อะมิโลไรด์ (Amiloride)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ :คือยาอะไร?

อะมิโลไรด์ (Amiloride) คือ ยาขับปัสสาวะ ที่แพทย์นำมาใช้รักษาอาการบวมน้ำ, โรคความดันโลหิตสูง, รวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเป็นยาชนิดที่ทำให้ร่างกายลดปริมาณน้ำและเกลือโซเดียมออกจากกระแสเลือด ซึ่งผ่านกระบวนการกรองที่ไตและขับออกมากับปัสสาวะ แต่ไม่เร่งการขับออกของเกลือโพแทสเซียม (Potassium - sparing diuretics)

หลังการรับประทาน ยาอะมิโลไรด์จะมีการดูดซึมของยาเข้าสู่กระแสเลือด และยาจะไม่ถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีแต่อย่างใด ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 6 - 9 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกจัดให้อะมิโลไรด์เป็นหนึ่งในรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุม ชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาอะมิโลไรด์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุมีส่วนผสมร่วมกับยาขับปัสสาวะอีกตัวชื่อ ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/Hydrochlorothiazide (Amiloride hydrochloride 5 มิลลิกรัม + Hydrochlorothiazide/ HCTZ 50 มิลลิกรัม)

*อนึ่ง: ความเสี่ยงสำคัญในการใช้ยาตัวนี้ มีอยู่ประการหนึ่งที่ควรระวัง คือ

  • เกิดภาวะเกลือ โพแทสเซียมในเลือดสูง(Hyperkalemia) โดยจะแสดงออกทางอาการ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชีพจรเต้นผิดปกติ เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตลอดจนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้นการใช้ยาอะมิโลไรด์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยจึงควรต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

อะมิโลไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

อะมิโลไรด์

ยาอะมิโลไรด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • เป็นยาขับปัสสาวะเพื่อลดอาการบวมน้ำของร่างกาย (Oedema)
  • รักษาโรคท้องมาน (Ascites)
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • รักษาโรค/ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure)

อะมิโลไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะมิโลไรด์เป็นยาขับปัสสาวะที่มีฤทธิ์ต่ำ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ผ่านทางไต โดยเพิ่มการขับน้ำและเกลือโซเดียมออกจากกระแสเลือด แต่ลดการขับออกของเกลือโพแทสเซียม ด้วยกลไกดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

อะมิโลไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร

ยาอะมิโลไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด ชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ด ชนิดผสมร่วมกับยาขับปัสสาวะตัวอื่นคือ Amiloride HCl 5 มิลลิกรัม + Hydrochlo rothiazide 50 มิลลิกรัม/เม็ด

อะมิโลไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะมิโลไรด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับอาการบวมน้ำ (Oedema): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 5 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ในช่วง 5 - 10 มิลลิกรัม/วัน

ข. สำหรับโรคท้องมาน (Ascites): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 5 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ในช่วง 5 - 10 มิลลิกรัม/วัน

ค. สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 5 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ในช่วง 5 - 10 มิลลิกรัม/วัน

ง. สำหรับโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 5 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ในช่วง 5 - 10 มิลลิกรัม/วัน

