อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาอะมิโนฟิลลีน (Aminophylline) คือ ยาขยายหลอดลมที่มีองค์ประกอบของสารเคมี 2 ตัวคือ สารที่เป็นตัวยา Theophylline และ สารที่เป็นส่วนประกอบคือ Ethylenediamine ในอัตราส่วน 2 : 1

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอะมิโนฟิลลีนมีทั้งชนิดยารับประทานและยาฉีด การรับประ ทานยานี้พร้อมอาหารจะทำให้การดูดซึมของอะมิโนฟิลลีนลดลง ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 60% และตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ยานี้สามารถผ่านรกและเข้าน้ำนมของมารดาได้ จึงต้องระวังการใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และร่างกายมนุษย์ต้องใช้เวลาประมาณ 7 - 9 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ 50% ออกจากกระแสเลือด โดยส่วนใหญ่กำจัดผ่านออกทางไตไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาอะมิโนฟิลลีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นยาขยายหลอดลม และจัดให้ยานี้อยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้จำเป็นต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยหรือผู้บริโภคไม่สมควรไปซื้อหายานี้มารับประทานเอง

อะมิโนฟิลลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

อะมิโนฟิลลีน

ยาอะมิโนฟิลลีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้เป็นยาขยายหลอดลม ช่วยรักษาอาการจากหลายโรคที่มีผลให้หลอดลมตีบแคบ เช่น
    • โรคหืด (Asthma)
    • โรคหลอดลมอักเสบ
    • โรคถุงลมโป่งพอง
    • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี

อะมิโนฟิลลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมิโนฟิลลีนคือ ตัวยา Theophylline จะทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดลมคลายตัว สำหรับสาร Ethylenediamine ไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อหลอดลม แต่จะช่วยเพิ่มการละลายในน้ำของ Theophylline จึงทำให้ออกฤทธิ์ได้ดียิ่งขึ้น จากกลไกเหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

อะมิโนฟิลลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะมิโนฟิลลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 250 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร

อะมิโนฟิลลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะมิโนฟิลลีนมีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่ 225 - 450 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น และแพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดยาตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) อายุมากกว่า 3 ปี: เริ่มต้นรับประทาน 12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน จากนั้น 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 24 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันตามการตอบสนองต่อยาของเด็กโดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: เด็กกลุ่มนี้พบโรคที่จะก่อให้เกิดการหดตีบของหลอดลมได้น้อย จึงไม่มีข้อมูลการใช้ยาและขนาดยานี้ที่ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • ผู้สูงอายุ: แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานยานี้ตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย

*****หมายเหตุ:

  • ควรรับประทานยาอะมิโนฟิลลีนช่วงท้องว่าง (ก่อนรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง)
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะมิโนฟิลลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมิโนฟิลลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะมิโนฟิลลีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อะมิโนฟิลลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะมิโนฟิลลีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • ปวดหัว
  • นอนไม่หลับ
  • วิงเวียน
  • วิตกกังวล
  • กระสับกระส่าย
  • มีอาการสั่น มือสั่น ตัวสั่น
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ

*สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด สามารถพบอาการอาเจียนบ่อย กระหายน้ำมาก มีไข้ต่ำๆ ชีพจรและหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากพบอาการดังกล่าวต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบด่วนพาผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยการรักษาตามอาการ และหากจำเป็นอาจต้องให้สารเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ (น้ำเกลือ) กับผู้ป่วยร่วมด้วย

มีข้อควรระวังการใช้อะมิโนฟิลลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิโนฟิลลีนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับ เด็กทารก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคหัวใจ ผู้ป่วยด้วยแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้, ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง/ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคลมชัก, และผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะมิโนฟิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะมิโนฟิลลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะมิโนฟิลลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาอะมิโนฟิลลีน ร่วมกับ ยาลดความดัน บางตัว เช่นยา Acebutolol, Atenolol, Meto prolol, Propranolol อาจทำให้ฤทธิ์ของยาลดความดันฯเหล่านี้ด้อยประสิทธิภาพลงไป อีกทั้งยังเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ของยาอะมิโนฟิลลีนอีกด้วย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอะมิโนฟิลลีน ร่วมกับยา Bupropion (ยาเลิกบุหรี่, ยาต้านซึมเศร้า), Tramadol, อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการชักขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาร่วมกันในผู้สูงอายุ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • การใช้ยาอะมิโนฟิลลีน ร่วมกับ ยา Hydrocortisone อาจก่อให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (อาการเช่น เป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ) อีกทั้งยังทำให้ระดับยาอะมิโนฟิลลีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้ผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาอะมิโนฟิลลีน ร่วมกับ ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะบางตัวเช่นยา Doxycycline, และTetracycline อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาอะมิโนฟิลลีนมากยิ่งขึ้น การใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาอะมิโนฟิลลีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาอะมิโนฟิลลีน:

  • เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในตู้แช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อะมิโนฟิลลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะมิโนฟิลลีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amino Patar (อะมิโน พาตาร์) Patar Lab
Aminophylline A.N.H. (อะมิโนฟิลลีน เอ.เอ็น.เฮช) A N H Products
Aminophylline Atlantic (อะมิโนฟิลลีน แอตแลนติก) Atlantic Lab
Aminophylline Greater Pharma (อะมิโนฟิลลีน เกรทเตอร์ ฟาร์มา) Greater Pharma
Aminophylline Union Drug (อะมิโนฟิลลีน ยูเนียน ดรัก) Union Drug

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Aminophylline [2021,April10]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Aminophylline%20Atlantic/?type=brief[2021,April10]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/aminophylline%20atlantic [2021,April10]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/aminophylline-index.html?filter=3&generic_only= [2021,April10]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/aminophylline-index.html?filter=2&generic_only= [2021,April10]
  6. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601015.html#storage-conditions [2021,April10]