อาร์บิวทามีน (Arbutamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอาร์บิวทามีน(Arbutamine หรือ Arbutamine hydrochloride)เป็นยาในกลุ่มเบต้า-อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Beta adrenergic receptor agonist) มีข้อบ่งใช้ทางคลินิก เพื่อใช้วินิจฉัยอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยทั่วไป การวินิจฉัยอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจต้องกระตุ้นหัวใจผู้ป่วยให้ทำงานมากขึ้น โดยการออกกำลังกายเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ แล้วคอยตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยว่าผิดปกติหรือไม่ การใช้ยานี้เป็นตัวกระตุ้นหัวใจแทนการออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ยอมรับทางการแพทย์ ก่อนการให้ยานี้กระตุ้นหัวใจโดยให้ทางหลอดเลือดดำ ร่างกายของผู้ป่วยจะได้รับการติดตั้งสายส่งสัญญาณเข้ากับเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตัวยานี้จะทำหน้าที่กระตุ้นให้หัวใจทำงานมากขึ้น คล้ายกับว่าผู้ป่วยกำลังออกกำลังกาย มีผลให้อัตราการเต้นของ หัวใจสูงขึ้น หัวใจบีบตัวแรงขึ้น ความดันโลหิตในช่วงหัวใจบีบตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อ ดูสมรรถภาพการทำงานและการปรับตัวของหัวใจ หากมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบจนทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ผลลัพท์จะแสดงออกมาในลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่ง แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจของผู้ป่วย โดยวัดอัตราการไหลเวียนของเลือดขณะที่หัวใจทำงานปกติเปรียบเทียบกับการไหลเวียนของเลือดขณะที่หัวใจถูกกระตุ้นโดยการใช้ยานี้

การใช้ยาอาร์บิวทามีนกับผู้ป่วย ต้องกระทำในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยหยดยาเข้าหลอดเลือดดำภายในระยะเวลา 1 นาที ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ แพทย์จะคอยปรับขนาดยานี้จนกระทั่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในขีดจำกัดที่สูงสุด ซึ่งต้องเป็นเกณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วย

ตัวยาอาร์บิวทามีนที่อยู่ในกระแสเลือด จะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 58% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของยาอาร์บิวทามีนไปเป็นสารเมทอกซีอาร์บิวทามีน (Methoxyarbutamine) ด้วยกลไกเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกาย ใช้เวลาเพียง 8 นาทีก็สามารถกำจัดยานี้ในรูปเมทอกซีอาร์บิวทามีนออกมากับปัสสาวะ และมีส่วนน้อยที่ถูกกำจัดออกมากับอุจจาระ ในมุมมองทางคลินิก จะเป็นผลดีกับผู้ป่วย ที่ไม่ต้องอยู่ในสภาพถูกยานี้กระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักอยู่นานๆ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) เช่น หัวใจวาย ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วขึ้นหลังการตรวจด้วยวิธีการนี้

ยังมีข้อจำกัดของการใช้ยาอาร์บิวทามีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอาร์บิวทามีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ใส่เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจหรือที่เรียกว่า Pacemakerด้วยตัวยานี้สามารถส่งผลแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ต่อการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนหัวใจ ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีประวัติของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่สามารถควบคุม อาการของโรคได้ ด้วยตัวยาอาร์บิวทามีน สามารถกระตุ้นให้อาการของโรคดังกล่าวกำเริบหรือทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาบางตัวที่สามารถก่อให้เกิดฤทธิ์ยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาอาร์บิวทามีน เช่นยา Quinidine , Lidocaine, และ Flecainide

จากข้อจำกัดการใช้ยาอาร์บิวทามีนที่กล่าวมา ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งว่าตนเองมีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร และปัจจุบันมีการใช้ยาตัวใดอยู่บ้าง

*กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาอาร์บิวทามีนเกินขนาด สามารถสังเกตได้จากอาการ ตัวสั่น ปวดศีรษะ ใบหน้าแดง อาจเกิดความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เจ็บ หน้าอก/แน่นหน้าอก คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก รู้สึกวิตกกังวล หัวใจเต้นเร็วและหัวใจผิดจังหวะ กรณีดังกล่าวแพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับยาอาร์บิวทามีนเกินขนาดโดยหยุดการให้ยานี้กับผู้ป่วยทันที และทำการให้ออกซิเจนเพิ่มกับผู้ป่วยอย่างพอเพียง หากพิจารณาแล้วพบว่าอาการของผู้ป่วยยังรุนแรงมากขึ้น แพทย์มีความจำเป็นต้องใช้ยาประเภทเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta-blocker) อย่างเช่น Metoprolol , Esmolol, หรือ Propranolol, เข้าช่วยเหลือผู้ป่วย

ในประเทศไทย สามารถพบเห็นการใช้ยาโดบูทามีน (Dobutamine) เพื่อวินิจฉัยอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจแทนตัวยาอาร์บิวทามีนซึ่งมีลักษณะการใช้งานที่คล้ายกันอาจแตกต่างในเรื่องขนาดการใช้ยาและอาการข้างเคียง

สำหรับผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่ยังมีข้อสงสัยการใช้ยาอาร์บิวทามีน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรที่ประจำอยู่ในสถานพยาบาลที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ตลอดเวลา

