อะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- อะเซตาโซลาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- อะเซตาโซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะเซตาโซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะเซตาโซลาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะเซตาโซลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะเซตาโซลาไมด์อย่างไร?
- อะเซตาโซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะเซตาโซลาไมด์อย่างไร?
- อะเซตาโซลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ต้อหิน (Glaucoma)
- โรคจากขึ้นที่สูง(Altitude sickness)
- โรคหัวใจล้มเหลว(Heart failure)
- โรคลมชัก(Epilepsy)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาอะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide) คือ ยาในกลุ่มยา คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ (Carbonic anhydrase inhibitor) ประโยชน์ที่วงการแพทย์นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย เช่น รักษา โรคต้อหิน, โรคลมชัก, โรคจากขึ้นที่สูง, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ, รูปแบบของยานี้ที่เป็นยาแผนปัจจุบันมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด
ยาอะเซตาโซลาไมด์สามารถดูดซึมได้เร็วพอประมาณจากทางเดินอาหารของมนุษย์ และมีระยะ เวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 8 - 12 ชั่วโมง หากเป็นยาฉีดระยะเวลาของการออกฤทธิ์จะลดลงมาเป็นประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง ตัวยาจะแทรกซึมอยู่ในเม็ดเลือดแดง ในไต และยังเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้มาก นอกจากนี้ตัวยายังสามารถผ่านเข้าไปในน้ำนมมารดาได้อีกด้วย ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประ มาณ 3 - 6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาอะเซตาโซลาไมด์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน คณะ กรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุวัตถุประสงค์ใช้เป็นยารักษาโรคต้อหิน ผู้ป่วยจะได้รับยานี้ต่อเมื่อมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น สิ่งที่พึงปฏิบัติคือ การรับประ ทานยาอย่างเคร่งครัดไม่หยุดหรือปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
อะเซตาโซลาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาอะเซตาโซลาไมด์มีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคต้อหินและช่วยบำบัดอาการโรคต้อหินก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- รักษาโรคลมชัก
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
- ป้องกันอาการโรคจากขึ้นที่สูง
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
อะเซตาโซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะเซตาโซลาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอน ไซม์คาร์บอนิก แอนไฮเดรส (Carbonic anhydrase) ซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวกลางสำคัญของกระบวนการรวมตัวของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดกับน้ำ ตลอดจนถึงกระบวนการเอาน้ำออกจากกรดคาร์บอนิก (Carbonic acid, สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแลกเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ของปอด) ที่อยู่ในกระแสเลือด จากกลไกเหล่านี้ทำให้มีการขับสารไบคาร์บอเนต (Bicarbonate, สภาพเป็นเกลือของกรดคาร์บอนิก) รวมถึงเกลือโซเดียมและเกลือโพแทสเซียมออกจากร่างกาย ซึ่งจากกลไกทั้งหมดเหล่านี้ทำให้ยาอะเซตาโซลาไมด์มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
อะเซตาโซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะเซตาโซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/ขวด
อะเซตาโซลาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะเซตาโซลาไมด์นำมาใช้รักษาโรคได้หลากหลายโรค ซึ่งจะมีวิธีและขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันในแต่ละโรค ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะยารับประทานในโรคต้อหิน เช่น
- สำหรับโรคต้อหิน (Open-angle glaucoma):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 250 – 1,000 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 1 เดือน - 12 ปี: รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 - 4 ครั้ง/วัน
- เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ขนาดรับประทานเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มอายุนี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะเซตาโซลาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะเซตาโซลาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะเซตาโซลาไมด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อะเซตาโซลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะเซตาโซลาไมด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการง่วงนอน
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- วิงเวียน
- กระหายน้ำ
- ปวดศีรษะ
- รู้สึกสับสน
- ซึมเศร้า
- ปวดเกร็ง/ปวดบีบในทางเดินอาหาร
- ปัสสาวะบ่อย
- มีภาวะกรดยูริคในกระแสเลือดสูง
- เกิดนิ่วในไต
