อะเซซัลเฟม โปแตสเซียม (Acesulfame potassium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 สิงหาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมอย่างไร?
- อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สารให้ความหวาน (Sweeteners) น้ำตาลเทียม (Artificial sweetener)
- น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol)
- หญ้าหวาน (Stevia)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ฟันผุ (Dental caries)
บทนำ
สารอะเซซัลเฟม โปแตสเซียม(Acesulfame potassium) หรือ อะเซซัลเฟม เค (Acesulfame K) หรือย่อว่า “Ace K” เป็นเกลือของสารประกอบที่ให้ความหวาน(สารให้ความหวาน)มากกว่าน้ำตาลถึง 200 เท่า ได้รับความนิยมใช้มากในแถบซีกโลกตะวันตก โดยมีการใช้สารเพิ่มความหวานชนิดนี้ประมาณ 90 ประเทศทั่วโลก อะเซซัลเฟมไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดฟันผุด้วยแบคทีเรียในช่องปากไม่สามารถย่อยสารชนิดนี้ได้ สารนี้ช่วยคงระดับของน้ำหนักตัวเนื่องจากเป็นสารที่ไม่ให้พลังงาน จึงถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การบริโภคประจำวัน(ADI, Acceptable daily intake )ของสารนี้ ที่รับรองโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(U.S. Food and Drug Administration, U.S. FDA) อยู่ที่ “15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน” ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้ประเมินถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคแล้ว
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียม ถูกค้นพบในกลางของศตวรรษที่ 20 และได้รับการขึ้นทะเบียนในการนำมาใช้บริโภคในปี ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีความคงตัวต่อความร้อน โครงสร้างทางเคมีสามารถทนต่อสภาวะกรดและด่างได้ในระดับกลางๆ ถูกใช้เป็นสารปรุงแต่งของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีความคงตัวและมีอายุการเก็บรักษาได้นาน
นอกจากการใช้เติมในผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว ยังพบว่าอุตสาหกรรมยาก็มีการใช้สารประกอบอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมนี้เช่นเดียวกัน โดยใช้ประกอบในสูตรยาเม็ดชนิดเคี้ยว และในยาน้ำ เป็นต้น
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียม สามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของร่างกายได้ ส่วนในด้านความปลอดภัย เคยมีนักวิจัยได้ศึกษา ใช้อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมกับสัตว์ทดลองพบว่า เกิดความเกี่ยวพันดังนี้คือ ร่างกายสัตว์ทดลองสามารถเผาผลาญอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมไปเป็นสารที่เรียกว่า Acetoacetamide ซึ่งสารนี้สามารถทำให้ต่อมไทรอยด์ของสัตว์ทดลองถูกทำลาย หรือการให้สารประกอบอะเซซัลเฟม กับหนูทดลองเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสมองของหนูตามมา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานพบการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะดังกล่าวในคน เมื่อบริโภคอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมตามข้อกำหนดของ ADI ซึ่งข้อมูลศึกษาดังกล่าวเป็นข่าวสารทางเลือกให้รับทราบถึงความปลอดภัยและแง่มุมการใช้/การบริโภคอะเซซัลเฟม โปแตสเซียม ดังนั้นการใช้สารนี้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ตรงตามที่คณะกรรมการอาหารและยายอมรับนั้น ย่อมเป็นการยืนยันความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้อะเซซัลเฟม โปแตสเซียม เท่าที่พบเห็น ได้แก่ ลูกกวาด ขนมหวาน ขนมปัง ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ น้ำเชื่อมและซอสต่างๆ เป็นต้น การรับประทานอาหารที่มีอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมหลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ร่างกายจะยังไม่ทันเผาผลาญ อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมก็จะถูกขับออกจากร่างกายไปทางปัสสาวะอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ อาจมีคำถาม ว่าอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าสารประกอบนี้ก่อให้เกิดมะเร็ง เนื่องจากข้อมูลสนับสนุนการใช้อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมกับมนุษย์/คนในระยะยาว ยังไม่มีการรายงานแต่อย่างใด
อนึ่ง นักวิชาการได้รวบรวมข้อมูลนานกว่า 15 ปี ไม่พบว่า อะเซซัลเฟมก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียม เป็นสารให้ความหวานที่ใช้เป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค โดยไม่ส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัว ด้วยเป็นสารที่ไม่ให้พลังงานกับร่างกาย ไม่ทำให้ฟันผุ และสามารถนำไปประยุกต์แต่งรสชาติอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานได้
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สารอะเซซัลเฟม โปแตสเซียม เป็นสารที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 เท่า โดยกลไกการออกฤทธิ์คือ สารนี้สามารถกระตุ้นต่อมรับรสที่ลิ้น ทำให้รู้สึกได้ถึงความหวาน
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารอะเซซัลเฟม โปแตสเซียม มีการจำหน่ายในรูปแบบ/ลักษณะของวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และยา ซึ่งขนาด/รูปแบบ จะแตกต่างกันไปตามประเภทการใช้งาน
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานอะเซซัลเฟม โปแตสเซียม ที่ใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา หรือใช้ขนาดตามที่ระบุในเอกสารของผลิตภัณฑ์ แต่ทั้งนี้ไม่ควรรับประทานสารประกอบ อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมนี้ มากกว่า 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
เนื่องจากอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมเป็นสารที่ดูดซึมเร็วและถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วซึ่งเมื่อใช้ภายใต้ขนาดการบริโภคตามค่า ADI ยังไม่มีรายงานที่พบผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อผู้บริโภค
มีข้อควรระวังการใช้อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้อะเซซัลเฟม โปแตสเซียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้สารนี้
- หากพบอาการแพ้สารนี้เกิดขึ้นจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบอะเซซัลเฟม โปแตสเซียม เช่น เกิดผื่นคัน หัวใจเต้นผิดปกติ หอบเหนื่อย/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- การบริโภคสารนี้ใน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็ก ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการซื้อบริโภคเสมอ
- ไม่ควรรับประทานอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมเกินหน่วยบริโภค(ADI)ที่กำหนด
- ห้ามใช้สาร/ผลิตภัณฑ์นี้ที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บสาร/ผลิตภัณฑ์นี้ที่หมดเอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร สารปรุงแต่งรสชาติต่างๆอย่างอะเซซัลเฟม โปแตสเซียม ด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆดังกล่าวอาจมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาหรือสารปรุงแต่งรสต่างๆทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ควรเก็บรักษาอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมอย่างไร?
ควรเก็บอะเซซัลเฟม โปแตสเซียมในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และควรเก็บตามข้อกำหนดที่ระบุมากับเอกสารของผลิตภัณฑ์ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
อะเซซัลเฟม โปแตสเซียม ที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Sunett (ซันเนท) | Nutrinova |
อนึ่ง ชื่อการค้าของสารนี้ ในต่างประเทศ เช่น Sweet One
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/inactive/acesulfame-potassium-25.html [2016,July23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acesulfame_potassium [2016,July23]
- http://www.sweetpoison.com/aspartame-sweeteners.html [2016,July23]
- http://www.healthline.com/health/is-acesulfame-potassium-bad-for-me#3 [2016,July23]
- http://www.nutritionexpress.com/article+index/vitamins+supplements+a-z/showarticle.aspx?id=120 [2016,July23]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/the_sunett_guide_sweetness.pdf [2016,July23]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/Sunett-Food-and-Pharma-Quality-information-pack.pdf [2016,July23]
- http://www.fda.gov/Food/IngredientsPackagingLabeling/FoodAdditivesIngredients/ucm397725.htm#AceK [2016,July23]