ เชื้ออหิวาตกโรค ได้แก่ เชื้อ Vibrio cholera ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งและติดเชื้อจากทางเดินอาหาร โดยการติดเชื้อทั้งสองชนิดดังกล่าว จะทำให้มีอัตราการเสียชีวิตได้สูงภายในเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง ‘ดังนั้นผู้ป่วยโรคตับแข็งที่จะกินปลาหรืออาหารทะเล ควรกินแบบปรุงสุกและสะอาดเท่านั้น’

อนึ่ง โดยทั่วไป ถ้าตับยังมีการทำงานปกติ การกินอาหารที่ติดเชื้อหรือมีการปนเปื้อน เมื่อเชื้อโรคแทรกซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในตับจะดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ผ่านทางลำไส้ไว้ได้ แต่ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเข้าตับได้ตามปกติ จึงมีการไหลเข้าหัวใจโดยตรงไม่ได้เข้าตับ ทำให้มีโอกาสให้เชื้อแบคทีเรียที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกายผ่านการดักจับโดยกลไกของธรรมชาติ และเข้าสู่กระแสโลหิตได้อย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ผู้ ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง จึงมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่าย ถ้าเกิดการติดเชื้อจากทางเดินอาหาร

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะแรก

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มแรก เป็นระยะที่ตับยังสามารถทำงานได้ดี การกินอา หารจะไม่แตกต่างจากคนปกติ ควรกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารกลุ่มโปรตีน ควรกินให้ได้ประ มาณวันละ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อช่วยการซ่อมแซมตับและทำให้การฟื้นตัวของตับดีขึ้น ป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องงดไข มัน ‘ยกเว้น’ มีอาการท้องอืดหลังกินอาหารมันๆ และควรหลีกเลี่ยงกินอาหารรสเค็มจัด เพราะอาหารเค็ม (เกลือ) จะทำให้ร่างกายบวม รวมทั้งเกิดท้องมาน

การกินอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ให้พิจารณาจากค่าดัชนีมวลกายของผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ป่วยควรกินอาหารเพื่อให้ได้พลังงานและโปรตีนเพียงพอกับความต้องการของร่างกายร่วมกับการรักษาน้ำหนักตัวเพื่อให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือคงที่

การกินอาหารเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย สามารถพิจารณาได้จากการที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวคงที่ ไม่ลดต่ำลง และเพื่อให้ได้รับโปรตีนเพียง พอ ให้พิจารณาจากปริมาณการกินอาหารกลุ่มโปรตีนในแต่ละมื้อแต่ละวัน โดยการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด 1 ช้อนกินข้าว จะได้รับโปรตีนประมาณ 3.5 กรัม กินไข่ 1 ฟองจะได้โปรตีนประมาณ 7 กรัม เป็นต้น (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง รายการอาหารแลก เปลี่ยน)

ตัวอย่าง การกินอาหารที่ได้รับพลังงานและโปรตีนที่เพียงพอกับร่างกายใน 1 วัน

ผู้ป่วยมีส่วนสูง 160 เซนติเมตร

น้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม

ดัชนีมวลกาย 21.48 กิโลกรัม/เมตร2 = อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ร่างกายต้องการพลังงาน = 55 x 30 * = 1,650 แคลอรีต่อวัน

ดังนั้น ต้องการโปรตีน = 55 x 1** = 55 กรัมต่อวัน

*สำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ ร่างกายควรได้รับพลังงานประมาณ 30 แคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อให้เพียงพอและรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่

**ร่างกายควรได้รับโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

มื้ออาหาร รายการอาหาร จะได้รับโปรตีน (กรัม) จะได้รับพลังงาน (แคลอรี)
เช้า
  • โจ๊กหมูใส่ไข่ 1 ฟอง
    • โจ๊ก 1 ถ้วย (ชามก๋วยเตี๋ยว)
    • หมูสับ 4 ช้อนกินข้าว
    • นมพร่องไขมัน 1 กล่อง (180 ซี.ซี)
  • กล้วยน้ำว้า 1 ผล

