อาซิเทรติน (Acitretin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- อาซิเทรตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อาซิเทรตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อาซิเทรตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อาซิเทรตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อาซิเทรตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อาซิเทรตินอย่างไร?
- อาซิเทรตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอาซิเทรตินอย่างไร?
- อาซิเทรตินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เรตินอยด์ (Retinoid)
- วิตามินเอ (Vitamin A)
- กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย (Systemic Capillary Leak Syndrome)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- ผื่นแพ้แสง ผื่นแพ้แสงแดด (Photodermatitis)
บทนำ
ยาอาซิเทรติน(Acitretin) จัดเป็นสารประกอบประเภทเรตินอยด์(Retinoid)รุ่นที่ 2 (Second generation retinoids)ซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการสร้างและสลายของยา Etretinate (ยาอีกตัวในกลุ่ม Retinoid) อีกทีหนึ่ง ยาอาซิเทรตินมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์เป็นยารับประทาน ทางคลินิกนำมารักษาโรคสะเก็ดเงินเช่นเดียวกับยา Etretinate แต่มีข้อดีตรงที่ร่างกายใช้เวลาเพียงประมาณ 50 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาอาซิเทรตินออกจากกระแสเลือด
ทั้งนี้ ห้ามใช้ยาอาซิเทรตินกับสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่มีแผนจะมีบุตร ด้วยตัวยานี้สามารถทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ในหลายสถานพยาบาล ก่อนที่แพทย์จะทำการจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วย แพทย์จะต้องทำความเข้าใจในการใช้ยานี้ให้ผู้ป่วยทราบ เช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นสตรี จะต้องได้รับการทดสอบการตั้งครรภ์จนแน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์แน่นอน หรือกรณีที่ใช้ยานี้แล้วเกิดข้อผิดพลาดตั้งครรภ์ขึ้นมา ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์โดยเร็ว และข้อควรคำนึงอีกประการทางคลินิกของยาอาซิเทรติน คือ ได้ห้ามสตรีที่วางแผนจะมีบุตร ควรต้องหยุดใช้ยานี้นานเป็นแรมปีขึ้นไป นอกจากนี้ เมื่อใช้ยานี้ สตรีนั้นๆ ยังห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบร่วมกับยานี้ ด้วยผลกระทบ(ผลข้างเคียง/พิษ)ของสุราที่ผนวกกับยาอาซิเทรติน จะก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก
อนึ่ง ยังมีข้อจำกัดการใช้ยาอาซิเทรติน อีกบางประการที่ผู้ป่วยควรรับทราบ อาทิ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่มเรตินอยด์
- ห้ามบริจาคโลหิตขณะที่ใช้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ขั้นรุนแรง
- ห้ามใช้ร่วมกับ ยา Methotrexate, Tetracycline, และ/หรือ วิตามินเอ
กรณีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างซึ่งอาจมีผลกระทบจากการใช้ยาอาซิเทรติน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยเฉพาะ โรคตับ โรคไต โรคกระดูก โรคของตับอ่อน โรคหัวใจ โรคจิตต่างๆ
ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง ที่อาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยาอาซิเทรตินคือ ยาต่างๆที่ผู้ป่วยมีใช้อยู่เป็นประจำ ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับแนวทางการใช้ยาเหล่านั้นให้สอดคล้องกับยาอาซิเทรติน และเป็นการป้องกันการเกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
นอกจากนั้น สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติขณะได้รับยาอาซิเทรตินมีอยู่หลายประการ เช่น
- ทำความเข้าใจเรื่องการใช้ยานี้ รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
- ควรรับประทานยานี้ พร้อม หรือหลัง อาหารในเวลาเดียวกันของทุกวัน ทั้งนี้มาจากเหตุผลของ การดูดซึมยานี้ และการคงระดับยาในกระแสเลือดให้มีความเข้มข้นสม่ำเสมอที่สุด
- กรณีที่ใช้ยานี้ไปแล้วตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทรุดลง ผู้ป่วยควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา โดยทั่วไป การใช้ยาอาซิเทรตินไปแล้วประมาณ 2 – 3 เดือน จึงจะเห็นผลของการรักษาได้อย่างเต็มที่
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนได้ หากเกิดอาการดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ยาอาซิเทรติน ยังเป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่ม วิตามินเอด้วย ดังนั้นเมื่อได้รับยาอื่นๆอะไรมาใหม่ก็ตาม ให้ตรวจสอบว่ามี วิตามิน เอ ถูกสั่งจ่ายมาด้วยหรือไม่ ซึ่งถือเป็นข้อห้ามใช้ร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง ด้วยยาอาซิเทรตินสามารถกระตุ้นให้ผิวหนังไวหรือผิวแพ้แสงแดดได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
