อะเซทิลไดจอกซิน (Acetyldigoxin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะเซทิลไดจอกซิน(Acetyldigoxin ชื่ออื่น คือ Alpha acetyldigoxin หรือ Beta acetyldigoxin) เป็นยาในกลุ่มคาร์ดิแอคไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside) และเป็นอนุพันธ์ของยาไดจอกซิน (Derivative of digoxin) ทางคลินิกนำมารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial fibrillation), ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure), ปัญหาของลิ้นหัวใจ/โรคลิ้นหัวใจ(Heart valve problems), รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 90% จากนั้น ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 20 – 30% ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 40 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ผลข้างเคียงที่พบเห็นได้จากยาอะเซทิลไดจอกซิน จะเป็นเรื่องอาการวิงเวียน และอ่อนแรง

ยาในกลุ่มคาร์ดิแอคไกลโคไซด์ที่รวมถึงยาอะเซทิลไดจอกซิน จัดว่าเป็นยาที่มีความแรง การใช้เพียงปริมาณเล็กน้อยก็สามารถทำให้ร่างกายตอบสนองต่อยาได้แล้ว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การใช้ยานี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

อะเซทิลไดจอกซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะเซทิลไดจอกซิน

ยาอะเซทิลไดจอกซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะหัวใจล้มเหลว, รวมถึงภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ

อะเซทิลไดจอกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะเซทิลไดจอกซินคือ ตัวยาจะช่วยเพิ่มแรงบีบตัวให้กับกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เพิ่มปริมาณเลือดออกจากหัวใจได้มากขึ้น และทำให้การเต้นของหัวใจอยู่ในจังหวะอย่างเหมาะสม ซึ่งจากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

อะเซทิลไดจอกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะเซทิลไดจอกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 200 ไมโครกรัม/เม็ด

อะเซทิลไดจอกซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะเซทิลไดจอกซินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 600 ไมโครกรัม โดยแบ่งเป็น 3 ครั้ง เป็นเวลา 2 วัน หรือรับประทานวันละ 200 – 300 ไมโครกรัม เป็นเวลา 4 วัน
  • เด็ก: การใช้ยานี้ รวมถึงขนาดรับประทานในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์ผู้รักษา จะพิจารณาปรับลดขนาดการใช้ยานี้ เป็นกรณีๆไป ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรคไต
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน พร้อม หรือ หลังอาหาร ก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะเซทิลไดจอกซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่นหรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะเซทิลไดจอกซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะเซทิลไดจอกซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาอะเซทิลไดจอกซิน ตรงเวลา

อะเซทิลไดจอกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะเซทิลไดจอกซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน ซึมเศร้า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดภาวะประสาทหลอน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะเต้านมโตขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้อะเซทิลไดจอกซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะเซทิลไดจอกซิน เช่น

  • ห้ามใช้ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หัวใจเต้นช้า ผู้ที่มีเกลือ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว ผู้ที่มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้รักษา
  • ใช้ยานี้ตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด หรืออาการกลับเลวลง ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะเซทิลไดจอกซิน) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะเซทิลไดจอกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะเซทิลไดจอกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะเซทิลไดจอกซินร่วมกับ ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์(Beta blocker), ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก, ยา Amphotericin B, Glucocorticoids, Salicylates, ด้วยจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาอะเซทิลไดจอกซินร่วมกับ ยาถ่านกัมมันต์, ยาลดกรด, ยา Cholestyramine, Kaolinpectin, NSAIDs, Sucralfate, Phenytoin, Metoclopramide, จะทำให้การดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารของยาอะเซทิลไดจอกซิน ลดลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาอะเซทิลไดจอกซินร่วมกับยากลุ่ม Sympathomimetics, Reserpine, TCA, Phosphodiesterase inhibitor, Noradrenaline, และ Dopamine, ด้วยจะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

ควรเก็บรักษาอะเซทิลไดจอกซินอย่างไร?

สามารถเก็บยาอะเซทิลไดจอกซินที่อุณหภูมิห้อง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะเซทิลไดจอกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะเซทิลไดจอกซิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
LANATILIN (ลาแนทิลิน)Pharmac Scient.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Betagoxin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Acetyldigoxin [2016, Oct22]
  2. https://www.sopharma.com/lanatilin.php [2016, Oct22]
  3. https://books.google.co.th/books?id=2HBPHmclMWIC&pg=PA706&lpg=PA706&dq=LANATILIN+manufacturing&source=bl&ots=VTFVWzbNYp&sig=ohEwO4RjR4vEY4lUjbIKXZI08kE&hl=th&sa=X&ved=0ahUKEwjAk7P_0MbPAhWLqI8KHWvTCjkQ6AEIGjAA#v=onepage&q=LANATILIN%20manufacturing&f=false [2016, Oct22]
  4. https://www.drugs.com/international/acetyldigoxin.html [2016, Oct22]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00511 [2016, Oct22]