อะมัยลิน แอนะล็อก (Amylin analogues)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- อะมัยลิน แอนะล็อก มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะมัยลิน แอนะล็อก มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะมัยลิน แอนะล็อก มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะมัยลิน แอนะล็อก มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหรือไม่ได้รับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- อะมัยลิน แอนะล็อก มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะมัยลิน แอนะล็อก อย่างไร?
- อะมัยลิน แอนะล็อก มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะมัยลิน แอนะล็อก อย่างไร?
- อะมัยลิน แอนะล็อก มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
- ยาเบาหวาน
บทนำ
อะมัยลิน (Amylin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยตับอ่อนและถูกตับอ่อนปลดปล่อยในเวลาเดียวกับฮอร์โมนอินซูลิน(Insulin) แต่มีปริมาณเพียงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับอินซูลิน อะมัยลินช่วยลดการปลดปล่อยฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) และชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากระบบทางเดินอาหาร จึงมีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ “ยาอะมัยลิน แอนะล็อก(Amylin analogues) หรือ ยาอะมัยลิน” เป็นหมวดยาสังเคราะห์ที่เรียนแบบฮอร์โมนอะมัยลินนั่นเอง ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ 1 และที่ 2 มักใช้ร่วมกับยาอินซูลินในการรักษาโรคเบาหวาน ยาอะมัยลิน ช่วยทำให้ผู้ป่วยใช้ยาอินซูลินน้อยลง ตัวอย่างยาแผนปัจจุบันที่มีจำหน่ายของยาอะมัยลิน ในยาชื่อสามัญ ว่า “Pramlintide หรือ Pramlintide acetate” โดยมีลักษณะผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด
ผลข้างเคียงจากการได้รับ ยาอะมัยลิน แอนะล็อก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน น้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นต้น
ข้อจำกัดบางประการที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหมวดอะมัยลิน กับผู้ป่วยเบาหวาน อาทิ เช่น
- เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอะมัยลิน แอนะล็อก
- เป็นผู้ป่วยในภาวะ Gastroparesis คือภาวะที่กระเพาะอาหาร และ/หรือลำไส้เล็กส่วนต้นทำงานลดลง
- เป็นผู้ป่วยทีไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ รวมถึงผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ต้องงดอาหาร
- เป็นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร
ด้วยเป็นรูปแบบของยาฉีด เราจึงมักจะพบเห็นการใช้ยาอะมัยลิน นี้แต่ในสถานพยาบาล ซึ่งหลังการให้ยานี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกรอย่างเคร่งครัด เช่น การควบคุมปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลต่างๆตามร่างกาย รวมถึงเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลตนเองเมื่อมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน)
อะมัยลิน แอนะล็อก มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยา อะมัยลิน แอนะล็อก มีสรรพคุณรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 และที่ 2
อะมัยลิน แอนะล็อก มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมัยลิน แอนะล็อกคือ ตัวยาจะรบกวนการปลดปล่อยฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) จากตับอ่อน และช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากระบบทางเดินอาหาร จึงมีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ จากกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
อะมัยลิน แอนะล็อก มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะมัยลิน แอนะล็อก มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดที่ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
อะมัยลิน แอนะล็อก มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาอะมัยลิน ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นกับประเภทของโรคเบาหวานที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และการใช้ยาอื่นๆ เช่น อาจต้องใช้ร่วมกับยาInsulin ดังนั้น การใช้ยานี้ จึงมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละผู้ป่วย จึงขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะมัยลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น กระเพาะอาหาร-ลำไส้ไม่ทำงาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมัยลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหรือไม่ได้รับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมหรือไม่ได้รับการฉีดยาอะมัยลิน ต้องรีบติดต่อโรงพยาบาล เพื่อขอคำแนะนำจาก แพทย์ หรือ พยาบาล และควรต้องปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด
อะมัยลิน แอนะล็อก มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะมัยลิน แอนะล็อก สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น คลื่นไส้ น้ำตาลในเลือดต่ำ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง น้ำหนักตัวลด และอ่อนแรง
มีข้อควรระวังการใช้ อะมัยลิน แอนะล็อก อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยา อะมัยลิน แอนะล็อก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคกระพาะอาหารและลำไส้ไม่ทำงาน
- ห้ามใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ไตทำงานผิดปกติ
- มาพบแพทย์ตามที่นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มอะมัยลิน แอนะล็อก ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะมัยลิน แอนะล็อก มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะมัยลิน แอนะล็อก มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะมัยลิน แอนะล็อก ร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา
- การใช้ยาอะมัยลิน แอนะล็อกร่วมกับยา Hydrocortisone อาจจะทำให้ประสิทธิภาพของยาอะมัยลิน แอนะล็อกด้อยลงไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะมัยลิน แอนะล็อก ร่วมกับยา Hyoscyamine และยา Methscopolamine(ยาลดกรด) ด้วยจะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวช้าลง ส่งผลลดการดูดซึมของสารอาหาร และทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาอะมัยลิน แอนะล็อก อย่างไร?
ควรต้องเก็บยาอะมัยลินภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะมัยลิน แอนะล็อก มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะมัยลิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Symlin (ซิมลิน) | Amylin Pharmaceuticals, Inc. |
อนุ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น SymlinPen
บรรณานุกรม
- http://www.diabetes.co.uk/Diabetes-drugs.html#amylin [2016,Oct1]
- http://specialty.mims.com/disease/diabetes%20mellitus/treatment [2016,Oct1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pramlintide [2016,Oct1]
- http://www.medicinenet.com/pramlintide/page2.html [2016,Oct1]
- http://www.fda.gov/downloads/Drugs/DrugSafety/ucm089141.pdf [2016,Oct1]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/pramlintide,symlin-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Oct1]