- ผู้ที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ อาจรู้สึกระคายเคืองในตามากขึ้นเมื่อใช้ยานี้ ทั้งนี้เป็นผลกระทบ/ผลข้างเคียงของยาอาซิเทรตินนั่นเอง ดังนั้น ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ดังกล่าว
- ยานี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายได้โดยทำให้เกิดภาวะ Capillary leak syndrome ซึ่งจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆภายในร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจ เช่น อาจมีภาวะเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก และหัวใจล้มเหลว รวมถึงมีปัญหาของการหายใจเนื่องจากความผิดปกติของปอดอีกด้วย หรืออาจเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร ตัวบวม รู้สึกสับสน หากเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- อาการทางผิวหนังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เพราะตัวยาอาซิเทรตินอาจกระตุ้น ให้มีตุ่มแดงเกิดขึ้น โดยเกิดในบริเวณเล็กๆก่อน จากนั้นจึงค่อยแพร่ขยายตัวออกไปที่ผิวหนังส่วนอื่น
- ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโอกาสใช้ยาอาซิเทรติน จะต้องหมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ด้วยตัวยานี้สามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยารักษาเบาหวาน โดยอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความไว หรืออาจได้รับผลกระทบจากยานี้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอายุอื่น
- ผลข้างเคียงจากยานี้ที่อาจพบเห็นได้บ่อย เช่น ปากและริมฝีปากแห้ง ผมร่วง ระคายเคืองตา คันจมูก และ/หรืออาจพบเห็นผิวหนังลอก
- *กรณีที่เผลอรับประทานยาอาซิเทรตินเกินขนาด ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาอาซิเทรตินอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไป สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาล และมีจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดใหญ่
หากผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาอาซิเทรตินเพิ่มเติม ก็สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป
อาซิเทรตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอาซิเทรตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- บำบัดรักษาโรคสะเก็ดเงินในระยะรุนแรง
- บำบัดรักษาความผิดปกติของกระบวนการผลัดเซลล์ผิวหนัง (Keratinization)
อาซิเทรตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอาซิเทรตินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งเซลล์ของผิวหนังในชั้นอิพิทีเรียล (Epithelium, เยื่อบุผิวหนัง)ที่เร็วเกินไป จึงส่งผลให้การขยายตัวของรอยโรคชะลอตัวลง จึงเกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
อาซิเทรตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอาซิเทรตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 25 มิลลิกรัม/แคปซูล
อาซิเทรตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอาซิเทรตินมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานวันละ 25 หรือ 30 มิลลิกรัม เป็นเวลา 2 – 4 สัปดาห์ ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25 – 50 มิลลิกรัม/วัน แพทย์อาจให้ใช้ยานี้ไปจนกระทั่ง 6 – 8 สัปดาห์ และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/วัน
กรณีต้องการบำบัดรักษาความผิดปกติของกระบวนการผลัดเซลล์ผิวหนัง แพทย์อาจใช้ขนาดรับประทานที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น น้อยกว่า 20 มิลลิกรัม/วัน และห้ามใช้ยาเกิน 50 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้ พร้อม หรือ หลังอาหาร
- ห้ามบริจาคโลหิตหลังจากหยุดใช้ยานี้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอาซิเทรติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรือ อาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอาซิเทรตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้น รุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอาซิเทรติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาอาซิเทรตินตรงเวลา
อาซิเทรตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอาซิเทรตินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อตับ: เช่น เพิ่มระดับของเอนไซม์และสารต่างๆในเลือดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับที่ผิดปกติไป เช่น SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase), SGPT (Serum glutamic-pyruvic transaminase), Alkaline phosphatase, บิลิรูบิน, สารโปรตีนต่างๆ นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีภาวะตับอักเสบ และดีซ่าน
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ส่งผลเพิ่มหรือลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด มีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว รับประทานอาหารมากขึ้นหรือ เบื่ออาหาร กระหายน้ำ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก ตัวเขียวคล้ำ หรือใบหน้าแดง หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะส่วนปลาย(แขนขา)น้อยลง(เช่น มือ เท้า บวม) เกิดภาวะ Thromboembolism(ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด), Capillary leak syndrome
