อาการเคลื่อนไหวผิดปกติ อี พี เอส (Extrapyramidal symptom:EPS)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจเคยเห็นผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางสุขภาพจิต เมื่อได้รับการรักษาด้วยยารักษาอาการผิดปกติทางสุขภาพจิต(ยารักษาทางจิตเวช)แล้วมีอาการตัวแข็งเกร็ง หรือคนที่มีอาการอาหารเป็นพิษ พอได้ทานยาหรือฉีดยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการตัวแข็ง อาการนี้เรียกว่า “อาการเคลื่อนไหวผิดปกติ อี พี เอส (EPS ย่อมาจาก Extrapyramidal symptoms) หรือเรียกว่า กลุ่มอาการอีพีเอส (Extrapyramidal syndrome ย่อว่า EPS เช่นกัน )” คือ อาการของผู้ป่วยที่มีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติในหลายรูปแบบ เช่น อาการสั่น อยู่ไม่นิ่ง ขยับไปมา ตัวแข็ง เป็นอาการผิดปกติที่พบได้ไม่บ่อยในคนทั่วไป แต่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต พบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายไม่ต่างกัน

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติ อีพีเอสมีกลไกการเกิดอย่างไร?

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอส

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอส เกิดจากความไม่สมดุลย์ของสารสื่อประสาทหลัก 2 ชนิด คือ อะซีติลโคลีน (Acetylcholine) และ โดปามีน (Dopamine) ในสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนแบซอลแกงเกลีย (Basal ganglia)ที่ควบคุมเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติในการเคลื่อนไหวร่างกายขึ้น

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติ อีพีเอสมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุหลักของการเกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอส ประกอบด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ จากยาต้านอาการทางจิต(ยารักษาทางจิตเวช) และ จากโรคทางระบบประสาท

ก. สาเหตุแรก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้บ่อยที่สุด เกือบเป็นสาเหตุทั้งหมดของผู้ป่วยที่เกิดอาการนี้ คือ จากยาต้านอาการทางจิต(Antipsychotic)/ยารักษาทางจิตเวช ยา กลุ่มนี้จะ ส่งผลต่อสารสื่อประสาท ที่ชื่อ อะซีติลโคลีน (Acetylcholine) และ โดปามีน (Dopamine) ในสมอง และการใช้ยาในกลุ่ม ยาแก้อาเจียน ยาแก้วิงเวียน โดยเฉพาะการใช้เป็นยาฉีด เป็นต้น

ข. สาเหตุที่2 คือ จากโรคที่มีความผิดปกติต่อสมองส่วนแบซอลแกงเกลีย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุนี้พบได้น้อย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสคืออะไร?

ผู้ที่มีโอกาสเกิด/ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสได้สูงกว่าคนอื่นๆ คือ

  • ผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตเวช
  • ทานยา/ใช้ยาต้านอาการทางจิตเวช/ยารักษาทางจิตเวช โดยการใช้ยาในรุ่นเก่า/กลุ่มดั้งเดิม มีโอกาสเกิดอาการอีพีเอสสูงกว่าการใช้ยารุ่นใหม่
  • ผู้ที่ใช้ยาต้านอาการทางจิตเวชหลายชนิดร่วมกัน
  • ทานยา/ใช้ยากลุ่ม ยาแก้อาเจียน ยาแก้วิงเวียน ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับวาย โรคไตวาย โรคทางสมอง
  • ผู้มีภาวะขาดสารอาหาร (ทุโภชนาการ)

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสมีอาการอย่างไร?

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสมีอาการที่พบบ่อย ได้แก่

1. ภาวะกล้ามเนื้อเกร็งผิดท่า(Dystonia) เช่น อาการกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง (Torticollis) อาการกล้ามเนื้อลำตัวเกร็งหลังแอ่น (Opisthotonus) อาการกล้ามเนื้อ ปาก คอ ตา เกร็งเหลือกค้าง (Oculogyric crisis)

2. อาการอยู่ไม่สุข (Akathisia) มีอาการนั่งไม่นิ่ง ผุดลุกผุดนั่ง เดินไปมา ขาขยับไปมา หรือภาวะ ขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome)

3. อาการคล้ายกลุ่มอาการพาร์กินสัน (Pseudoparkinsonism) เช่น มีอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (Rigidity) เดินตัวแข็ง ก้าวขาสั้นๆ เดินซอยเท้า มือสั่นขณะพัก (Resting tremor) เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) หน้าไม่แสดงอารมณ์ (Mask face) อาการเป็นเท่ากันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย(ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา) และเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

4. อาการเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ(Tardive dyskinesia) เช่น ปาก แก้ม หน้า ลิ้น แขน ขา มือ ตา จึงมีอาการ เคี้ยวปาก แลบลิ้น ดูดริมฝีปาก หลับตา ลืมตา กระพริบตาบ่อยๆ ขมวดคิ้ว

5. อาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่รุนแรงมีอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ ภาวะ/กลุ่มอาการ Neuroleptic malignant syndrome (NMS,เอ็นเอ็มเอส) ซึ่งอาการของกลุ่มอาการ เอ็น เอ็ม เอส เช่น ผู้ป่วยมีอาการตัวแข็งเกร็ง ซึม ไม่รู้สึกตัว/โคม่า ไตวาย กล้ามเนื้อลายสลาย ไข้ขึ้นสูงมาก

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบสอบถามอาการผิดปกติกับ แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรที่ดูแล ไม่ควรรอให้อาการรุนแรง ยิ่งถ้ามีไข้สูง ซึม ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดอาการที่รุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

แพทย์วินิจฉัยอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสได้จากประวัติทางการแพทย์ ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการของผู้ป่วย ร่วมกับประวัติการได้รับยาต่างๆที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงข้างต้นหลังจากได้รับยาดังกล่าว และประวัติโรคประจำตัว

กรณี สาเหตุเกิดจากโรคที่ไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงของยา แพทย์จะพิจารณาจากข้อมูลอาการผิดปกติทางคลินิก ร่วมกับการตรวจร่างกายที่พบความผิดปกติข้างต้น ร่วมกับการตรวจทางรังสีวินิจฉัยเพื่อตรวจภาพสมอง เช่น เอมอาร์ไอ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติต่างๆ เช่น ดูการทำงาน ของไต ของตับ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรค/สาเหตุที่แน่นอนของอาการเคลื่อนไหวผิดปกตอีพีเอส

แพทย์รักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสอย่างไร?

