อาร์ฟอร์โมเทอรอล (Arformoterol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล(Arformoterol หรือ Arformoterol tartrate) เป็นยาประเภทเบต้า2 อะโกนิสต์ชนิดที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์นาน(Long-acting beta2 agonists) ใช้บำบัดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease ย่อว่า COPD), โรคถุงลมโป่งพอง(Emphysema) รวมถึงหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) แต่ไม่สามารถนำมาใช้รักษาอาการหอบหืดได้ แต่กลับมีผลตรงกันข้าม คือ ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการหอบหืดตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงเป็นเหตุผลทางคลินิกที่ห้ามใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลกับผู้ป่วยโรคหืด หรือกรณีจำเป็นต้องใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นโรคหืด แพทย์จะต้องสั่งจ่ายยาควบคุมอาการหอบหืดที่มีการออกฤทธิ์ยาวนานมาพร้อมกัน อย่างเช่น ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น (Inhale corticosteroid) เป็นต้น

ข้อจำกัดของการใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่มเบต้า อะโกนิสต์(Beta agonist)ที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์นาน เช่นยา Salmelterol
  • ห้ามใช้กับผู้ที่กำลังมีปัญหาการหายใจในระดับที่รุนแรง เช่น ผู้ที่มีภาวะถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบทันทีทันใด ซึ่งสังเกตได้จากอาการ แน่นหน้าอก ไอ หายใจขัด/หายใจลำบาก และหายใจมีเสียงหวีด(Wheezing)ร่วมด้วย
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืดที่ไม่มีการใช้ยาที่มีฤทธิ์ควบคุมอาการหอบหืดใน ระยะที่ควบคุมโรคได้ยาวนานแล้ว

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลเป็นยาสูดพ่นที่ต้องใช้เครื่องพ่นยาเข้าได้ทั้งทางจมูกและทางปากที่เรียกว่า เนบูไลเซอร์ (Nebulizer) โดยมากการให้ยานี้กับผู้ป่วยมักจะกระทำแต่ในสถานพยาบาล ด้วยเป็นยาที่ออกฤทธิ์นาน การให้ยากับผู้ป่วยไม่ควรเกิน 2 ครั้ง/วัน กรณีผู้ป่วยใช้เครื่องพ่นยาส่วนตัวและมีการใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลในที่พักอาศัย ผู้ป่วยจะต้องเรียนรู้การใช้เครื่องพ่นยา ขนาดของยาที่จะบรรจุในเครื่องพ่นยา ห้ามผสมยาอื่นร่วมกับยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลลงในเครื่องพ่นยาเพื่อพ่นยาพร้อมกัน เรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวขณะที่เครื่องพ่นยาทำงาน การพ่นยาอาจใช้เวลาประมาณ 5 – 10 นาที ผู้ป่วยควรหายใจช้าๆและลึกๆขณะพ่นยา ควรรอจนละอองไอของยาหมดจึงหยุดการพ่นยา ทำความสะอาดเครื่องตามคำแนะนำในคู่มือ และของแพทย์ พยาบาล หากพบว่าหลังการพ่นยาแล้วมีอาการวิงเวียน ควรพักอยู่กับที่และหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

นอกจากนี้ยังอาจพบอาการน้ำตาลในเลือดสูงเมื่อใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล ซึ่งถือเป็นผลข้างเคียงอีกประการหนึ่งของยานี้ โดยสังเกตได้จากอาการ รู้สึกสับสน ง่วงนอน กระหายน้ำ หายใจเร็ว ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ หากพบอาการน้ำตาลในเลือดสูงดังกล่าว ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อปรับแนวทางการใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับผู้ป่วย เด็ก สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การที่จะใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว แพทย์จะต้องใช้ดุลยพินิจและคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับเสียก่อน

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบได้บ่อยๆ อาทิเช่น ปวดหลัง ท้องเสีย ปากแห้ง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย คัดจมูก ตัวสั่น/มือสั่น นอนไม่หลับ และอาเจียน เป็นต้น

กรณีเกิดข้อผิดพลาดโดยสูดพ่นยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลมากจนเกินไปจนทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาด อาจสังเกตจากอาการ เจ็บแน่นหน้าอก เป็นลม หายใจเร็ว ชีพจรเต้นเร็ว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง เป็นตะคริว วิงเวียนอย่างรุนแรง คลื่นไส้ ง่วงนอนอย่างมาก รวมถึงมีอาการเหมือนกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงดังที่กล่าวมาแล้ว หากผู้ป่วยอยู่ในสถานพยาบาลให้รีบแจ้ง แพทย์หรือพยาบาลโดยเร็ว หรือกรณีผู้ป่วยอยู่ในที่พักอาศัย ก็ควรรีบต้องนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

กรณีที่ใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลในระยะเวลาที่เหมาะสมตามแพทย์แนะนำแล้วอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น ควรต้องปรึกษาแพทย์เช่นกัน เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา

