อาร์โมดาฟินิล (Armodafinil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- อาร์โมดาฟินิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อาร์โมดาฟินิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อาร์โมดาฟินิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อาร์โมดาฟินิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อาร์โมดาฟินิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อาร์โมดาฟินิลอย่างไร?
- อาร์โมดาฟินิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอาร์โมดาฟินิลอย่างไร?
- อาร์โมดาฟินิลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เวคฟูลเนสโปรโมติ้งเอเจนท์ (Wakefulness-promoting agent or Eugeroic)
- เจทแลค อาการเมาเวลาเหตุการบิน (Jet Lag)
- โรคลมหลับ หรือ ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)
- ซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)
- โดพามีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ หรือ ดีอาร์ไอ (Dopamine reuptake inhibitor or DRI)
บทนำ
ยาอาร์โมดาฟินิล(Armodafinil) เป็นยาในกลุ่มยา เวคฟูลเนสโปรโมติ้งเอเจนท์ (Wakefulness-promoting agent หรือ Eugeroic) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาภาวะง่วงนอนหรือการนอนมากเกินไปในช่วงกลางวัน(Excessive daytime sleepiness) ซึ่งมีสาเหตุจากการนอนหลับในเวลากลางคืนไม่เพียงพอ อ่อนเพลียจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน(Jet lag) ป่วยเป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy) โรคซึมเศร้า โรคไต เนื้องอกสมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ หรือไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
ยาอาร์โมดาฟินิล มีรูปแบบยาแผนปัจจุบัน เป็นยารับประทาน เมื่อตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร เข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือด จะต้องใช้เวลาประมาณ 12 – 15 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
โดยทั่วไป แพทย์จะให้รับประทานยาอาร์โมดาฟินิล ขนาด 150 – 250 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า และบางครั้งยานี้ได้ถูกนำไปใช้กับผู้ที่ต้องทำงานในช่วงกลางคืน โดยผู้บริโภคต้องรับประทานยา 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำก่อนเริ่มทำงานกลางคืน
มีข้อจำกัดการใช้ยาอาร์โมดาฟินิลที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนเริ่มใช้ยานี้ อาทิ
- ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้ยาอาร์โมดาฟินิลมาก่อนหรือไม่
- หากเป็นสตรี อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือมีปัญหาการทำงานของลิ้นหัวใจหรือไม่
- มีการใช้ยาอื่นๆอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยเฉพาะยา Erythromycin, Ketoconazole, Carbamazepine, Phenobarbital, และ Rifampin
อนึ่ง มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่อาจพบอาการวิงเวียนหลังใช้ยาอาร์โมดาฟินิล หากพบกรณีดังกล่าว ควรต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยาน และ/หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย บางกรณี ผู้ใช้ยานี้ อาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)รุนแรง อย่างเช่น ผื่นคัน ผิวหนังลอก ผู้ป่วยควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เพื่อให้แพทย์ปรับแนวทางการรักษา
ยาอาร์โมดาฟินิล ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก หรือเยาวชน หรือแม้แต่การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการตอบสนองต่อยาอาร์โมดาฟินิลได้ไว/มีความไวต่อยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
ในต่างประเทศ จัดให้ตัวยาอาร์โมดาฟินิลอยู่ในประเภทยาควบคุม ด้วยตัวยาก่อให้เกิดภาวะการติดยาได้อย่างต่ำๆ
*การได้รับยานี้เกินขนาด อาจส่งผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้จิตใจปั่นป่วน มีอาการนอนไม่หลับ รู้สึกสับสน ประสาทหลอน ระบบการย่อยอาหารผิดปกติโดยแสดงออกในลักษณะ คลื่นไส้ ท้องเสีย อาจเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง รวมถึงมีภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้าร่วมด้วย ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ควรต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือทันที/ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
เมื่อมองในภาพรวม จะพบว่ายาอาร์โมดาฟินิล เป็นยาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคหากนำมาใช้ผิดวิธี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว
อาร์โมดาฟินิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอาร์โมดาฟินิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดภาวะง่วงนอนหรือการนอนกลางวันมากเกินไป
- บำบัดอาการป่วยของโรคลมหลับ (Narcolepsy)
- ใช้กับผู้ที่ต้องทำงานในช่วงกลางคืน
อาร์โมดาฟินิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอาร์โมดาฟินิล มีกลไกการออกฤทธิ์ คล้ายกับยา Sympathomimetic drug และยังทำหน้าที่ยับยั้งการดูดคืนกลับของสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่าโดพามีน(Dopamine)หรืออีกประการ ยังออกฤทธิ์เป็นยาในกลุ่ม Atypical dopamine reuptake inhibitor ร่วมด้วย จึงส่งผลกระตุ้นสมอง จึงเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองตามมา จากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
อาร์โมดาฟินิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอาร์โมดาฟินิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50,150,200,และ 250 มิลลิกรัม/เม็ด
อาร์โมดาฟินิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอาร์โมดาฟินิลมีขนาดรับประทาน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เช่น
ก.สำหรับผู้ป่วยโรคลมหลับ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 – 250 วันละครั้ง ก่อนหรือหลัง อาหารเช้า
ข.สำหรับผู้ที่ต้องทำงานในเวลากลางคืน:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 มิลลิกรัม ก่อนเข้างาน 1 ชั่วโมง
*อนึ่ง:
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องหมั่นตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ/ชีพจร และความดันโลหิต ตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา อาร์โมดาฟินิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอาร์โมดาฟินิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอาร์โมดาฟินิล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาอาร์โมดาฟินิลตรงเวลา
อาร์โมดาฟินิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอาร์โมดาฟินิลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ตัวสั่น เกิดไมเกรน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปากแห้ง อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า กระสับกระส่าย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน
- ผลต่อตับ: เช่น ทำให้เอนไซม์การทำงานของตับชนิดอัลคาไลน์ ฟอสฟาเตส(Alkaline phosphatase)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หยุดหายใจ
มีข้อควรระวังการใช้อาร์โมดาฟินิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอาร์โมดาฟินิล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการโรคหัวใจ หรือลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอาร์โมดาฟินิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อาร์โมดาฟินิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอาร์โมดาฟินิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอาร์โมดาฟินิลร่วมกับยา Hydrocodone ด้วยการใช้ยาร่วมกันสามารถทำให้ระดับยา Hydrocodone ในร่างกายลดต่ำลงจนทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอาร์โมดาฟินิลร่วมกับยา Erythromycin, Ketoconazole, ด้วยตัวยาดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาอาร์โมดาฟินิลมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาอาร์โมดาฟินิลร่วมกับยา Carbamazepine, Phenobarbital หรือ Rifampin ด้วยยาเหล่านี้สามารถลดประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาอาร์โมดาฟินิลได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอาร์โมดาฟินิลร่วมกับยา Citalopram ด้วยจะทำให้ระดับยา Citalopram ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูงขึ้นได้ตามมา
ควรเก็บรักษาอาร์โมดาฟินิลอย่างไร?
ควรเก็บยาอาร์โมดาฟินิลในอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อาร์โมดาฟินิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอาร์โมดาฟินิล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Nuvigil (นูไวจิล) | Cephalon Inc. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นๆของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Acronite , Armod, Artvigil , Neoresotyl, R-Modawake, Waklert
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Armodafinil [2016,Sept17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Wakefulness-promoting_agent [2016,Sept17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/armodafinil-index.html?filter=3&generic_only=#R [2016,Sept17]
- https://www.drugs.com/nuvigil.html [2016,Sept17]