อัณฑะบิดขั้ว (Testicular torsion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อัณฑะบิดขั้ว หรือ อัณฑะบิดตัว หรือ การบิดของอัณฑะ(Testicular torsion หรือ Torsion of the testis) คือการที่อัณฑะซึ่งปกติจะอยู่ในแนวดิ่งในถุงอัณฑะ เกิดการบิดตัวมาอยู่ในตำแหน่งตามแนวขวางในถุงอัณฑะ ซึ่งการบิดตัวนี้จะก่อให้เกิดการบิดตัวของท่อ/สายเนื้อเยื่อที่เรียกว่า”Spermatic cord” ซึ่งเป็นสาย(Cord)ยาวประมาณ 30 เซนติเมตรที่ยึดจากอัณฑะเข้าสู่ในช่องท้อง ณ ตำแหน่งเดิมของอัณฑะเมื่อเป็นทารกในครรภ์ ในสายนี้จะประกอบด้วย เนื้อเยื่อที่ช่วยยึดอัณฑะให้ติดอยู่กับที่ ไม่แกว่งไปมาในถุงอัณฑะ, หลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงอัณฑะ, เส้นประสาทอัณฑะ, และท่อนำอสุจิที่ออกจากท่อ /ถุงเก็บอสุจิเข้าสู่ท่อปัสสาวะ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธ์ชาย) ซึ่งการบิดตัวของ Spermatic cord จะส่งผลให้หลอดเลือดอัณฑะบิดตัว หลอดเลือดอัณฑะจึงอุดตัน ส่งผลให้อัณฑะขาดเลือด จึงเกิดการบาดเจ็บและการตายของอัณฑะ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติๆต่างๆ ทีเรียกว่า “อัณฑะบิดขั้ว หรือ อัณฑะบิดตัว”

อัณฑะบิดขั้ว มักพบเกิดเพียงข้างเดียว โดยพบเกิดข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา แต่ก็พบเกิดทั้ง 2 ข้างได้ แต่พบน้อยเพียงประมาณ 2%

อัณฑะบิดขั้วเกิดได้กับชายทุกวัย ตั้งแต่ทารกแรกเกิด ไปจนถึงชายวัยสูงอายุ แต่พบเกิดได้สูงในช่วงวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่พบได้ประมาณ 1 ใน4,000 คนของชายวัยก่อน 25 ปี นอกจากนั้น มีรายงานว่า 11.4% ของผู้ที่มีอัณฑะบิดขั้ว มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้

อัณฑะบิดขั้วมีสาเหตุจากอะไร?

อัณฑะบิดขั้ว

สาเหตุของอัณฑะบิดขั้ว ทั่วไป แพทย์เชื่อว่าเกิดจากการอ่อนแอแต่กำเนิดของเนื้อเยื่อใน Spermatic cord และของเนื้อเยื่อในถุงอัณฑะ ที่เป็นตัวยึดเหนี่ยวให้อัณฑะอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหวแกว่งตัวไปมาในถุงอัณฑะ ซึ่งเมื่อเนื้อเยื่อเหล่านี้อ่อนแอ จะส่งผลให้อัณฑะแกว่งตัวไปมาได้ง่าย(โดยเฉพาะ ช่วงมีการเล่นกีฬา หรือช่วงการออกกำลังกาย หรือเมื่อมีก้อนเนื้อในอัณฑะ) จึงเป็นเหตุนำให้เกิดอัณฑเคลื่อนตัวและเกิดการบิดขั้วได้ง่าย ซึ่งการอ่อนแอแต่กำเนิดของเนื้อเยื่อ/ความผิดปกตินี้ เรียกว่า “Bell clapper deformity/การแกว่งไปมาของอัณฑะในถุงอัณฑะเหมือนลูกกระดิ่งในระฆัง ซึ่งมักเป็นสาเหตุให้ตำแหน่งอัณฑะในถุงอัณฑะ จะอยู่ในแนวนอน แทนที่จะอยู่ในแนวตั้ง/แนวดิ่งตามปกติ” ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความอ่อนแอแต่กำเนิดของเนื้อเยื่อดังกล่าว แพทย์ยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าน่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และมีการศึกษาทีพบภาวะเนื้อเยื่อฯอ่อนแอนี้ได้ประมาณ 17% ของผู้ชายทั้งหมด

ส่วนสาเหตุอื่นๆ เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย ที่มีรายงาน ได้แก่ จากการที่อัณฑะได้รับอุบัติเหตุรุนแรง หรือกรณีอัณฑะมีน้ำหนักมากขึ้นผิดปกติ อัณฑะจึงบิดตัวได้ง่าย เช่น กรณีมีก้อนเนื้อในอัณฑะ เช่น ในมะเร็งอัณฑะ เป็นต้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอัณฑะบิดขั้ว?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอัณฑะบิดขั้ว ได้แก่