4
14
5
-

160
150
90
60
รวม 23 460
กลางวัน
  • ก๋วยเตี๋ยวน้ำหมูสับ, ลูกชิ้นหมู
    • ก๋วยเตี๋ยว 1 ถ้วย (2 ทัพพี)
    • หมูสับ 2 ช้อนกินข้าว
    • ลูกชิ้นหมู 4 - 5 ลูก
    • น้ำมันกระเทียมเจียว 2 ช้อนชา
  • ฝรั่ง 1 ผลเล็ก

6
7
7

-

160
75
75
90
60
รวม 20 460
ว่างบ่าย
  • ซาลาเปาไส้หมู 1 ลูก
  • น้ำเต้าหู้ 1 กล่อง (180 ซี.ซี)
8
5
115
90
รวม 13 205
เย็น
  • ข้าวสวย แกงส้มผักรวมปลาช่อน ไข่ต้ม ผลไม้
    • ข้าวสวย 2 ทัพพี
    • แกงส้มผักรวมปลาช่อน 2 แว่น
    • ไข่ต้ม 1 ฟอง
  • ชมพู่ 4 ผล

4
7
7
-

160
75
75
120

จากตัวอย่าง ใน 1 วันกิน 3 มื้อหลัก และ 1 มื้ออาหารว่าง

จะได้รับพลังงานรวม = 460 + 460 + 205 + 430 = 1555 แคลอรี

จะได้รับโปรตีนรวม = 23 + 20 + 13 + 18 = 74 กรัม

จะเห็นว่าพลังงานยังไม่เพียงพอ แต่จำนวนโปรตีนมากเกินพอแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยสามารถจะเลือกกินอาหารที่ชอบกินได้อีก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มโปรตีนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับโรคประจำตัวของแต่ละคนด้วย

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็งในระยะลุกลาม

ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่ไม่มีอาการซึม หรืออาการทางสมอง สามารถกินโปรตีนได้ตามปกติเหมือนกับคนปกติทั่วไป

ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมอง เช่น มีภาวะสับสน (Hepatic Encephalopathy) ซึม หมดสติ มักเกิดร่วมกับโรคตับแข็งลุกลาม ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องดัดแปลงอาหารที่กิน เพื่อช่วยลดอาการของผู้ป่วยโดย

  1. จำกัดปริมาณโปรตีนที่ได้ในแต่ละวัน
  2. จำกัดอาหารรสเค็ม
  3. จำกัดน้ำดื่มถ้ามีภาวะบวมน้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

ก. อาหารที่จำกัดโปรตีน

โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่สำคัญมากในโรคตับแข็ง มีบทบาททั้งในด้านการรักษาโรคหรืออาจทำให้อาการโรคตับแข็งนั้นแย่ลงไปได้อีก จากตับกำจัดสารยูเรีย (ที่เป็นสารปลายทางของโปรตีน และจัดเป็นสารพิษต่อร่างกายโดยเฉพาะต่อระบบประสาท) ออกจากร่างกายได้น้อยลงมาก ส่งผลให้เกิดมีสารยูเรียคั่งในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางสมอง (Hepatic Encephalopathy) ได้

ดังนั้นการรักษาโรคตับแข็งระยะลุกลาม มักจะเริ่มด้วยการจำกัดปริมาณโปรตีนในอาหารให้ลดน้อยลงมากๆ แต่ต้องระวังเพราะถ้ามากเกินไป ผู้ป่วยก็จะขาดสารอาหารโปรตีนได้ ทำให้ร่างกายไม่มีโปรตีนไปใช้ในส่วนที่จำเป็นและสำคัญมากต่อร่างกาย เช่น สร้างสารแอลบูมิน ( Albumin) ที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด (Coagulation), ในการสร้างเอนไซม์, สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆ, ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่เสียไป โดยเฉพาะเนื้อเยื่อตับซึ่งสามารถที่จะกลับฟื้นคืนมาได้บ้าง ก็จะสูญเสียไปทั้งหมดได้เนื่องจากการขาดโปรตีน จึงทำให้อาการของโรคตับแข็งดีขึ้นได้ช้าลง หรืออาจจะแย่ลงไปเรื่อยๆ