หากผู้ป่วย/ผู้บริโภคมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

อาร์ฟอร์โมเทอรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อาร์ฟอร์โมเทอรอล

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease)

อาร์ฟอร์โมเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลคือ ตัวยาจะสามารถอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานานถึงประมาณ 26 ชั่วโมง หลังจากที่ผู้ป่วยสูดพ่นยาไปประมาณ 7 – 20 นาที ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดลม โดยทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบนั้น การหายใจจึงสะดวกมากขึ้น และส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

อาร์ฟอร์โมเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาน้ำชนิดสูดพ่น ขนาดความแรง 15 ไมโครกรัม/2 มิลลิลิตร

อาร์ฟอร์โมเทอรอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: พ่นยาครั้งละ 15 ไมโครกรัม โดยผ่านเครื่องพ่นยา วันละ 2 ครั้ง ขนาดการพ่นยาสูงสุดไม่เกิน 30 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยา ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ผู้สูงอายุ ใช้ขนาดการพ่นยาเท่ากับขนาดการพ่นของผู้ใหญ่
  • ไม่ต้องปรับขนาดการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับ-ไต
  • กรณีพ่นยานี้ในสถานที่พัก ผู้ป่วยและผู้ดูแลจะต้องเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องพ่นยารวมถึงการบำรุงรักษาทำความสะอาดได้อย่างถูกต้อง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหืด โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

เมื่อลืมพ่นยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล สามารถพ่นยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้พ่นยาในขนาดเดิม

แต่อย่างไรก็ดี การลืมพ่นยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลบ่อยๆ หลายครั้ง สามารถก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลเสีย)กับตัวผู้ป่วยได้ เช่น อาการป่วยไม่ทุเลา หรือกำเริบมากขึ้น

อาร์ฟอร์โมเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก/ หายใจลำบาก ไซนัสอักเสบ มีอาการคล้ายไข้หวัด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บแน่นหน้าอก บวมตามมือ–เท้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวแห้ง เกิดโรคเริม งูสวัด ผิวซีดจาง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น การติดเชื้อที่เหงือก/เหงือกอักเสบ ท้องเสียหรือท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ มีเลือดออกที่ทวารหนัก/อุจจาระเป็นเลือด
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง เกิดตะคริวที่ขา ปวดเชิงกราน ข้ออักเสบ เกิดภาวะโรคข้อรูมาตอยด์ เกิดการหดเกร็งของเอ็นกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ ไขมันในเลือดสูง มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีการรบกวนการทำงานของสมอง เช่น เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน ตัวสั่น เป็นอัมพาต
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นผิดปกติ เกิดโรคต้อหิน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีผลึกแคลเซียมปน มีน้ำตาลปนมากับปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด เกิดนิ่วที่ไต ท่อปัสสาวะอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้อาร์ฟอร์โมเทอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นโรคหืดโดยไม่มีการใช้ยาควบคุมอาการหอบหืดที่มีการ ออกฤทธิ์ยาวนานร่วมด้วย เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroid)
  • ห้ามใช้ยาที่มีสิ่งเจือปนหรือสิ่งแปลกปลอมในขวดบรรจุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • มียาหลายตัวที่สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลได้ เช่นยา Corticosteroids, ยาขับปัสสาวะ, ยากลุ่มXanthines, ยากลุ่มMAOI, ยา กลุ่มTCA, และ ยากลุ่ม Beta-blocker โดยอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงสูงขึ้นจากยาต่างๆที่ใช้ร่วมกัน
  • สูดพ่นยานี้ตรงตามเวลาที่แพทย์กำหนดและหลีกเลี่ยงการลืมพ่นยา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อแพทย์ตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษา และเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อาร์ฟอร์โมเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลร่วมกับยาในกลุ่ม Beta blocker เช่น Nadolol, Carvedilol, Propranolol, Carteolol, Sotalol, Timolol, อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาทั้ง 2 กลุ่มด้อยลงไปและอาจเกิดผลข้างเคียงที่สูงขึ้น เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลร่วมกับยา Pseudoephedrine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตผิดปกติ เช่น มีความดันโลหิตสูง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลร่วมกับยาขับปัสสาวะ อย่างเช่น HCTZ จะเสี่ยงต่อภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลร่วมกับยา Aminophylline อาจทำให้เกิดอาการ ข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมถึงเกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือด/ในร่างกายต่ำ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการให้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาอาร์ฟอร์โมเทอรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

อาร์ฟอร์โมเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอาร์ฟอร์โมเทอรอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Brovana (โบรวานา)Sunovion Pharmaceuticals Inc

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Deriform resp

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/arformoterol.html [2016,Dec10]
  2. https://www.drugs.com/ppa/arformoterol.html [2016,Dec10]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/arformoterol-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Dec10]
  4. http://www.brovana.com/brovana-approved-labeling-text.pdf [2016,Dec10]