- อาจเกิดพิษกับไตและตับส่งผลให้ทำงานผิดปกติ
- มีบ้างที่ก่อให้เกิดผื่นคันในผู้ป่วยบางราย
*อนึ่ง: อาการของผู้ที่ได้รับยาอะเซตาโซลาไมด์เกินขนาด เช่น มีภาวะเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเลือด และเกิดการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่างในเลือด การบำบัดรักษาคือ แพทย์ต้องให้การดูแลสมดุลของสารเกลือแร่และควบคุมภาวะของความเป็นกรด-ด่างในกระแสเลือดให้กลับมาเป็นปกติ
มีข้อควรระวังการใช้อะเซตาโซลาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ แพ้ยากลุ่ม Sulphonamides
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ร่างกายขาดเกลือโซเดียมและ/หรือขาดเกลือโพแทสเซียม
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ที่มีอวัยวะตับทำงานผิดปกติหรือเป็นโรคตับแข็ง, ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิด Chronic noncongestive angle-closure glaucoma} ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง, ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรคซีโอพีดี)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด (Hyperchloraemic acidosis อาการ เช่น หอบ สับสน)
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- การได้รับยานี้แพทย์อาจพิจารณาให้เกลือแร่โพแทสเซียมเสริมให้กับผู้ป่วยซึ่งต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีตับและ/หรือไตทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสมดุลของเกลือแร่ในเลือดด้วยการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ
- หากเป็นยาฉีดไม่แนะนำการฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อให้ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ
- ระหว่างใช้ยานี้ต้องระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยผล ข้างเคียงของยาที่อาจทำให้มีอาการง่วงนอนหรือวิงเวียนศีรษะจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะเซตาโซลาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะเซตาโซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะเซตาโซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์ ร่วมกับ ยาบางกลุ่ม เช่น Quinidine, Epridrine, Amphetamines, อาจทำให้ไตขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกายได้น้อยลงและส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์ ร่วมกับ ยาแก้ปวด เช่นยา Aspirin สามารถเกิดผลข้างเคียงติดตามมาดังนี้ เช่น มีเสียงกังวานในหู, ปวดหัว, คลื่นไส้-อาเจียน, วิงเวียน, สับสน, มีไข้, ประสาทหลอน, อาจมีอาการชัก, หายใจเร็วขึ้น, จนถึงขั้นโคม่า, หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์ ร่วมกับ ยา Salicylate อาจก่อให้เกิดพิษจาก Salicylate เพิ่มมากยิ่งขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์ ร่วมกับ ยา Corticosteroids และยาขับปัสสาวะประเภท Potassium - wasting diuretics อาจทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสูญเสียเกลือโพแทสเซียมได้มากยิ่งขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาอะเซตาโซลาไมด์ ร่วมกับ ยากันชักตัวอื่นๆอาจทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกที่เรียกว่า โรคกระดูกน่วม-กระดูกอ่อน(Osteomalacia) การใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ควรเก็บรักษาอะเซตาโซลาไมด์อย่างไร?
ทั้งยาอะเซตาโซลาไมด์ชนิดรับประทานและชนิดยาฉีด:
- สามารถเก็บในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อะเซตาโซลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะเซตาโซลาไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aceact (อะซีแอค) | Kaizen Drugs (P) Ltd. |
Acetamide (อะเซตาไมด์) | Micro Labs |
Acetamin (อะเซตามิน) | Times Drugs & Pharmaceuticals (P) Ltd. |
Acetariv (อะเซตารีฟ) | East African (l) Remedies Pvt Ltd |
Aceta-SR (อะเซตา-เอสอาร์) | Mmatrics Pharmaceuticals |
ACMox (แอคมอกซ์) | Optica Pharmaceuticals |
Actamid (แอคตามิด) | Jawa Pharmaceuticals (India) Pvt.Ltd. |
Actamide (แอคตาไมด์) | Micro Vision |
Actazid (แอคตาซิด) | Ortin Laboratories Ltd |
Awa (อะวา) | Intas Pharmaceuticals |
Axytex (อะไซเทกซ์) | Bionet India Pvt. Ltd. |
Diamox (ไดอะมอกซ์) | Pfizer |
Iopar-Sr (ไอโอพาร์-เอสอาร์) | FDC |
Medene (เมดิน) | Pharmaland |
Synomax (ซิโนแมกซ์) | Syntho Pharmaceuticals |
Zac (แซค) | Oscar Remedies Pvt. Ltd. |
Zolamide (โซลาไมด์) | Shalaks Pharmaceuticals Pvt. Ltd. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carbonic_anhydrase_inhibitor#Natural_sources [2021, March27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acetazolamide [2021, March27]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/diamox [2021, March27]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/acetazolamide?mtype=generic [2021, March27]
- https://www.rxlist.com/acetazolamide-injection-drug.htm [2021, March27]
- http://www.medindia.net/drug-price/acetazolamide.htm [2021, March27]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/acetazolamide-index.html?filter=3&generic_only= [2021, March27]