การให้โปรตีนสำหรับผู้ป่วยตับแข็งระยะลุกลาม ควรเริ่มต้นด้วยให้โปรตีนที่มีคุณภาพดีคือโปรตีนจากสัตว์ (ไม่ใช่โปรตีนจากพืช ที่มักขาดกรดอะมิโนสำคัญบางชนิด) เช่น นม ไข่ ปลา โดยควรเริ่มให้ประมาณ 0.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันก่อน แล้วติดตามดูผลเลือดที่สัมพันธ์กับโรคนี้

-โปรตีน เช่น Blood urea nitrogen, Blood ammonia สูงขึ้นจากเดิมหรือไม่ ถ้าไม่สูงขึ้นก็ปรับปริมาณโปรตีนในอาหารให้สูงเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ควรเกินปริมาณในคนปกติ ทั้งนี้ควรอยู่ภาย ใต้การดูแลและตัดสินใจโดยแพทย์ หรือนักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ควบคู่ไปกับการดูอา การทางคลินิกของผู้ป่วยร่วมด้วย

นอกจากนี้การเลือกให้ผู้ป่วยกินโปรตีนที่มีกรดอะมิโนชนิดโซ่กิ่ง (Branched-Chain Amino Acid: BCAA)* สูงๆ จนร่างกายได้รับโปรตีนมากเพียงพอ และทำให้ระดับโปรตีนในเลือดขึ้นโดยไม่เกิดอาการทางสมอง เนื่องจากระดับกรดอะมิโนชนิดนี้ในผู้ป่วยโรคตับแข็งจะต่ำกว่าปกติ เป็นเหตุให้กรดอะมิโนหกเหลี่ยม (Aromatic Amino Acids: AAA)** ซึ่งมักจะมีระดับ สูงกว่าปกติผ่านเข้าสู่สมองได้มากขึ้น อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอาการผิดปกติทางสมอง

ดังนั้นการกินอาหารโปรตีนที่มีกรดอะมิโนโซ่กิ่งสูง ประมาณ 30 - 40% ของโปรตีนทั้ง หมด และมีกรดอะมิโนหกเหลี่ยมต่ำ จึงเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง อาหารที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ มักไม่ใช่อาหารธรรมชาติ แต่เป็นอาหารที่เป็นสูตรเฉพาะทางการแพทย์ (ผลิตโดยบริษัทไทยโอซูก้า จำกัด) ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง เช่น อะมิโน เลแบน (Aminoleban – Oral) อย่างไรก็ตามโปรตีนชนิดกรดอะมิโนโซ่กิ่งนี้ จะมีรสชาติที่ไม่อร่อย ผู้ป่วยบางรายอาจจะกินไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงเหตุผล ความสำคัญ และกระตุ้นให้กินอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้อาหารที่ให้เส้นใยอาหารสูง เช่น ผักสด ผลไม้ ก็มีความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะลุกลาม เนื่องจากมีกรดอะมิโนหกเหลี่ยมต่ำและมีใยอาหารสูง ทำให้เพิ่มการขับถ่ายอุจจาระมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดของเสียจากการเผาผลาญโปรตีนได้บ้าง และยังช่วยลดอาการท้องผูก

