อะโทม็อกซีทีน (Atomoxetine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 มิถุนายน 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- อะโทม็อกซีทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อะโทม็อกซีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะโทม็อกซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะโทม็อกซีทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะโทม็อกซีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะโทม็อกซีทีนอย่างไร?
- อะโทม็อกซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะโทม็อกซีทีนอย่างไร?
- อะโทม็อกซีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสมาธิสั้น(Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- เอมเอโอไอ (MAOI)
- โรคต้อหิน(Chronic glaucoma)
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาอะโทม็อกซีทีน (Atomoxetine) คือ ยาในกลุ่ม Norepinephrine reuptake inhibitor (ยากระตุ้นการทำงานของสมองที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช) ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาอาการโรคสมาธิสั้นทั้ง เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ โดยวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า Strattera และได้จดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 - 2017 (พ.ศ. 2549 - 2560) ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นเมื่อได้รับยานี้จะทำให้มีสมาธิมากขึ้น ลดอาการกระวนกระวาย ลุกลี้ลุกลน อยู่ไม่เป็นสุข เป็นต้น สำหรับขนาดและระยะเวลาของการใช้ยานั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดได้เหมาะสมที่สุด รูปแบบของยานี้ที่เป็นยาแผนปัจจุบันจะเป็นยารับประทาน
การดูดซึมของยานี้จากระบบทางเดินอาหารอยู่ที่ประมาณ 63 - 94% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระ แสเลือด จะจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 98% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาอะโทม็อกซีทีนอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 5.2 ชั่วโมงในการกำจัดยาประ มาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
อะโทม็อกซีทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอะโทม็อกซีทีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรค/อาการโรคสมาธิสั้น ทั้งในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปรวมถึงวัยรุ่นและในผู้ใหญ่
อะโทม็อกซีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะโทม็อกซีทีนคือ ยาจะเข้าจับกับตัวรับในสมองที่มีชื่อว่า Dopa mine receptors ทำให้ระดับ Dopamine (สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง) เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังยับยั้งการดูดกลับเข้าเซลล์สมองของสารสื่อประสาทอีกชนิดที่เรียกว่า Norepinephrine จากกลไกเหล่า นี้ที่ทำให้สารสื่อประสาททั้ง 2 ตัวในสมองสูงขึ้น ส่งผลต่อสมดุลของสารเคมีในสมองและทำให้อา การของผู้ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้นทุเลาและดีขึ้น
อะโทม็อกซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะโทม็อกซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 10, 18, 25, 40 และ 60 มิลลิกรัม/แคปซูล
อะโทม็อกซีทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะโทม็อกซีทีนมีขนาดรับประทาน ดังนี้เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) อายุ 6 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 70 กิโลกรัม: เช่นรับประทาน 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 80 มิลลิกรัม/วัน เมื่อเวลาผ่านไป 2 - 4 สัปดาห์ แล้วการตอบ สนองของการรักษายังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานสูงสุดอีกแต่ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 70 กิโลกรัม:เช่น รับประทาน 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทาน 0.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น หลังจากนั้น 3 วันแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 1.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทาน
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะโทม็อกซีทีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะโทม็อกซีทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะโทม็อกซีทีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อะโทม็อกซีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะโทม็อกซีทีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- คลื่นไส้
- ปากคอแห้ง
- เบื่ออาหาร
- นอนไม่หลับ
- อ่อนแรง
- ปวดหัว
- ไอ
- ท้องผูก
- วิงเวียน
- สมรรถภาพทางเพศถดถอย
- ปวดท้อง
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ความดันโลหิตสูง
- ฝันร้าย
- อาเจียน
- ร้อนวูบวาบ
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ประจำเดือนผิดปกติ (ในสตรี)
- น้ำหนักตัวลด
- ซึมเศร้า
- อารมณ์แปรปรวน
- บางคนอาจเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
- ก้าวร้าวขึ้น
- ตัวสั่น
- ไมเกรน
- ชัก
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- อาจเกิดภาวะแพ้ยาได้
- การทำงานของตับผิดปกติ
- ดีซ่าน
- ตับอักเสบ
- ปัสสาวะขัด
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่รับประทานยานี้เกินขนาดจะพบอาการปั่นป่วนในระบบทางเดินอาหาร วิงเวียน ตัวสั่น มีพฤติกรรมผิดปกติ ปากคอแห้ง หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง รูม่านตาขยาย และอาจมีอาการชักเกิดขึ้น ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเพื่อทำการรักษา แพทย์อาจใช้ยาถ่านกัมมันต์เพื่อช่วยลดการดูดซึมของยาอะโทม็อกซีทีนได้ระดับหนึ่ง
มีข้อควรระวังการใช้อะโทม็อกซีทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโทม็อกซีทีน ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ความรุนแรงระดับกลางจนถึงระดับรุนแรงสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน (Narrow angle glaucoma)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยง/ห้ามใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีด้วยยังขาดข้อมูลทางคลินิกสนับสนุน
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการดีซ่าน (ตัว/ตาเหลือง) ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือเกิดภาวะแพ้ยา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะโทม็อกซีทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะโทม็อกซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะโทม็อกซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้ยาอะโทม็อกซีทีน ร่วมกับยา Methylene blue ด้วยเสี่ยงกับการเกิดความดันโลหิตสูงจนอาจถึงขั้นตายได้ ต้องเว้นระยะเวลาหลังจากการใช้ Methylene blue ไปแล้วประมาณ 14 วันจึงจะปลอดภัยกับการใช้อะโทม็อกซีทีน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะโทม็อกซีทีน ร่วมกับ ยา Cisapride ด้วยอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงขั้นตายได้
- การใช้ยาอะโทม็อกซีทีน ร่วมกับยา Diphenhydramine อาจทำให้ปริมาณของยาอะโทม็อกซีทีนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นและก่อให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาอะโทม็อกซีทีนติดตามมาเช่น วิงเวียน ปากแห้ง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาอะโทม็อกซีทีน ร่วมกับยา Phenylpropanolamine สามารถทำให้ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาอะโทม็อกซีทีนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะโทม็อกซีทีน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อะโทม็อกซีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะโทม็อกซีทีน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ATTENTROL (แอทเทนทรอล) | Sun |
ATTERA (แอทเทอรา) | Mesmer |
AXEPTA (เอ็กเซฟตา) | Intas |
Strattera (สแตรทเทรา) | Eli Lilly |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/Thailand/Drug/info/Strattera/?type=brief [2021,June19]
- https://www.mims.com/Thailand/Drug/info/Strattera/?type=full#Dosage [2021,June19]
- https://www.mims.com/India/Drug/search/?q=atomoxetine [2021,June19]
- https://www.drugs.com/cdi/atomoxetine.html [2021,June19]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Atomoxetine#Pharmacology [2021,June19]
- https://www.medscape.com/viewarticle/489321_2 [2021,June19]