  • ชายในช่วงวัยรุ่น ช่วงอายุประมาณ 12-18 ปี
  • และชายที่มีตำแหน่งของอัณฑะผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด คือ อยู่ในแนวขวางในถุงอัณฑะแทนที่จะอยู่ในแนวตั้งตามปกติ
  • ส่วนประวัติการเกิดภาวะนี้ในครอบครัว น่าเป็นปัจจัยเสี่ยงได้
  • มีประวัติการเจ็บอัณฑะที่มักเกิดขึ้นหลังการออกกำลังกาย/การเล่นกีฬา เป็นๆหายบ่อยครั้ง ที่เรียกว่า “Intermittent torsion and detorsion” คือ อาจเกิดอัณฑะบิดขั้วที่ไม่รุนแรงที่ร่างกายสามารถแก้ไขให้กลับเป็นปกติได้เอง

อัณฑะบิดขั้วมีอาการอย่างไร?

อาการของอัณฑะบิดขั้วมักเกิดในวัยรุ่น หรือวัยที่ยังเป็นเยาวชน โดยอาการสำคัญที่สุดคือ การปวด/เจ็บอัณฑะ/ถุงอัณฑะที่เกิดทันที และมักปวด/เจ็บอย่างมาก ถุงอัณฑะ/อัณฑะอาจมีขนาดโต/บวมขึ้น และมักร่วมกับมี อาการคลื่นไส้ อาจมีอาเจียนร่วมด้วย

นอกจากนั้น อาการอื่นๆที่อาจพบได้ คือ

  • อาการที่เกิดมักมีความสัมพันธ์กับ การบาดเจ็บที่อัณฑะ หรือมีประวัติการออก กำลังกาย/การเล่นกีฬานำมาก่อน
  • อาจมีอาการปวด/เจ็บท้อง หรือปวด/เจ็บท้องน้อยร่วมด้วย และ/หรือปวด/เจ็บบริเวณขาหนีบ
  • มีไข้ต่ำๆ
  • ถุงอัณฑะ/อัณฑะบวม ถุงอัณฑะอาจมีอาการ บวม แดง
  • การคลำถุงอัณฑะ อาจพบอัณฑะอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นจากตำแหน่งปกติ
  • ปวด/เจ็บเวลาปัสสาวะ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ”ควรต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยอัณฑะบิดขั้วได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยอัณฑะบิดขั้ว ได้จาก อาการผู้ป่วย ประวัติเพศสัมพันธ์ ประวัติการเกิดโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคจากอัณฑะอักเสบและ/หรือจากถุงเก็บอสุจิอักเสบ) ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติการมีอัณฑะอยู่ในท่าขวางในถุงอัณฑะแต่แรกเกิด การตรวจร่างกาย การตรวจคลำ ถุงอัณฑะ อัณฑะ และอวัยวะเพศ การตรวจคลำหาก้อนผิดปกติที่ขาหนีบ การตรวจปัสสาวะเพื่อแยกอัณฑะบิดขั้วจากการอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และอาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพอัณฑะด้วยอัตราซาวด์ชนิดที่ตรวจการไหลเวียนเลือดได้ และ/หรือการตรวจภาพอัณฑะด้วยเทคนิคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า “Testicular scan”เพื่อดูว่ามีเลือดไปเลี้ยงอัณฑะหรือไม่ และบางครั้ง แพทย์อาจต้องวินิจฉัยจากการผ่าตัดเปิดถุงอัณฑะ เพื่อดูว่าอัณฑะเกิดการบิดขั้วหรือไม่ ซึ่งถ้าพบอัณฑะบิดขั้ว แพทย์ก็จะให้การรักษาต่อเนื่องไปเลย

รักษาอัณฑะบิดขั้วอย่างไร?

แนวทางการรักษาอัณฑะบิดขั้ว คือ การผ่าตัดเปิดถุงอัณฑะเพื่อแก้ไขการบิดตัวของอัณฑะและของสายSpermatic cordให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติ เพื่อให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงอัณฑะได้ตามปกติ รวมกับการเย็บเนื้อเยื่อในถุงอัณฑะเพื่อให้อัณฑะอยู่กับที่ไม่เคลื่อนที่แกว่งไปมาที่เรียกว่า Orchiopexy เพื่อช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอัณฑะบิดขั้วซ้ำๆ แต่ถ้าแพทย์พบว่า เนื่อเยื่ออัณฑะทั้งหมดตายจากการขาดเลือด(Testicular infarction) แพทย์จะให้การรักษาโดยการตัดอัณฑะออก(Orchiectomy)เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในเนื้อเยื่ออัณฑะที่ตายแล้วนี้

อัณฑะบิดขั้วมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในภาวะอัณฑะบิดขั้ว เป็นการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์รักษาอาการผู้ป่วยได้ แต่การที่จะเก็บอัณฑะไว้ได้หรือไม่(อัณฑะยังทำงานได้ปกติ) ขึ้นกับระยะเวลาของการรักษา ซึ่งมีการศึกษารายงานว่า

