อัมพาต 360 องศา: ยาละลายลิ่มเลือดต้องทานเมื่อใด
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 6 พฤศจิกายน 2558
- Tweet
การป้องกันการเป็นซ้ำของโรคอัมพาต คือ การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัมพาต ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่เกิดจากการตีบของหลอดเลือดสมอง ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ได้แก่ แอสไพลิน พลาวิก ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันและมีปัญหาการเต้นของหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยต้องทานยาละลายลิ่มเลือด
การทานยาละลายลิ่มเลือดมีวัตถุประสงค์ เพื่อ ป้องกันการตกตะกอนของเลือดเป็นลิ่มเลือดหรือก้อนเลือด เพราะลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดนั้นจะหลุดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง ก็จะเกิดอาการของอัมพาตจากหลอดเลือดสมองอุดตัน ดังนั้นต้องทานยาละลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันการตกตะกอนของลิ่มเลือด
การทานยาละลายลิ่มเลือดนั้นมีข้อดีตามที่กล่าวมาแล้ว คือ ป้องกันการเป็นซ้ำ แต่มีข้อเสีย คือ ถ้ามีเลือดออกก็จะไหลไม่หยุดหรือหยุดยาก ดังนั้นผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จึงต้องควบคุมการทานยาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ระดับยาที่ทานนั้น ต้องให้เลือดมีการหยุดยากกว่าปกติประมาณ 2-3 เท่า ถ้ามีระดับยาที่ต่ำไปก็ไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเลือดหยุดยากกว่าปกติมากกว่า 3 เท่าก็จะมีอันตราย คือ มีเลือดออกได้ง่าย ถ้าเลือดออกในสมองก็เสียชีวิต
การที่ผู้ป่วยต้องทานยาละลายลิ่มเลือดต้องทานยาไปตลอดชีวิต ดังนั้นการเริ่มต้นให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดต้องพิจารณาข้องบ่งชี้ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างชัดเจน ร่วมกับความพร้อมของผู้ป่วย ญาติ ร่วมกับต้องมีความร่วมมือ มีความสม่ำเสมอในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรซื้อยาทานเอง ต้องระวังอุบัติเหตุ ไม่ให้ล้ม ไม่ให้ศีรษะมีการกระแทกหรืออุบัติเหตุที่ศีรษะ ถ้าต้องทำหัตถการหรือการผ่าตัด ทำฟัน ต้องหยุดยา และแจ้งให้แพทย์ ทันตแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษา แพทย์จะได้แนะนำให้หยุดยาและประเมินความพร้อมในการทำหัตถการนั้นๆ
การทานยาละลายลิ่มเลือดนั้น ผมมักจะบออกกับผู้ป่วยและญาติว่าต้องดูแลตนเองให้ดีมากๆ เหมือนกับการประคองไข่ในหิน ต้องไม่ให้มีการกระแทกหรืออุบัติเหตุเลย