อะเพรบพิแทนท์ (Aprepitant)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะเพรบพิแทนท์ (Aprepitant) เป็นยาป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือใช้กับผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ในทางคลินิกห้ามใช้ยาอะเพรบพิแทนท์ร่วมกับยาบางตัวเช่น Cisapride หรือ Pimozide ด้วยจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ที่เป็นอันตรายกับตัวผู้ป่วยเองเช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคตับร่วมด้วย การใช้อะเพรบพิแทนท์ก็ต้องถูกปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอะเพรบพิแทนท์จะเป็นยาชนิดรับประทาน และถูกออกแบบมาเพื่อบำบัดอาการคลื่นไส้-อาเจียนในระยะเวลาที่ไม่นานนัก ทั้งนี้อาจเป็นที่อาการคลื่นไส้-อาเจียนจากการใช้ยาเคมีบำบัดหรือยาสลบมีระยะเวลาออกฤทธิ์ที่จำกัด อีกทั้งมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่สามารถเกิดกับผู้ป่วยเช่น มีผื่นคัน ลมพิษ เป็นต้น

ยาอะเพรบพิแทนท์มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 60 - 65% ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนมากกว่า 95% ตับจะคอยทำลาย/เปลี่ยนแปลงโครงสร้างยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 9 - 13 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

หากจะแจกแจงแนวทางการใช้ยาอะเพรบพิแทนท์ในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆพอจะสรุปได้ดังนี้

ก. สตรีตั้งครรภ์: ถึงแม้มีการศึกษาใช้ยาอะเพรบพิแทนท์ในสัตว์ทดลองแล้วพบว่า ยานี้ไม่ส่งผลต่อตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ของสัตว์ทดลองแต่อย่างใด แต่การใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์แพทย์ก็ยังคงต้องพิจารณาเป็นพิเศษและระมัดระวังเป็นรายบุคคลไป

ข. สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร: ถึงแม้จะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยสนับสนุนการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของทารก หากมารดาจำเป็นต้องใช้ยานี้แพทย์อาจให้หยุดการเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาสักระยะหนึ่ง และรอจนกระทั่งร่างกายกำจัดยานี้ออกไปจนหมดแล้วจึงกลับมาเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาอีกครั้ง

ค. ผู้สูงอายุ: การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุที่มีร่างกายปกติและไม่มีโรคประจำตัวใดๆไม่จำเป็นต้องปรับขนาดการใช้ยานี้แต่อย่างใด

ง. เด็ก: การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนอย่างเพียงพอและมีข้อห้ามใช้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี

จ. สตรีที่ใช้ยาคุมกำเนิด: สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่า ยาอะเพรบพิแทนท์ทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดด้อยลงไป แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชายหรือการใส่ห่วงอนามัย

ฉ. กลุ่มผู้ป่วยโรคไต: ไม่มีความจำเป็นต้องปรับขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

ช. กลุ่มผู้ป่วยโรคตับที่มีอาการระดับความรุนแรงโรคต่ำไปจนถึงระดับความรุนแรงโรคปานกลาง: ไม่มีความจำเป็นในการปรับขนาดการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้

สำหรับประเทศไทยยาอะเพรบพิแทนท์ถูกจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งจากแพทย์ เราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

อะเพรบพิแทนท์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะเพรบพิแทนท์

ยาอะเพรบพิแทนท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนจากยาเคมีบำบัด
  • ป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนหลังการผ่าตัด

อะเพรบพิแทนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะเพรบพิแทนท์เป็นกลุ่มยาที่เรียกว่า Neurokinin 1 receptor antagonist โดยตัวยาจะ ออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของสารที่เรียกว่า Substance P (ย่อว่า SP, สารในสมองที่ทำหน้าที่คล้ายสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาการเจ็บปวด อารมณ์ และอาการคลื่นไส้อาเจียน) จึงเกิดการยับยั้งอาการคลื่นไส้-อาเจียนจากสมอง และก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

อะเพรบพิแทนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะเพรบพิแทนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 40, 80, 125 และ 165 มิลลิกรัม/แคปซูล

