เซ อาการเซ:ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (Ataxia)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 4 กันยายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- เซ คืออะไร?
- เซ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
- สาเหตุที่ทำให้เซมีอะไรบ้าง?
- ใครมีโอกาสมีอาการเซได้บ่อย?
- เมื่อมีอาการเซ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์ให้การวินิจฉัยหาสาเหตุการเซได้อย่างไร?
- การรักษาอาการเซมีวิธีใดบ้าง?
- อาการเซมีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
- เมื่อมีอาการเซ ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันอาการเซได้อย่างไร?
- สรุป
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- โรคไขสันหลัง (Spinal cord disease)
- โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- วิงเวียนศีรษะ อาการรู้สึกหมุน (Dizzy หรือ Vertigo)
บทนำ
เซ อาการเซ หรือ ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (Ataxia) เป็นอาการที่พบได้บ่อย ทั้งในคนปกติและในคนมีโรคผิดปกติทางระบบประสาท อาจเป็นตลอดไป เพียงชั่วคราว หรือเป็นๆหายๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่กลัวว่าจะเป็นอาการของอัมพาต เราจึงควรศึกษาถึงรายละเอียดของอาการเซ จากบทความนี้ครับ
เซ คืออะไร?
เซ ภาษาไทย คือ ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (จากพจนานุกรมศัพท์แพทยศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547) ภาษาอังกฤษ คือ “A lack of muscle coordination during voluntary movements”
ดังนั้น คำว่า ‘เซ’ ก็คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อเสียการประสานงานในขณะที่มีการเคลื่อนไหวแบบตั้งใจ (การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลาย) เช่น การเดิน ซึ่งการเซนั้น พบได้ทั้งในขณะ นั่ง/นอนแล้วลุกขึ้นยืน และในขณะเดิน หยิบจับสิ่งของ พูด และ/หรือ กลอกตา ส่งผลให้การทำกิจกรรมนั้นๆผิดปกติไป เช่น เดินเซ หยิบจับของไม่ถูก เขียนหนังสือไม่ได้ มองเห็นภาพไม่ชัด/ตามัว ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ และ/หรือพูดไม่ชัด
เซ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เซ/การเซ เกิดจาก
- มีความผิดปกติในส่วนของสมองน้อย (Cerebellum) ทำให้สูญเสียหน้าที่ของความเชื่อมโยงระหว่างคำสั่งในสมองใหญ่ ไปยังกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำให้มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น
- หรือมีความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) ส่วนที่รับรู้การเคลื่อนไหว การขยับของข้อต่อ (Propioceptive sense) และ/หรือการสั่นสะเทือน (Vibratory sense)
- หรือมีความผิดปกติของส่วนหลังของไขสันหลัง (Posterior column) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมคำสั่งการเคลื่อนไหว และ/หรือการขยับของข้อต่อและการสั่นสะเทือน
ซึ่งเมื่อศูนย์ควบคุมการประสานงาน คือ สมองน้อย, หรือส่วนเชื่อมโยง คือ เส้นประสาทส่วนปลาย, และ/หรือไขสันหลัง, เสียหน้าที่ไป ก็ส่งผลให้มีอาการเซเกิดขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เซมีอะไรบ้าง?
สาเหตุที่ทำให้เซ แบ่งตามตำแหน่งของระบบประสาท คือ
- สมองน้อย (Cerebellum)
- สมองส่วนอื่นๆ
- ไขสันหลัง
- เส้นประสาทส่วนปลาย
- อวัยวะอื่นๆ เช่น หู ตา
1. โรคหรือความผิดปกติของสมองน้อย: เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง
- การอักเสบหรือการติดเชื้อของสมองน้อย
- เนื้องอกสมองน้อย
- สารพิษต่างๆ (เช่น ผลข้างเคียงของ ยากันชัก/ยาต้านชัก ยานอนหลับ บางชนิด แอลกอฮอล์ ตะกั่ว ปรอท ทินเนอร์ เป็นต้น)
- หรือความผิดปกติแต่กำเนิด (เช่น การฝ่อของสมองน้อยและไขสันหลัง (Spinocerebellar ataxia)
2. โรคหรือความผิดปกติของสมองส่วนอื่นๆ: เช่น
- โรค/ความผิดปกติดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับสมองน้อย แต่มาเกิดกับสมองส่วนหน้า
- หรือโรคหรือความผิดปกติเช่นเดียวกับที่เกิดกับสมองน้อย ร่วมกับมีภาวะโพรงน้ำในสมองโต (Hydrocephalus)
3. โรคหรือความผิดปกติของไขสันหลัง: เช่น
- การอักเสบของไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบ (Myelitis)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)
- ภาวะขาดสารอาหาร (Nutrition deficiency)เช่น ขาดวิตามิน บี 12
4. โรคหรือความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย: เช่น
- โรคเบาหวาน จากการอัก เสบเรื้อรังของเส้นประสาท
- หรือจากภาวะขาดวิตามินบางชนิด เช่น การขาดวิตามิน บี
5. โรคหรือความผิดปกติของระบบอื่นๆ: เช่น
- โรคตาที่ทำให้ตามองเห็นไม่ชัด
- การได้ยินไม่ดีหรือการทรงตัวไม่ดี จากอาการวิงเวียนศีรษะเพราะมีโรคในช่องหู เป็นต้น
ใครมีโอกาสมีอาการเซได้บ่อย?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการเซได้ง่าย ได้แก่
- ครอบครัวที่มีประวัติโรคเซแต่กำเนิด เช่น สมองน้อยและไขสันหลังฝ่อ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- สูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้ยากันชัก ยานอนหลับ และ/หรือ เสพสารเสพติดต่างๆ
- มีประวัติอุบัติเหตุที่สมอง
- มีประวัติติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)
เมื่อมีอาการเซ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ถ้าอาการเซนั้นส่งผลต่อ
- การทรงตัว คือ เดินเซ
- หยิบจับสิ่งของ ติดกระดุม เขียนหนังสือไม่สะดวก
- พูดลำบาก พูดไม่ชัด
- กลืนอาหารลำบาก และ/หรือ
- มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
แพทย์ให้การวินิจฉัยหาสาเหตุการเซได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการเซ โดยจะพิจารณาจากลักษณะอาการเซ และอาการอื่นๆ ร่วมกับการตรวจร่างกาย ดังต่อไปนี้
เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยเบื้องต้นแล้ว จะส่งตรวจเพิ่มเติมที่เฉพาะเจาะจงต่อโรคที่เป็นสาเหตุนั้นๆ เช่น
- กรณีสงสัยสาเหตุทางหู ก็จะมีการตรวจทางหูเพิ่มเติมจากแพทย์หูคอจมูก
- เมื่อสงสัยสาเหตุทางตา ก็จะปรึกษาจักษุแพทย์ เป็นต้น
การรักษาอาการเซมีวิธีใดบ้าง?