จ. ขนาดการใช้ยาในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ทั่วไปคำนวณขนาดการใช้ยากับเด็กโดยใช้เกณฑ์น้ำหนักตัวเด็ก เช่น น้ำหนักตัวประมาณ 6 -20 กิโลกรัมรับประทาน 0.625 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน อย่างไรก็ตามแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาขนาดการใช้ยาในเด็กตามความเหมาะสมกับอาการโรค อายุ และน้ำหนักตัวของเด็กเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ พร้อมอาหาร เพื่อให้ตัวยาได้รับการดูดซึมที่ดีจากระบบทางเดินอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะมิโลไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมิโลไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน ยาอะมิโลไรด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อะมิโลไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาอะมิโลไรด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินปกติ (ดังกล่าวแล้วใน บทนำ)
  • มีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
  • ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร
  • หิวกระหายน้ำ
  • วิงเวียน
  • ผื่นคัน
  • อ่อนเพลีย
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • ปวดหัว
  • ความดันโลหิตต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้อะมิโลไรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิโลไรด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง (ตรวจพบจากการตรวจเลือด)
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรเฝ้าระวังปริมาณเกลือแร่ต่างๆในเลือด โดยต้องควบคุมให้อยู่ในภาวะปกติ (แพทย์จะตรวจเลือดดูปริมาณเกลือแร่ของผู้ป่วยเป็นระยะตามดุลพินิจของแพทย์)
  • ระวังการใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้สูงอายุ การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานและต้องหยุดการใช้ยาอย่างน้อย 3 วันก่อนเข้ารับการตรวจปริมาณน้ำตาลในเลือด (Glucose – tolerance tests) เนื่องจากยานี้จะมีผลให้น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะมิโลไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะมิโลไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะมิโลไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะมิโลไรด์ ร่วมกับยาที่เพิ่มประมาณเกลือโพแทสเซียมในร่างกาย เช่น ยา Potassium chloride, ยาขับปัสสาวะชนิดที่ไม่ขับเกลือโพแทสเซียมที่นอกเหนือจากยาอะมิโลไรด์ (เช่น ยา Spironolactone), ยากลุ่ม ACE inhibitors, ยากลุ่ม Angiotensin II receptor antagonists , สามารถก่อให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินปกติได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาอะมิโลไรด์ร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว
  • การใช้ยาอะมิโลไรด์ ร่วมกับ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด์ (NSAIDs), ยา Cyclosporin, และ ยาลดความดัน บางตัว เช่น ยาในกลุ่มยา ACE inhibitors, อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นพิษกับไต หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาอะมิโลไรด์ ร่วมกับ ยากลุ่มไทอะไซด์ (Thiazides) หรือยา Chlorpropamide (ยาเบาหวานชนิด 2) สามารถทำให้เกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำอย่างรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกัน
  • การใช้ยาอะมิโลไรด์ ร่วมกับ ยา Carbenoxolone (ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ) อาจทำให้ฤทธิ์ในการสมานแผลของยา Carbenoxolone ด้อยประสิทธิภาพลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษาอะมิโลไรด์อย่างไร?

ควรเก็บยาอะมิโลไรด์: เช่น

  • เก็บในที่เย็นหรือในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะมิโลไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะมิโลไรด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amilozide (อะมิโลไซด์)T.O. Chemicals
Amiloride hydrochloride Actavis (อะมิโลไรด์ ไฮโดรคลอไรด์ แอคทาวิส)Actavis
Bilduretic (บิลดูเรติค)Bangkok Lab & Cosmetic
Buretic (บูเรติค)BJ Benjaosoth
Hydrozide Plus (ไฮโดรไซด์ พลัส)Medicine Products
Hyperretic (ไฮเปอร์เรติค)Central Poly Trading
Meditic (เมดิติค)Medicpharma
Miduret (มิดูเรท)P P Lab
Minitic (มินิติค)T. Man Pharma
Miretic (มิเรติค)Utopian
Modupac (โมดูแพ็ค)Inpac Pharma
Moduretic (โมดูเรติค)M & H Manufacturing
Mourinate (โมยูริเนท)Charoon Bhesaj
MIDAMOR (ไมดามอร์)Paddock Laboratories Inc
Poli-Uretic (โพลี-ยูเรติค)Polipharm

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Amiloride#Formulations_and_trade_names[2021,Sept11]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/amiloride?mtype=generic [2021,Sept11]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/amilozide[2021,Sept11]
  4. https://www.mims.com/Singapore/Drug/info/Amiloride%20hydrochloride%20Actavis/ [2021,Sept11]
  5. https://www.drugs.com/mtm/midamor.html [2021,Sept11]
  6. https://www.drugs.com/mtm/amiloride.html [2021,Sept11]
  7. https://www.drugs.com/monograph/amiloride.html [2021,Sept11]