ในตารางต่อไปนี้แสดงถึงปริมาณโปรตีน Molar ratio*** ของ BCAA/AAA และใยอา หารในอาหารบางชนิด และตัวอย่างอาหารใน 1 วัน เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำไปปรับใช้ในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะลุกลามให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย และเมื่อเวลาปรุงอาหารควรให้ได้รส ชาติและกลิ่นที่ดีด้วย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ การรับรู้รสของอาหารจะเปลี่ยนไป ต้องพยายามปรับให้ได้รสที่ผู้ป่วยแต่ละคนชอบ จากตารางจะสังเกตได้ว่า อาหารธรรมชาติมี Molar ratio ของ BCAA/AAA ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับอาหารทางการแพทย์ที่เป็นสูตรโดยเฉพาะสำหรับผู้ ป่วยโรคตับแข็ง ดังนั้นการรับประทานอาหารเพื่อให้ระดับกรดอะมิโนโซ่กิ่ง ในพลาสมาเพิ่มสูง ขึ้น สามารถทำได้โดยรับประทานอาหารปกติทั้ง 3 มื้อ และรับประทานอาหารทางการแพทย์ที่มีกรดอะมิโนโซ่กิ่งสูงๆเป็นอาหารเสริมวันละ 2-3 แก้ว อาจดื่มไประหว่างมื้ออาหารก็ได้

หลักในการเลือกอาหาร ควรเลือกชนิดที่มีค่า Molar ratio สูง จากนั้นดูปริมาณโปรตีนต่ออาหาร 100 กรัม เพื่อคำนวณว่าจะให้โปรตีนทั้งหมดเท่าไร ต้องลดหรือเพิ่มปริมาณอาหารแต่ละอย่างเท่าไร เพื่อให้ได้โปรตีนเหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยในแต่ละราย

อาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม โปรตีน (กรัม) Molar ratio ของ BCAA/AAA ใยอาหาร (กรัม)
Aminoleban - oral 27 38 0.00
ฝรั่ง 0.08 13.18 5.60
มะขามเทศ 1.20 6.31 1.20
ชะอม 9.50 5.18 5.70
ลูกเดือย 13.50 5.16 0.60
แป๊ะก๊วย 4.30 4.68 0.50
ผักกาดขาว 1.20 4.44 0.60
กวางตุ้ง 1.50 4.41 0.60
แอปเปิ้ล 0.20 4.38 0.77
กะหล่ำปลี 1.20 3.95 0.80
แอปเปิ้ล 0.20 4.38 0.77
มะม่วง 0.50 3.77 0.84
ผักกะเฉด 4.10 3.51 1.00
กะหล่ำดอก 2.00 3.47 0.85
ถั่วงอก 3.00 3.47 0.81
บลอคโคลี่ 3.00 3.30 1.20
คะน้า 1.60 3.30 0.57
เห็ดฟาง 2.10 3.29 0.89
มะเขือยาว 1.10 3.14 3.14
มะเขือเทศ 0.90 2.74 0.47
น้ำส้มสด 0.70 3.32 0.20
มะละกอ 0.60 3.27 0.77
แตงโม 0.60 2.67 0.30
เมล็ดฟักทอง 18.60 3.25 35.90
เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 15.30 3.23 7.30
รากบัว 2.60 3.17 0.80
ปลาอินทรีย์ 19.30 3.34 0.00
ปลาตะเพียน 17.80 3.34 0.00
ปลาช่อน 15.60 3.34 0.00
ปลากะพงแดง 20.50 3.34 0.00
ปลาทู 20.10 3.34 0.00
ลูกชิ้นปลา 12.90 3.34 0.00
ลูกชิ้นหมู 3.70 3.21 0.00
เนื้อหมูล้วน 20.20 3.29 0.00
เนื้อไก่ล้วน 21.40 3.28 0.00
ไข่ไก่ 12.10 3.08 0.00
เต้าหู้ขาวอ่อน 10.80 2.90 1.2
เต้าหู้แข็ง 15.80 2.90 2.30
โปรตีนเกษตร 70.10 2.75 20.00
ถั่วเขียว 23.90 2.55 16.30
เม็ดถั่วลันเตา 24.60 2.88 25.50
ถั่วแระต้ม 12.40 2.67 1.85
ถั่วฝักยาว 2.59 2.75 1.51
ข้าวสวย 2.70 2.91 0.40
ข้าวกล้อง 2.60 2.80 1.80
ขนมปังขาว 9.00 2.65 2.50
ขนมปังสีน้ำตาล (whole wheat ) 10.90 2.67 7.40
ข้าวเหนียวนึ่ง 2.00 2.92 1.00
ข้าวกล้อง 2.60 2.80 1.80
มักกะโรนี 4.80 2.69 1.30