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวลอก ผมร่วง ผิวแห้ง เล็บ-นิ้วมีการเปลี่ยนแปลง เช่นแตก-หักง่าย เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย เกิดแผลที่ผิวหนัง สีผิวเปลี่ยนไป เกิดสิว ผิวหนังระคายเคือง ลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ น้ำลายมาก กระเพาะอาหารอักเสบ มีแผลในกระเพาะอาหาร ช่องปากอักเสบ อาหารไม่ย่อย เกิดริดสีดวงทวาร แสบร้อนกลางอก ตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด พบมีน้ำตาลในปัสสาวะ และพบโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
- ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น กระดูกอักเสบ ปวดหลัง เอ็นอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะไมเกรน เส้นประสาทอักเสบ
- ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ ตาพร่า ตาแห้ง ระคายเคืองที่ตา ปวดตา ตาแพ้แสง ตาบอดกลางคืน เป็นแผลที่กระจกตา/กระจกตาเป็นแผล
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไอ เสมหะมาก คอหอยอักเสบ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะเต้านมโตในผู้ชาย (Gynecomastia)
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ปริมาณเม็ดเลือดรวมถึงสารเคมีต่างๆในเลือดมีการปรับตัวขึ้นลงไม่แน่นอน การแข็งตัวของเลือดช้ากว่าปกติ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น ติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น เกิดโรคเริม
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ง่วงนอน เกิดภาวะวิตกกังวล ก้าวร้าว มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง สมรรถภาพทางเพศถดถอย
- ผลต่อไต: เช่น กรดยูริค และครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น ปัสสาวะมีสีเข้ม
- อื่นๆ: เช่น ติดเชื้อราในช่องคลอด
มีข้อควรระวังการใช้อาซิเทรตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอาซิเทรติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ยากลุ่มเรตินอยด์
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะ ผิวแห้ง ผิวไหม้จากแสงแดด
- ระหว่างการใช้ยานี้ให้เลี่ยงการโดนแสงแดด หรืออากาศเย็นจัด
- ควรต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยานี้ต่อ ตับ และไต
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องเฝ้าระวังการทำงานของตับรวมถึงระดับไขมันในเลือด
- กรณีใช้ยานี้กับเด็ก ต้องคอยตรวจสอบพัฒนาการของกระดูกควบคู่กันไปตามคำแนะนำของแพทย์
- ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 ปี หลังจากเสร็จสิ้นการใช้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้ในสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอาซิเทรตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกร ประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อาซิเทรตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอาซิเทรตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาอาซิเทรตินร่วมกับยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracycline เช่น Doxycycline, Tetracycline, Minocycline, ด้วยจะทำให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น(ความดันในกะโหลกศีรษะสูง) และบางกรณีอาจทำให้เกิดตาบอดอย่างถาวรตามมา
- ห้ามใช้ยาอาซิเทรตินร่วมกับ Vitamin A, ยา Isotretinoin ด้วยอาจเกิดความเสี่ยงของภาวะวิตามิน เอ เกินในร่างกาย จนอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อตา เช่น ตาแห้งมาก ความดันในสมองเพิ่มขึ้น ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น ตับอักเสบ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอาซิเทรตินร่วมกับยา Efavirenz ด้วยจะก่อให้เกิดปัญหาทำให้ตับได้รับความเสียหาย/ตับอักเสบ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอาซิเทรตินร่วมกับยา Glimepiride อาจส่งผลทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาอาซิเทรตินอย่างไร?
ควรเก็บยาอาซิเทรติน ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อาซิเทรตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอาซิเทรตินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Neotigason (นีโอติกาซัน) | Silom Medical |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Soriatane, Neotigason, Aceret, Acetec, Acitrin, Acrotac, Zoratame
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/acitretin.html [2016,Oct29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acitretin [2016,Oct29]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/acitretin/?type=brief&mtype=generic [2016,Oct29]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/neotigason/?type=brief [2016,Oct29]