  • ถ้าแพทย์สามารถให้การรักษาผ่าตัดแก้ไขอัณฑะบิดขั้วได้ภายใน 6 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ, 90-100%ของผู้ป่วย อัณฑะ/เนื้อเยื่ออัณฑะจะยังปกติหลังการรักษา
  • ถ้าให้การรักษาผ่าตัดแก้ไขภาวะอัณฑะบิดขั้วเมื่อเกิดอาการนานมากกว่า 6ชั่วโมงขึ้นไปจนถึง 24 ชัวโมง, 20-50% ของอัณฑะ/เนื้อเยื่ออัณฑะ จะยังปกติหลังการรักษา
  • ถ้าให้การรักษาผ่าตัดภาวะอัณฑะบิดขั้วเมื่อเกิดอาการนานมากกว่า 24 ชั่วโมงขึ้นไป โอกาสที่อัณฑะจะปกติ อยู่ที่ 0-10%หลังการรักษา

มีผลข้างเคียงจากอัณฑะบิดขั้วอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากอัณฑะบิดขั้ว จะเกิดในกรณีที่แพทย์ต้องรักษาโดยการผ่าตัดอัณฑะออก ซึ่งอาจส่งผลใหเกิดมีภาวะมีบุตรยากได้ หรืออาจสูญเสียความมั่นใจในตนเองจากการมีอัณฑะเหลือเพียงข้างเดียว หรือบางคนอาจรู้สึกอายในภาพลักษณ์จากการมีอัณฑะเพียงข้างเดียว

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านหลังผ่าตัดถุงอัณฑะ/อัณฑะเพื่อรักษาภาวะอัณฑะบิดขั้ว ที่สำคัญคือ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลแผลผ่าตัด เพราะปัจจุบันเทคนิคผ่าตัดมีหลายรูปแบบ ที่อาจแตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล ดังนั้นก่อนออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องสอบถามแพทย์/พยาบาลถึงวิธีดูแลแผลผ่าตัด เช่น ล้างแผลอย่างไร ใช้น้ำยาอะไรล้างแผล แผลถูกน้ำได้ไหม ล้างแผลวันละกี่ครั้ง แผลจะหายภายในกี่วัน ต้องตัดไหมหรือไม่ และต้องรีบมาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อไหร่ เป็นต้น

  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในแต่ละวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แผลผ่าตัดจะได้ติดได้ดี
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสแผลติดเชื้อ
  • งดเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายดี เป็นปกติ
  • ห้ามยกของหนักประมาณ 7-10 วันหลังผ่าตัดเพื่อป้องกันแผลแยก/แผลแตกปริ
  • ห้ามเล่นกีฬา/ออกกำลังกายหักโหมประมาณ 7-10 วันหลังผ่าตัดเพื่อป้องกันแผลแยก/แผลแตกปริ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด และปรึกษาแพทย์ถึงโอกาสเกิดอัณฑะบิดขั้วอีกข้างที่ควรต้องผ่าตัดยึดอัณฑะ(Orchiopexy)ไหม เพื่อป้องกันการเกิดอัณฑะบิดชั้ว

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • แผลผ่าตัดแยก/แผลไม่ติด หรือแผลเป็นหนอง
  • ปวด/เจ็บแผลผ่าตัดมาก
  • มีไข้
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้มาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันอัณฑะบิดขั้วได้อย่างไร?

การป้องกันอัณฑะบิดขั้วได้แก่

  • ถ้าครอบครัวมีประวัติอัณฑะบิดขั้ว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอัณฑะ ถ้าพบว่าอัณฑะมีลักษณะเสี่ยงต่อการเกิดอัณฑะบิดขั้ว ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการผ่าตัดเพื่อยึดให้อัณฑอยู่กับที่(Orchiopexy)
  • ในคนทั่วไป ควรสังเกตและคลำอัณฑะตนเองประมาณเดือนละครั้ง ถ้าสงสัยว่าผิดปกติ หรือพบว่าอัณฑะอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ คือวางอยู่ในท่าขวาง ควรรีบไปโรงพยาบาลปรึกษาศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันอัณฑะบิดขั้ว
  • ถ้ามีอาการ ปวด/เจ็บอัณฑะบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเล่นกีฬาหรือหลังการออกกำลังกาย ควรรีบไปโรงพยาบาลพบศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อรับการตรวจอัณฑะ

บรรณานุกรม

  1. Sharp, V J. et al. Am Fam pHysician. 2013; 88(12): 835-840
  2. http://www.meddean.luc.edu/lumen/meded/urology/bellclap.html [2017,Dec23]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/2036003-overview#showall [2017,Dec23]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Testicular_torsion [2017,Dec23]
  5. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/testicular-torsion [2017,Dec23]
  6. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=90&ContentID=P03115 [2017,Dec23]