อาร์บิวทามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อาร์บิวทามีน

ยาอาร์บิวทามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ

  • ใช้เป็นยากระตุ้นการทำงานของหัวใจ เพื่อให้ได้ผลวินิจฉัยของโรคหลอดเลือดหัวใจ

อาร์บิวทามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาอาร์บิวทามีนเป็นยาประเภท Beta adrenergic agonist สามารถรวมตัวกับ ตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ Beta adrenergic receptor ในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจและส่งผลออกฤทธิ์กระตุ้นให้หัวใจมีแรงบีบตัวมากขึ้น ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงความดันโลหิตสูงขึ้น ด้วยกลไกนี้เอง ทางคลินิกจึงนำมาใช้ตรวจวินิจฉัยอาการโรคหลอดเลือดหัวใจได้ตามสรรพคุณ

อาร์บิวทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอาร์บิวทามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาฉีดที่บรรจุในหลอดฉีดยาชนิดพร้อมใช้ โดยมีส่วนประกอบของตัวยา Arbutamine HCl/Hydrochloride ขนาด 1 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร (1000 ไมโครกรัม/20 มิลลิลิตร)

อาร์บิวทามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอาร์บิวทามีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยคำนวณในอัตราเร็วดังนี้ คือ 0.1 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นแพทย์จะทำการปรับขนาดยา เพื่อทำให้หัวใจมีอัตราการทำงานได้สูงที่สุด แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสภาพร่างกายผู้ป่วย อัตราการให้ยาอาจทำได้สูงถึง 0.8 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที ขนาดยาที่ใช้กับผู้ป่วย สูงที่สุดไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้กระตุ้นหัวใจเพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ มักจะใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทดสอบโดยการใช้ลู่วิ่ง/การเดินสายพาน หรือการปั่นจักรยานอยู่กับที่
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล ทุกครั้งก่อนเข้ารับการทดสอบด้วยยาอาร์บิวทามีนว่า ตนเองมีโรคประจำตัวและมีการใช้ยาประเภทใดอยู่บ้าง
  • การใช้ยาอาร์บิวทามีน ไม่ต้องทำการเจือจางตัวยาด้วยสารละลายอื่นใดแล้ว สามารถหยดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เครื่องมือ-อุปกรณ์ของสถานพยาบาล ที่เตรียมไว้อย่างเหมาะสมตามคู่มือการใช้ยา
  • ระหว่างการให้ยานี้กับผู้ป่วย ต้องมีการตรวจสอบควบคุมความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG) อยู่ตลอดเวลา ด้วยสัญญาณชีพดังกล่าวจะคอยบ่งบอกความเหมาะสมว่า สามารถให้ยานี้ต่อเนื่องหรือควรหยุดการให้ยานี้กับผู้ป่วย เพื่อช่วยป้องกันมิให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด
  • ขณะให้ยานี้ อาจเกิดภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำได้ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ดูแล และตรวจสอบป้องกันสภาวะดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอาร์บิวทามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคต้อหิน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอาร์บิวทามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาอาร์บิวทามีนจะต้องกระทำในสถานพยาบาลเท่านั้น หากลืมมารับการฉีดยา ให้ทำการนัดหมายกับ แพทย์/พยาบาล และเตรียมความพร้อมของร่างกายเพื่อรับการวินิจฉัยโรคในครั้งถัดไป

อาร์บิวทามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอาร์บิวทามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปากแห้ง การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้อาร์บิวทามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอาร์บิวทามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มี ภาวะหัวใจเต้นเร็ว หัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ(โรคลิ้นหัวใจ) ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ผู้ที่มีประวัติของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เพิ่งมีอาการหัวใจล้มเหลวภายใน 30 วันที่ผ่านมา ด้วยอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยานี้จากสภาพหัวใจยังไม่พร้อมที่จะได้รับการกระตุ้นการบีบตัว
  • ขณะใช้ยานี้ ต้องควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกาย และยืนยันอาการโรค ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอาร์บิวทามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อาร์บิวทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอาร์บิวทามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอาร์บิวทามีนร่วมกับยากลุ่มยาเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta-blocker) ด้วยจะเกิดการต่อต้านฤทธิ์ของยาอาร์บิวทามีน ก่อนจะใช้ยาอาร์บิวทามีนกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยาเบต้า-บล็อกเกอร์ จะต้องให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์นานอย่างน้อย 48 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • ห้ามใช้ยาอาร์บิวทามีนร่วมกับยา Flecainide , Lidocaine, และ Quinidine,ด้วยจะทำให้เกิด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บแน่นหน้าอก มีอาการตาพร่า หรือ คลื่นไส้ ตามมา
  • ห้ามใช้ยาอาร์บิวทามีนร่วมกับยา Atropine , Hyoscyamine, ด้วยยาดังกล่าวจะเสริมฤทธิ์ของยาอาร์บิวทามีน และทำให้มีภาวะหัวใจเต้นเร็วขึ้นจนอาจเกิดอันตรายได้
  • ห้ามใช้ยาอาร์บิวทามีนร่วมกับยา Imipramine เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึก เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก หายใจขัด/หายใจลำบาก มีอาการวิงเวียน และ อ่อนแรง

ควรเก็บรักษาอาร์บิวทามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอาร์บิวทามีน ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อาร์บิวทามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอาร์บิวทามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้จำหน่าย/ผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
GenESA (เจนีซา)SICOR

บรรณานุกรม

  1. https://www.glowm.com/resources/glowm/cd/pages/drugs/a056.html[2017,April1]
  2. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01102[2017,April1]
  3. http://www.druglib.com/activeingredient/arbutamine/[2017,April1]
  4. https://www.drugs.com/mmx/arbutamine-hydrochloride.html[2017,April1]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Cardiac_stress_test#Diagnostic_value[2017,April1]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/arbutamine-index.html?filter=3&generic_only=#L[2017,April1]
  7. http://adisinsight.springer.com/drugs/800005654[2017,April1]