อัณฑะ (Testis)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 9 เมษายน 2556
- Tweet
อัณฑะ หรือ Testis หรือ Testicle เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สร้างตัวอสุจิ (Spermatozoa หรือ Sperm) และสร้างฮอร์โมนเพศชาย (Androgen หรือ Testosterone) โดยมีลักษณะเป็นอวัยวะรูปไข่ ขนาดยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร หนักประ มาณ 25 กรัม
อัณฑะมี 2 ข้าง ซ้ายและขวา ห้อยอยู่นอกร่างกายในถุง ซึ่งเรียกว่าถุงอัณฑะ (Scrotum หรือ Scrotal sac) ถุงอัณฑะนี้จะมีผิวหนังย่นๆคลุมอยู่ด้านนอกสุด
อัณฑะและถุงอัณฑะ จะอยู่ที่ด้านหลัง องคชาต และอยู่ด้านหน้าของทวารหนัก
อัณฑะจะมีเปลือกหุ้มเป็นพังผืดสีขาวเรียกว่า Tunica albuginea ภายในจะมีพังผืดบางๆ แยกเป็นส่วนย่อยๆประมาณ 200 ถึง 400 ส่วนย่อย ภายในแต่ละส่วนย่อยเหล่านี้จะมีท่อยาวขนาดเล็ก เป็นที่อยู่ของเซลล์ที่จะกลายเป็นตัวอสุจิ (Germ cells) เรียกว่าท่อ Seminiferous tubules
ภายในท่อ Seminiferous tubules นอกจากจะมี Germ cells แล้วยังมีเซลล์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า Sertoli cell ทำหน้าที่สร้างสารฮอร์โมนชื่อ Inhibin (ฮอร์โมนช่วยทำหน้าที่กำกับการสร้างอสุจิ) และทำหน้าที่คล้ายเซลล์พี่เลี้ยงในการร่วมสร้างตัวอสุจิ
เซลล์อีกชนิดในอัณฑะเรียกว่า Leydig cell มีความสำคัญคือ เป็นเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย (Androgen หรือ Testosterone) ฮอร์โมนเพศชายที่สร้างมาจากเซลล์นี้ จะมีปริมาณลดลงตามอายุที่มากขึ้น
หน้าที่ของอัณฑะ ได้แก่
- สร้างตัวอสุจิ (Spermatozoa)
- สร้างฮอร์โมนเพศชายซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะของเพศชาย
การสร้างตัวอสุจิ จะมีประสิทธิภาพที่อุณหภูมิประมาณ 35-36 องศาเซลเซียส (Celsius) ซึ่งต่ำกว่าอุณหภูมิภายในร่างกายปกติประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิปกติภายในร่าง กาย คือ 37 องศาเซลเซียส) ดังนั้น อัณฑะจึงต้องห้อยอยู่นอกร่างกายภายในถุงอัณฑะ เพื่อให้อุณหภูมิต่ำกว่าร่างกายปกติ
(อ่านเพิ่มเติมระบบอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ได้ในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย)