อะลาซีพริล (Alacepril)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะลาซีพริล(Alacepril) เป็นยาลดความดันโลหิตสูงในกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACE inhibitor) ยาชนิดนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1978(พ.ศ.2521) อีก 10 ปีต่อมาจึงวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอะลาซีพริล เป็นยาชนิดรับประทาน เมื่อเข้าสู่ร่างกายตัวยาจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารประกอบ 2 ชนิด ได้แก่ Desacetylalacepril และ Captopril ซึ่งทั้งคู่มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต

จากการศึกษาทางคลินิกโดยใช้ยานี้ขนาด 25 มิลลิกรัม กับผู้ป่วย 7 คน ทำให้ความดันโลหิตลดลงเฉลี่ย 18 มิลลิเมตรปรอทเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง การศึกษาทางคลินิกยังพบว่า การใช้ยาอะลาซีพริลขนาด 25–75 มิลลิกรัมทุกวันโดยแบ่งการให้ยาเป็นวันละ 2 ครั้ง ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต หรือต่อระดับไขมันในเลือดแต่อย่างใดทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ ตัวยาอะลาซีพริลยังก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ไอแห้งๆได้น้อยกว่า ACE inhibitor ตัวอื่นด้วยเช่นกัน

ยาอะลาซีพริล ยังไม่มีการใช้ในไทยหรือกับประเทศเพื่อนบ้านเท่าใดนัก แต่จะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

อะลาซีพริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะลาซีพริล

ข้อบ่งใช้/สรรพคุณของยาอะลาซีพริล:

  • ใช้ลดความดันโลหิตสูงชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน (Essential hypertension)

อะลาซีพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะลาซีพริลเป็นยาในกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme inhibitor ตัวยาจะยับยั้งการเปลี่ยนสารเคมี Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II ส่งผลลดความต้านทานในหลอดเลือดแดงฝอย และยังทำให้ปริมาตรเลือดที่ออกจากหัวใจลดลง นอกจากนี้ยังมี ผลเพิ่มการขับออกของเกลือโซเดียมออกนอกร่างกายทางปัสสาวะ จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ตามสรรพคุณ

อะลาซีพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของ ยาอะลาซีพริล:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Alacepril 12.5, 2.5 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด

อะลาซีพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะลาซีพริลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยานี้ขนาด 25–75 มิลลิกรัม/วัน หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก:ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนใน ประสิทธิผล, ผลข้างเคียง, และขนาดยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะลาซีพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะลาซีพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทาน ยาอะลาซีพริล สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

อะลาซีพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะลาซีพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง/ โรคซีด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด:เช่น ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้อะลาซีพริลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะลาซีพริล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • การรับประทานยาอะลาซีพริลร่วมกับยาใดๆ ควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิดเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เกิดอาการไอถี่ๆ ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ตรวจวัดความดันโลหิตขณะที่อยู่ในที่พักอาศัยเป็นประจำ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะลาซีพริลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะลาซีพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

อะลาซีพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะลาซีพริลร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงชนิดอื่นๆ อย่างเช่น Losartan, Candesartan, ด้วยจะก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้ามใช้ยาอะลาซีพริลร่วมกับ ยาAmiloride เพราะจะทำให้ระดับเกลือโพแทสเซียม ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และส่งผลทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติตามมา
  • ห้ามใช้ยาอะลาซีพริลร่วมกับ ยาPotassium citrate, Potasstium chloride, Potassium gluconate, ด้วยจะทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจส่งผล ให้เกิดภาวะไตวาย, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, หัวใจเต้นผิดปกติ, หรือหัวใจหยุดเต้น ตามมา

ควรเก็บรักษาอะลาซีพริลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอะลาซีพริล เช่น

  • สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

อะลาซีพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะลาซีพริล มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cetapril (เซตาพริล)Dainippon Sumitomo Pharma, Japan

บรรณานุกรม

  1. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1111/j.1527-3466.1992.tb00238.x[2019,Aug17]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18360015[2019,Aug17]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/ACE_inhibitor#Mechanism_of_action[2019,Aug17]
  4. https://www.yg-nissin.co.jp/products/PDF/4106_i1.pdf[2019,Aug17]
  5. https://www.drugs.com/international/alacepril.html[2019,Aug17]
  6. https://www.ndrugs.com/?s=alacepril&t=side%20effects [2019,Aug17]
  7. http://www.rad-ar.or.jp/siori/english/kekka.cgi?n=1057[2019,Aug17]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/captopril-index.html?filter=3[2019,Aug17]