อะเพรบพิแทนท์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะเพรบพิแทนท์มีขนาดรับประทานเช่น

ก. สำหรับป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนจากยาเคมีบำบัด

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: วันที่ 1 ของการทำเคมีบำบัดให้รับประทาน 125 มิลลิกรัมก่อนเริ่มทำเคมีบำบัด 1 ชั่วโมงโดยให้ร่วมกับยา Dexamethasone และ 5-HT3 antagonist, วันที่ 2 และวันที่ 3 (หลังการทำเคมีบำบัด) รับประทานยา 80 มิลลิกรัมในตอนเช้าวันละครั้ง อาจใช้ยา Dexame thasone ร่วมหรือไม่ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการคลื่นไส้-อาเจียน และให้งดใช้ยา 5-HT3 antagonist ในช่วงนี้ได้

ข. สำหรับป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนหลังการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 40 มิลลิกรัมครั้งเดียวภายใน 3 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

*อนึ่ง:

  • ในเด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลผลข้างเคียงที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในคนอายุกลุ่มวัยนี้ การใช้ยาในกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะเพรบพิแทนท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอะเพรบพิแทนท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะเพรบพิแทนท์ต้องแจ้งให้แพทย์เป็นผู้ปรับระยะเวลาการให้ยากับผู้ป่วยใหม่ทั้งนี้จะได้สอดคล้องต่อการทำหัตถการของแพทย์ในครั้งถัดไป

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะเพรบพิแทนท์ให้ตรงเวลา

อะเพรบพิแทนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะเพรบพิแทนท์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีกรดในกระเพาะอาหารมาก รู้สึกสับสน ปัสสาวะน้อย วิงเวียน ปากแห้ง เป็นลม แสบร้อนกลางอก สะอึก ชีพจรเต้นเร็ว ท้องอืด คลื่นไส้ ปวดท้อง น้ำหนักลด ช่องปากอักเสบหรือมีอาการบวม ผิวหนังมีรอยย่น ท้องผูก อ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้อะเพรบพิแทนท์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะเพรบพิแทนท์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาต่อไปนี้เช่น Pimozide, Terfenadine, Astemizole และ Cisapride
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กและผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนชนิดเรื้อรัง
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยานี้ควรใช้เพียงระยะสั้นๆภายในสถานพยาบาลเท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะเพรบพิแทนท์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณ และให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะเพรบพิแทนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะเพรบพิแทนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาอะเพรบพิแทนท์ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับยา Hydrocodone ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา Hydrocodone เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะกดการหายใจ (หายใจช้า ตื้น เบา จนอาจหยุดหายใจ) เป็นลมไปจนถึงขั้นโคม่า หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอะเพรบพิแทนท์ร่วมกับยา Fentanyl อาจทำให้ระดับยา Fentanyl ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยา Fentanyl ติดตามมาเช่น รู้สึกสับสน เป็นลม วิงเวียน ง่วงนอน หัวใจเต้นช้า เพื่อป้องกันอาการดังกล่าวแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอะเพรบพิแทนท์ร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Warfarin ด้อยลงไปจนทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดและเกิดอาการเช่น เจ็บหน้าอก ตาพร่า ปวดตามร่างกาย บวมตามแขน-ขา ซึ่งเหล่านี้เป็นอาการของหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาอะเพรบพิแทนท์ร่วมกับยา Lidocaine อาจทำให้ระดับยา Lidocaine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา Lidocaine ติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาอะเพรบพิแทนท์อย่างไร?

ควรเก็บยาอะเพรบพิแทนท์ในอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะเพรบพิแทนท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะเพรบพิแทนท์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Emend (อีเมนด์) MSD

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Aprepitant#Mechanism_of_action [2015,Nov7]
  2. http://www.drugs.com/dosage/emend.html [2015,Nov7]
  3. http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcmed.nsf/pages/CMI9116/$File/CMI9116.pdf [2015,Nov7]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Emend/?type=brief [2015,Nov7]
  5. http://www.drugs.com/emend.html [2015,Nov7]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/aprepitant,emend-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Nov7]