ที่มา; โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยตับแข็ง. รศ.ดร.ปรียา ลีฬหกุล, สำนักงานวิจัยและภาคอายุร ศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเหตุ

* Branched Chain Amino Acids (BCAA) คือกลุ่มของกรดอะมิโน “โซ่กิ่ง” ที่ประ กอบไปด้วยกรดอะมิโน วาลีน (Valine),ไอโซลิวซีน (Isoleucine) และ ลิวซีน (Leucine) เป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย (Essential amino acid) ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น

  1. วาลีน (Valine) ช่วยกระตุ้นสมรรถนะของสมอง และช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ
  2. ไอโซลิวซีน (Isoleucine) ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต และเสริมสร้างการทำงานของระ บบประสาท ช่วยพัฒนาการเรียนรู้
  3. และลิวซีน (Leucine) ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง เพิ่มพลังให้กล้ามเนื้อ และช่วยให้เซลล์ประสาทแข็งแรงขึ้น

อาหารชนิดต่างๆที่มีปริมาณกรดอะมิโนโครงสร้างแบบโซ่กิ่งสูงๆ เช่น น้ำนมวัว เนื้อสัตว์ ปลา เนยแข็ง ไข่ รวมทั้งอาหารประเภทแป้งและถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ

BCAA มีคุณสมบัติเป็นแหล่งพลังงานของกล้ามเนื้อและสมองที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ช่วยเพิ่มกำลังให้กับร่างกาย โดยร่างกายจะใช้ BCAA เป็นเชื้อเพลิงในการเสริมสร้างและเพิ่มมวลกล้าม เนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคแก่ร่างกาย กรดอะมิโนประเภทนี้มีส่วนช่วยในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน โดยเฉพาะลิวซีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญในกระ บวนการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ

** Aromatic Amino Acids (AAA) คือกรดอะมิโนหกเหลี่ยม ที่ประกอบไปด้วยกรด อะมิโน ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) และไทโรซีน (Tyrosine),

  1. ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) เป็นกรดอะมิโนจำเป็นช่วยเพิ่มความตื่นตัว เสริมความจำ บรร เทาอาการซึมเศร้า ลดความอยากอาหาร และช่วยเพิ่มความสนใจในเรื่องเพศ
  2. ส่วนไทโรซีน (Tyrosine) เป็นกรดอะมิโนไม่จำเป็นต้องกิน เนื่องจากร่างกายสามารถสร้างเองได้ซึ่งมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ และช่วยรัก ษาอาการซึมเศร้า

*** Molar ratio: โดยปกติคนเรามีกรดอะมิโน 2 ชนิดคือ Branch chain amino acid (BCAA) และ Aromatic amino acid (AAA) และเมื่อนำค่า BCAA ตั้งแล้วหารด้วย AAA เราจะได้ค่าสัดส่วน (Ratio) ที่เรียกว่า Fischer’s BCAA/AAA Molar ratio: FR หรือ เรียกสั้นๆว่า Molar ratio คนปกติจะมี FR ประมาณ 3.5 คือมีระดับ BCAA มากกว่า AAA ผู้ป่วยที่มีภาวะ Hepatic encephalopathy จะมีสัดส่วนของ AAA และ BCAA ผิดปกติโดย AAA จะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการเพิ่มปริมาณของ BCAA จะทำให้สัดส่วนของกรดอะมิโนเข้าสู่สมดุลได้เร็วขึ้น

ข. อาหารจำกัดโซเดียม (รสเค็ม)

ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีอาการบวม หรือมีภาวะท้องมาน พบว่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการหลั่ง ฮอร์โมนบางตัว (เช่น Aldosterone เป็นต้น) สูงกว่าคนปกติ ฮอร์โมนดังกล่าวทำให้มีการสะสมของเกลือมากขึ้นในร่างกาย เมื่อมีการสะสมเกลือมากขึ้น ก็จะต้องมีการเก็บน้ำมากขึ้นไปอีก ทำให้ผู้ป่วยตับแข็งมีอาการบวม ตามแขนตามขา ใบหน้า หรือเกิดน้ำในช่องท้อง (ท้องมาน)ได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องพักผ่อนให้มากๆ และกินอาหารที่เค็มน้อย (อาหารรสจืด) โดยมีปริมาณโซ เดียม (เกลือ)ไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน (= เกลือรวม 1 ช้อนชา/วัน) การกินจืดสนิทจะทำให้รสอา หารไม่ถูกปาก อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเบื่ออาหารได้ ซึ่งสามารถใช้เครื่องเทศ รสเปรี้ยว เผ็ดมาทดแทน

ร่างกายต้องการโซเดียมในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้นในแต่ละวัน คือ เพียง ประมาณ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับใช้เกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ ในอาหารที่เรารับ ประทานทุกวัน มีเกลือมากกว่าที่ร่างกายต้องการหลายเท่า เพราะเกลือเป็นสารที่ใช้ในการถนอมอาหาร เช่น มีในเครื่องแกง, กะปิ, น้ำปลาต่างๆ เราได้รับเกลือโซเดียมจากเกลือแกง(เกลือทะเล) เป็นส่วนใหญ่ ในขนมปังซึ่งต้องใช้โซเดียมไบคาร์โบเนต (Sodium bicarbonate หรือผงฟู) และในอาหารเนื้อสัตว์มักมีโซเดียมไนเตรดใส่เพื่อถนอมอาหารรวมอยู่ด้วย เป็นส่วนของโซเดียมที่นึกไม่ถึง

ถ้าร่างกายแข็งแรงปกติดี โซเดียมส่วนเกินจะถูกขับออกทางเหงื่อ และทางอุจจาระ นอก เหนือจากขับออกทางไต

ในผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีอาการบวม ต้องพยายามไม่กินอาหารเค็ม ไม่เติมเครื่องปรุง อา หารที่มีเกลือมากเพราะจะทำให้บวมมากขึ้น

การจำกัดอาหารรสเค็ม จะต้องเริ่มต้นจำกัดตั้งแต่การประกอบอาหาร ใช้ของสดมาทำเอง ไม่ใช้อาหารกระป๋อง และในการทำอาหารแต่ละมื้อให้ใช้ซีอิ๊วได้ 1 ช้อนชา และงดเติมเครื่อง ปรุงอื่นๆ ยกเว้นรสเปรี้ยว เผ็ด จะทำให้จำกัดโซเดียมได้ไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน

ตัวอย่างอาหารใน 1 วัน สำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะลุกลามและมีอาการสับสน

ผู้ป่วยมีส่วนสูง 160 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม

ร่างกายต้องการพลังงาน = 55 x 30 = 1,650 แคลอรีต่อวัน

จำกัดโปรตีน 0.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และมีค่า Molar ratio ของ BCAA/AAA สูงๆ

ร่างกายควรได้รับโปรตีน = 55 x 0.5 = 27.5 กรัม/วัน

การจำกัดอาหารโปรตีนในขณะที่ผู้ป่วยควรได้รับพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย คือประมาณวันละ 1,650 แคลอรีต่อวัน ซึ่งพลังงานที่ผู้ป่วยควรจะได้รับนั้น ควรได้มาจากไขมันและคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางสมองดีขึ้น จึงค่อยเพิ่มโปร ตีนในอาหาร ในขณะเดียวกันต้องเลือกกินอาหารที่มีค่า Molar ratio ของ BCAA/AAA สูงด้วยเพื่อช่วยลดอาการสับสน