แพทย์ให้การรักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอส โดยการหยุดยาที่พิจารณาแล้วว่าเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติข้างต้น และให้ยาแก้อาการดังกล่าว คือ ถ้าอาการรุนแรง จะฉีดยา Benztropine (เบ็นโทรปีน)เข้าทางกล้ามเนื้อหรือทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้าอาการไม่รุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยา Benzhexol(เบ็นเฮ็กซอล หรือยา Trihexyphenidyl)ที่เป็นยารับประทาน ซึ่งทั่วไป อาการผู้ป่วยมักจะดีขึ้น แต่ถ้าอาการรุนแรงแบบกลุ่มอาการ เอ็น เอ็ม เอส แพทย์ต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาหลายๆวิธีการร่วมกัน ซึ่งขึ้นกับอาการผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นอาการวิกฤติ เช่น การให้สารน้ำและให้ยารักษาอาการต่างๆทางหลอดเลือดดำ ร่วมกับการเฝ้าตรวจสอบสัญญาณชีพของผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาได้อย่างทันที เหมาะสม

แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ “สาเหตุฯ” การรักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอส จะเป็นการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุเหล่านั้น ทั้งนี้ อ่านเพิ่มเติมถึงการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุเหล่านั้นได้ในเว็บ haamor.com เช่น ตับวาย ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง สมองอักเสบ

การพยากรณ์โรคในอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอส ส่วนใหญ่มีการพยากรณ์โรคที่ดี เมื่อหยุดยาที่เป็นสาเหตุ และให้ยาต่างๆแก้อาการที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการนี้จะดีขึ้นอย่างมาก แล้วหายเป็นปกติได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาการจะดีขึ้นแต่ไม่หายเป็นปกติ ยังคงมีอาการต่างๆดังได้กล่าวในหัวข้อ”อาการฯ”หลงเหลืออยู่บ้าง

ส่วนในผู้ป่วยที่อาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสมีสาเหตุจากโรคต่างๆ หรือจากภาวะขาดสารอาหาร การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับ ความรุนแรงของแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ อ่านเพิ่มเติมในแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น ตับวาย ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง สมองอักเสบ

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

อาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอส ส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย คือ อาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ยังอาจหลงเหลืออยู่บ้างหลังจากการรักษาแล้ว และการเลือกใช้ยาต่างๆที่ใช้รักษาสาเหตุของอาการนี้ที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง /อาการไม่พึงประสงค์ของยาต่างๆเหล่านั้น

ผู้ป่วยต้องดูแลตนเองอย่างไร? และญาติต้องช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

การดูแลตนเอง/การดูแลผู้ป่วยอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอส คือ ผู้ป่วย/ญาติต้องจดบันทึกชื่อยาต่างๆที่ผู้ป่วยใช้แล้วก่อให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าว และทำบัตรบันทึกรายชื่อยาเหล่านั้นติดตัวไว้เสมอ กรณี พบแพทย์/มาโรงพยาบาล ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบเสมอว่ามีประวัติเกิดผลข้างเคียงของยาดังกล่าว ญาติก็ต้องช่วยกันดูแลผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดอาการของโรคทางจิตเวช เพื่อจะได้ใช้ยาต่างๆน้อยลง และถ้าสังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติต่างๆหลังการใช้ยาต่างๆ ควรต้องรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด

ในผู้ป่วยที่สาเหตุอาการนี้เกิดจากโรคต่างๆ อ่านเพิ่มเติมในแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น ตับวาย ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง สมองอักเสบ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด ถ้าสังเกตว่า ตนเองมีอาการ ผิดปกติต่างๆที่รุนแรงขึ้น ทั้งอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ ไข้สูง มีอาการทางจิต หรือสงสัยแพ้ยา เช่น มีอาการ ผื่น คันตาม ลำตัว ใบหน้า ตัวบวม หรือ หายใจขัด/หายใจลำบาก ซึ่งในกรณีมีอาการรุนแรง หรือมีอาการแพ้ยา ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

สามารถป้องกันอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสได้หรือไม่?

สามารถป้องกันอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอีพีเอสได้โดย

  • ใช้ยาต้านอาการทางจิต/ยาทางจิตเวชในขนาดที่ต่ำ และเลือกใช้ยาในกลุ่มใหม่
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้วิงเวียนศีรษะต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้อาเจียนชนิดฉีดถ้าไม่มีอาการรุนแรงมาก และ
  • เมื่อมีประวัติเกิดอาการผิดปกติจากยาชนิดใดแล้ว ต้องไม่ใช้ยาดังกล่าวนั้นอีก

อนึ่ง ในผู้ป่วยที่สาเหตุอาการนี้เกิดจากโรคต่างๆ อ่านเพิ่มเติมวิธีป้องกันการเกิดโรคนั้นๆในแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com เช่น ตับวาย ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง สมองอักเสบ