อะโตวาโควน (Atovaquone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- อะโตวาโควนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะโตวาโควนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะโตวาโควนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะโตวาโควนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะโตวาโควนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะโตวาโควนอย่างไร?
- อะโตวาโควนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะโตวาโควนอย่างไร?
- อะโตวาโควนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- ดอกซีไซคลิน (Doxycycline)
บทนำ
ยาอะโตวาโควน(Atovaquone) เป็นยาประเภท Napthoquinones(สารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่ง) ประโยชน์ทางคลินิก นำมาใช้รักษาอาการปอดอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อ Pneumocystis Carinii(เชื้อรา,ที่เป็นเชื้อฉวยโอกาส) โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis), โรคมาลาเรีย, และผู้ที่ติดเชื้อ Babesia(โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวในเม็ดเลือดแดง), การใช้ยานี้รักษาโรคแต่ละประเภทดังกล่าว อาจต้องใช้ยาอื่นร่วมในการรักษาด้วย เช่นยา Malarone(ยาเม็ดรักษามาลาเรียที่มีตัวยา2ชนิดคือ Atovaquone และProquanil) , Proguanil, และ Azithromycin
ยาอะโตวาโควนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ทั้งชนิดเม็ด และยาน้ำแขวนตะกอน ยานี้มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ค่อนข้างต่ำ ยาอะโตวาโควนที่อยู่ในกระแสเลือดมากกว่า 99% โดยจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน เป็นผลให้การกำจัดทิ้งของยานี้ออกจากร่างกายโดยผ่านทางไต/ปัสสาวะต้องใช้เวลานานประมาณ 2.2–3.2 วัน
การใช้ยาอะโตวาโควนเพื่อรักษาอาการป่วยก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวังคล้ายกับยาประเภทอื่นๆ ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอะโตวาโควน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ใน ภาวะตกเลือด หรือมีเลือดออกมาก
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- การรับประทานยาอะโตวาโควนให้ได้ประสิทธิผล ต้องรับประทานยาพร้อมอาหาร เพราะไขมันในอาหาร จะช่วยทำให้การดูดซึมของยาอะโตวาโควนเข้าสู่ร่างกายดีขึ้น
- ต้องระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และโรคตับ
- มียาบางประเภทสามารถรบกวนประสิทธิภาพการทำงานของยยาอะโตวาโควนหากใช้ร่วมกัน เช่นยา Rifabutin, Rifampin, และ Doxycycline
- หลังจากรับประทานยาอะโตวาโควนและอาการป่วยเริ่มดีขึ้น หรือเหมือนกับมีอาการเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาจนครบเทอมของการรักษาตามคำสั่ง แพทย์ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้อาการโรคฟื้นตัว และกลับมาเล่นงานผู้ป่วยได้อีก
- ระหว่างที่ได้รับยานี้ แพทย์จะให้มีการตรวจเลือด เพื่อ ตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และเพื่อดูการทำงานของตับว่า เป็นปกติหรือไม่ ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือ มารับการตรวจเลือดทุกครั้งตามแพทย์สั่ง
- ตัวยาอะโตวาโควนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่นๆ กรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการวิงเวียน ควรจัดร่างกายให้อยู่ในท่าพักผ่อน และห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้งาย
- *ระวังการรับประทานยานี้เกินขนาด สามารถสังเกตได้จาก การเกิดผื่นคันตามผิวหนังได้ทั่วตัว และปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการต้านพิษของยาอะโตวาโควน กรณีนี้รับประทานยาเกินขนาดนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูแลรักษาประคับประคองตามอาการ
ยาอะโตวาโควนที่มีจำหน่ายในประเทศไทย เป็นสูตรตำรับที่มีส่วนผสมกับยา Proguanil และมีข้อบ่งใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย ทั้งนี้ หากผู้ป่วย/ผู้บริโภคที่มีความต้องการทราบข้อมูลของการใช้ยาอะโตวาโควนเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาอาการป่วย หรือจากสอบถามจากเภสัชกรได้ทั่วไป
อะโตวาโควนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะโตวาโควนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาป้องกันและรักษาโรคปอดอักเสบประเภท Pneumocystis (carinii) jirovecii pneumonia โดยใช้ในลักษณะของยาเดี่ยวๆ
- ใช้เป็นยาป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย ที่มีสาเหตุจากเชื้อ Falciparum malaria โดยใช้ยา Proguanil ร่วมในการรักษาด้วย
- รักษาโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
อะโตวาโควนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะโตวาโควน ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยานี้สามารถยับยั้งการส่งผ่านประจุอิเล็กตรอน(Elebtron)ในระดับเซลล์บริเวณที่เรียกว่าไมโทคอนเดรีย (Mitochondria)ซึ่งมีหน้าที่สร้างพลังงานให้กับตัวเชื้อโรค จากผลดังกล่าวทำให้การสร้างพลังงานและการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก (Nucleic acid,สารที่ใช้ในการสร้างสารพันธุกรรม)ในเซลล์เชื้อโรคหยุดชะงัก จนเป็นเหตุให้เชื้อโรคหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด
อะโตวาโควนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะโตวาโควน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Atovaquone ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Atovaquone 62.5 มิลลิกรัม + Proguanil 25 มิลลิกรัม/เม็ด, Atovaquone 250 มิลลิกรัม + proguanil 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ที่มียา Atovaquone ขนาด 750 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
อะโตวาโควนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะโตวาโควนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อฉวยโอกาส ที่เรียกว่า Pneumocystis pneumonia :
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 750 มิลลิกรัม วันละ 2ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 21 วัน
- เด็กอายุ 1 เดือน–12 ปี: รับประทาน 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม วันละ 2ครั้ง
- เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 750 มิลลิกรัม วันละ 2ครั้ง เช้า-เย็น 21 วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- ขนาดรับประทานสูงสุดในเด็กต้องไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับใช้เป็นยาป้องกันปอดอักเสบ(Pneumocystis Pneumonia Prophylaxis)
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1,500 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- เด็กอายุ 1–3 เดือน: รับประทานยา 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง
- เด็กอายุ 4 เดือน–2 ปี: รับประทานยา 45 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง
- เด็กอายุมากกว่า 2ปี ถึงอายุ 12 ปี: รับประทานยา 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ1ครั้ง
- เด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 1,500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ในการใช้ป้องกันโรคนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ค. สำหรับรักษาโรคมาลาเรีย:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยานี้ 1,000 มิลลิกรัม ร่วมกับยา Proguanil HCl/Hydrochloride 400 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน
- เด็กที่มีน้ำหนักตัว 31–40 กิโลกรัม: รับประทาน ¾ ของขนาดรับประทานในผู้ใหญ่
- เด็กที่มีน้ำหนักตัว 21–30 กิโลกรัม: รับประทาน ½ ของขนาดรับประทานในผู้ใหญ่
- เด็กที่มีน้ำหนักตัว 11–20 กิโลกรัม: รับประทาน ¼ ของขนาดรับประทานในผู้ใหญ่
- เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 11 กิโลกรัม: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ง. สำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 250 มิลลิกรัม ร่วมกับยา Proguanil 100 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ให้เริ่มรับประทานยา 1–2 วันล่วงหน้าก่อนออกเดินทางเข้าพื้นที่ที่มีมาลาเรีย และต้องรับประทานยาต่อเนื่องตลอดที่อยู่ในพื้นที่มาลาเรีย และหลังจากออกนอกพื้นที่มาลาเรียให้รับประทานยาทั้ง 2 ตัวนี้ต่อเนื่องอีก 7 วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กในกรณีใช้ป้องกันมาลาเรีย การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้เพื่อการป้องกันฯ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร ด้วยไขมันในอาหารจะช่วยทำให้การดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกายดีขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจ ด้วยผลข้างเคียงจากยานี้อาจสูงขึ้น
- โดยทั่วไป สามารถใช้ยา Trimethoprim + Sulfamethoxazole เป็นยาทางเลือกต้นๆในการรักษาโรคปอดอักเสบ ชนิด Pheumocystis Carinii Pheumonia แต่หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา Trimethoprim + Sulfamethoxazole แพทย์จึงจะหันมาใช้ยาอะโตวาโควน มาใช้รักษาแทนยาดังกล่าว
- ระยะเวลาในการรักษาโรคต่างๆด้วยยานี้ โดยทั่วไปจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะโตวาโควน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ แผลในระบบทางเดินอาหาร (เช่น แผลเปบติค) โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะโตวาโควน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะโตวาโควน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ
อนึ่ง เพื่อประสิทธิผลในการรักษา การใช้ยาอะโตวาโควนจะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
อะโตวาโควนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะโตวาโควนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)ต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน ปวดท้อง การรับรสชาติอาหารเปลี่ยน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
- ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น โซเดียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูงหรืออาจลดต่ำ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึม
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้อะโตวาโควนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโตวาโควน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเม็ดยาเปลี่ยนไป เม็ดยาแตกหัก
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร และโรคตับ
- ถึงแม้อาการป่วยจะทุเลาลง ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตาม ขนาดและเวลาในแต่ละวันจนครบเทอมของการรักษาตามแพทย์สั่ง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะโตวาโควนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะโตวาโควนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะโตวาโควนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะโตวาโควนร่วมกับยา Rifabutin, Rifampin, และ Doxycycline, ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาอะโตวาโควนลดลง
- ห้ามใช้ยาอะโตวาโควนร่วมกับยา Indinavir เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของ ยาIndinavir ลดต่ำลง
- ห้ามใช้ยาอะโตวาโควนร่วมกับยา Teriflunomide เพราะสามารถส่งผลกระทบ/ความเป็นพิษเพิ่มขึ้นต่อการทำงานของตับผู้ป่วย
ควรเก็บรักษาอะโตวาโควนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะโตวาโควน ในช่วงอุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
อะโตวาโควนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะโตวาโควนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
MEPRON (เมพรอน) | GlaxoSmithKline |
Malarone (มาลาโรน) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/atovaquone/?type=brief&mtype=generic[2017,April8]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Atovaquone[2017,April8]
- https://www.drugs.com/cdi/mepron.html[2017,April8]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/020500s010lbl.pdf[2017,April8]
- https://aidsinfo.nih.gov/guidelines/html/4/adult-and-adolescent-oi-prevention-and-treatment-guidelines/321/pcp[2017,April8]
- http://www.sapj.co.za/index.php/SAPJ/article/viewFile/570/518[2017,April8]
- https://www.drugs.com/dosage/atovaquone.html#Usual_Adult_Dose_for_Pneumocystis_Pneumonia[2017,April8]
- http://www.mims.com/malaysia/drug/info/malarone[2017,April8]