มื้ออาหาร รายการอาหาร โปรตีน (กรัม) Molar ratio ของ BCAA/AAA พลังงาน(แคลอรี่) ใยอาหาร (กรัม)
เช้า ขนมปังสีน้ำตาล 1 แผ่น(25กรัม)
ทาแยม 2 ช้อนชา
ไข่ต้ม 1 ฟอง
น้ำส้ม 100 ซี.ซี (ใช้ส้ม 2 ผล)
2.73
0.00
6.05
0.70
0.67
-
1.54
3.32
80
40
75
120
1.85
0.00
0.00
0.20
เที่ยง มักกะโรนี 1 ทัพพี
หมูสับ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
หอมใหญ่, มะเขือเทศ
แอปเปิ้ล 1 ผล
1.20
6.06
0.53
0.20
0.67
0.99
1.33
4.38
80
55
-
60
0.33
0.00
0.23
0.77
เย็น ข้าวสวย 1 ทัพพี
ปลาช่อน 2 แว่นต้มยำเห็ด
ผัดผักกาดขาว 50 กรัม
แตงโม 150 กรัม
0.68
4.68
0.60
0.90
0.73
1.00
2.22
4.01
80
55
-
60
0.10
0.00
0.30
0.45
รวม 24.33 20.86 705 4.23

ผู้ป่วยควรดื่มอะมิโนเลแบน 2 แก้วต่อวัน (ชงผงอะมิโนเลแบน 5 ช้อนตวงที่มากับกระ ป๋องกับน้ำอุ่น 180 ซี.ซี/cc:cubic centimeter/แก้ว ) ซึ่งจะได้รับโปรตีนเพิ่ม 13.5 กรัมต่อแก้วและมีค่า Molar ratio ของ BCAA/AAA = 38

โรคตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังอันเนื่องมาจากเซลล์ตับถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการรู้จักดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้าเป็นโรคนี้แล้ว การใส่ใจและรู้จักกินอาหารให้เหมาะสมกับสภาพของตับมีความสำคัญ สามารถช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้อย่างดี

กรดแอมิโนที่จำเป็น (%) ในแหล่งโปรตีนจากอาหารต่างๆ

กรดอะมิโน/Amino-acid (%) ปลา นม เนื้อแดง ไข่
Isoleucine 6.0 7.2 5.2 7.1
Leucine 8.4 10.2 8.2 8.4
Valine 6.0 7.6 5.0 8.1
Phenylalanine 3.9 5.3 4.5 5.4

ที่มา; Food Network Solution, http://www.foodnetworksolution.com [2014,April 27].

บรรณานุกรม

  1. 1. ธีระ พิรัชวิสุทธิ์.รศ.นพ. “การปฏิบัติตนของผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง” หน่วยโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  2. ธีระ พิรัชวิสุทธิ์.รศ.นพ. “ Important Role of Nutrition Support in Cirrhotic patients ” The 4th Annual Meeting of Liver Society (Thailand) 14 มีนาคม 2552.
  3. ปรียา ลีฬหกุล.รศ,ดร. “โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยตับแข็ง” สำนักงานวิจัยและภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. วันทนีย์ เกรียงสินยศ.ผศ.ดร, “ กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคตับแข็ง” นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 322 กุมภาพันธ์ 2006”
  5. วิระพล ภิมาลย์, เภสัชกรรมบำบัดในผู้ป่วยโรคตับแข็งและภาวะแทรกซ้อน. http;//www.kpi.msu.ac.th
  6. หนังสือความรู้เกี่ยวกับตับอักเสบบี,ซี. มูลนิธิโรคตับ.
  7. อนุชิต จูฑะพุทธิ,พันเอกนายแพทย์. อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับ,วารสารมูลนิธิโรคตับ สิงหาคม 2550.
  8. “การดูแลทางโภชนาการในผู้ป่วยตับแข็ง” วารสารโภชนบำบัด ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2556.
  9. มูลนิธิโรคตับ ; http://www.thailiverfoundation.org/th. [2014,April27].
  10. http;//www.kpi.msu.ac.th [2014,April27].
  11. L S ERIKSSON, A PERSSON, and J WAHREN* “ Branched-chain amino acids in the treatment of chronic hepatic encephalopathy” Departments of Medicine, Clinical Neurophysiology, and Clinical Physiology, Karolinska Institute,Huddinge University Hospital, Stockholm, Sweden.
  12. Diet, Nutrition and Exercise, American Liver Foundation. http;//www.liverfoundation.[2014,April27].