อัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ (Andosterone antagonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ (Aldosterone antagonist หรือ Aldosterone receptor antagonist) หรืออาจจะเรียกอีกชื่อว่า Antimineralocorticoid หรืออีกชื่อคือ Mineralocorticoid-receptor antagonists (ย่อว่า MCRA หรือ MRA) จัดอยู่ในกลุ่มยาขับปัสสาวะ(Diuretic drug) มักนำไปใช้ร่วมรักษาอาการหัวใจล้มเหลว ยากลุ่มนี้จะแสดงฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน(Aldosterone หรืออีกชื่อคือ Mineralocorcicoid) ซึ่งเป็นฮอร์โมนร่างกายที่ถูกสังเคราะห์ที่ต่อมหมวกไต หน้าที่หลักของอัลดอสเตอโรนคือ จะช่วยร่างกายรักษาระดับเกลือโซเดียมในเลือด โดยออกฤทธิ์ทำให้ไตดูดซึมโซเดียมจากปัสสาวะกลับเข้ากระแสเลือด แต่ทางตรงกันข้ามก็ทำให้ขับเกลือโปแตสเซียมทิ้งออกนอกร่างกายทางปัสสาวะเช่นกัน

อาจจำแนกยาในกลุ่มอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์เป็นรายการย่อย ดังนี้

  • Spironolactone: เป็นยาชนิดรับประทานที่ได้รับการยอมรับและมีการใช้อย่างแพร่หลาย ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง บำบัดภาวะหัวใจล้มเหลว ลดอาการบวมน้ำ รวมถึงภาวะขนดกตามร่างกาย ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และมีใช้ตาม สถานพยาบาลทั้งของรัฐ และเอกชน และมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป
  • Eplerenone: เป็นยาชนิดรับประทานที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับยา Spironolactone ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาโรคหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง และจอประสาทตาบวมน้ำ(Central serous retinopathy) ยาชนิดนี้ยังไม่มีจำหน่ายในไทย แต่ในต่างประเทศจะรู้จักภายใต้ชื่อการค้าว่า “Inspra” ซึ่งมีราคาแพงกว่า Spironolactone
  • Canrenone : เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่มีโครงสร้างเคมีใกล้เคียงกับยา Spironolactone ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และรักษาภาวะขนดกในสตรี มีจัดจำหน่ายในแถบยุโรป แต่ยังไม่มีจำหน่ายในไทย
  • Finerenone: เป็นยาที่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้รักษาโรคหัวใจล้มเหลว พบว่ายานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ทำให้หน้าอก/เต้านมโต และความรู้สึกทางเพศถดถอย

นอกจากนี้ยังมียาบางตัวที่มีกลไกการออกฤทธิ์ เป็นยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ได้เช่นกัน เช่น Progesterone, Drospirenone, Gestodene, และ Benidipine(ยาลดความดันโลหิต)

ในด้านผู้บริโภค/ผู้ป่วย การเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่มนี้เพื่อรักษาอาการโรคจะต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์เท่านั้น และห้ามประชาชนไปซื้อหายากลุ่มนี้มาใช้ด้วยตนเอง

อัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อัลดอสเตอโรนแอนตาโกนิสต์

ยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาภาวะจอประสาทตาบวมน้ำ
  • เป็นยาขับปัสสาวะสำหรับผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • รักษาภาวะขนดกเกิน

อัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไต โดยตัวยาจะมีกลไกแข่งขันหรือยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน อัลดอสเตอโรน ทำให้เพิ่มการขับออกของ โซเดียมและน้ำ จากไตไปกับปัสสาวะ แต่มีการดูดกลับของเกลือโพแทสเซียมจากปัสสาวะคืนสู่ร่างกาย/กระแสเลือด จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

อัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็นยาชนิดรับประทานที่ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

อัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ แต่ละชนิดขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองของผู้ป่วย โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการโรคกำเริบตามมา

อัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะหน้าอก/เต้านมโต ตึงคัดหน้าอก/คัดเต้านม เจ็บหน้าอก/เจ็บเต้านม
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดเมื่อใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ค่ากรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินสืบพันธุ์: เช่น ในสตรีอาจเกิด สารคัดหลั่ง /ตกขาวบริเวณช่องคลอด ประจำเดือนขาด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ความรู้สึกทางเพศถดถอย รู้สึกสับสน
  • ผลต่อการเกิดมะเร็ง: เช่น อาจมีโอกาสก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมได้บ้างเล็กน้อยถ้าใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/ เป็นตะคริวที่ขา
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น ไตวายเฉียบพลัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจทำให้เกิด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หลอดเลือดดำอักเสบ ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้อัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะขับปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยไตวาย และผู้ป่วยโรค Addison’s disease
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ฌสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยา Spironolactone ร่วมกับ ยา Loperamide เพราะจะทำให้ระดับยา Loperamide ในกระแสเลือดสูงขึ้นจนส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ ยา Eplerenone ร่วมกับ ยา Amprenavir ด้วยจะทำให้ระดับยา Eplerenone ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงเพิ่มขึ้น

ควรเก็บรักษาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บยายาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ ภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้น แสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

ไดเอทิลโพรพิออนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอัลดอสเตอโรน แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aldactone (แอลแดคโตน) Pfizer
Altone (แอลโตน) Pharmaasant Lab
Hyles (ไฮเลส) Berlin Pharm
Pondactone (พอนแดคโตน) Pond’s Chemical
Spironex (สไปโรเน็กซ์) P P Lab
S-Tone (เอส-โทน)Millimed

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Antimineralocorticoid[2017,Sept30]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Aldosterone[2017,Sept30]
  3. http://www.heartfailurematters.org/en_GB/What-can-your-doctor-do/Aldosterone-receptor-antagonists[2017,Sept30]
  4. https://www.drugs.com/sfx/spironolactone-side-effects.html[2017,Sept30]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/eplerenone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Sept30]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=spironolacton[2017,Sept30]