การรักษาอาการเซ ประกอบด้วย
- การรักษาสาเหตุ
- การฝึกการทรงตัวและการเคลื่อนไหว
- การใช้ยาซึ่งไม่ค่อยได้ผล เช่น ยาเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง ยาแก้วิงเวียน เป็นต้น
การรักษาอาการเซ การรักษาหลัก คือ การแก้ไขสาเหตุและหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ และสารพิษต่างๆ ที่รวมถึงยาที่ไม่จำเป็น เพื่อชะลอไม่ให้โรคเป็นมากขึ้น
การทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ จะมีผลต่อการรักษาในการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก ซึ่งการทำกายภาพบำบัด จะเน้นฝึกการทรงตัวเป็นหลัก นอกนั้น คือ ฝึกการเคลื่อนไหว และการทำกิจกรรมบำบัด ซึ่งสามารถฝึกต่อประจำที่บ้านได้
ส่วนการผ่าตัด ก็เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมอง ฝีในสมอง หรือโพรงน้ำในสมองโต ซึ่งผลการรักษาจะแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ชนิดของเนื้องอก สาเหตุที่ทำให้เกิดฝี หรือสาเหตุที่ทำให้โพรงน้ำในสมองโต
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการเซ ส่วนใหญ่แล้ว ต้องรักษาต่อเนื่องทั้งในการรักษาสา เหตุของโรค และการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด และกรณีมีอา การผิดปกติเพิ่มเติม หรือเกิดล้มมีอุบัติเหตุที่รุนแรง ก็ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด
อนึ่ง ในด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสมุนไพรช่วยลดอาการเดินเซได้หรือไม่นั้น? ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าได้ประโยชน์
อาการเซมีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ผลการรักษาอาการเซ ขึ้นกับสาเหตุ กรณีเป็นโรคหลอดเลือดสมองส่วนสมองน้อย ก็ส่งผลให้เป็นอัมพาตได้ หรือกรณีเป็นแต่กำเนิด ผลการรักษาก็ได้ผลไม่ดี
ส่วนในด้านผลข้างเคียงจากอาการ คือ การเสียคุณภาพชีวิตในการใช้ชีวิตประจำวัน และการมีโอกาสที่จะล้มเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย
เมื่อมีอาการเซ ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองที่ดีเมื่อมีอาการเซ คือ
- การปฏิบัติตามที่แพทย์ นักกายภาพบำบัด และพยาบาลแนะนำ
- การพบแพทย์และทานยาตามที่แพทย์สั่ง
- การทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอที่บ้าน
- สิ่งสำคัญอีกประการ คือระวังไม่ให้ล้ม เพราะถ้าล้มอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อสมอง หรือกระดูกหักได้
- การกลืนอาหารก็ต้องระมัดระวังอย่าให้สำลัก และ
- ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ เมื่อ
- มีอาการผิดปกติเพิ่มเติม
- หรือเกิดล้ม มีอุบัติเหตุที่รุนแรง
- หรืออาการต่างๆเลวลง
- หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่แพทย์สั่ง
- หรือเมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันอาการเซได้อย่างไร?
เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว การป้องกันอาการเซเต็มร้อย เป็นไปไม่ได้ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดได้ จากการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ
- ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ใช้ยาต่างๆเฉพาะแต่ที่จำเป็น โดยปรึกษา แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลก่อนใช้ยา เสมอ
- ไม่เสพสารเสพติด
- ระมัดระวังอุบัติเหตุต่อสมอง เช่น การสวมใส่หมวกนิรภัยเมื่อขี่จักรยานยนต์ หรือการง่วง การเมาแล้วไม่ขับรถ เป็นต้น
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องการดูแลตนเองเพื่อลดโอกาสเกิดโรคต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการเซได้ใน บทความเฉพาะแต่ละเรื่องในเว็บ haamor.com เช่น บทความเรื่อง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
สรุป
อาการเซเป็นอาการที่หายยาก ดังนั้น ควรป้องกันไม่ให้เกิดดีกว่า ด้วย
- การออกกำลังกาย
- การหลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆโดยไม่จำเป็น
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และ/หรือใช้สารเสพติด
- และเมื่อมีอาการผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล