อะมอร์โรลฟีน (Amorolfine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะมอร์โรลฟีน(Amorolfine หรือ Amorolfin หรือ Amorolfine hydrochloride หรือ Amorolfine HCl)เป็นยารักษาโรคเชื้อราที่เกิดบริเวณเล็บมือ-เล็บเท้า(เชื้อราที่เล็บ) ซึ่งอาจเกิดจากการลุกลามจากเชื้อราที่ผิวหนังเข้าสู่เล็บของผู้ป่วยนั่นเอง การติดเชื้อราที่เล็บจะทำให้เล็บมีลักษณะหนาตัว สีซีดจางจนถึงขั้นทำให้เจ็บปวดได้ การใช้ยาต้านเชื้อราแบบยาครีมหรือยาขี้ผึ้งทาเล็บ มักจะไม่เกิดผลดีเท่าใดนักด้วยเกิดปัญหาการแทรกซึมของตัวยาผ่านเข้าทางเล็บทำได้ยากนั่นเอง แพทย์จะต้องใช้ยาต้านเชื้อราแบบรับประทานโดยให้ตัวยาแทรกซึมผ่านไปทางกระแสเลือด แต่ก็มีข้อเสียของยาประเภทรับประทานคือทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาได้มาก อีกหนึ่งทางเลือกคือยาต้านเชื้อราอะมอร์โรลฟีนที่ มีลักษณะเป็นยาทาเคลือบเล็บ(Nail lacquer) แต่ต้องใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน เช่นใช้รักษาการติดเชื้อราที่เล็บนิ้วมืออาจกินเวลาถึง 6 เดือน และอาจใช้เวลาถึง 1 ปีเพื่อรักษาการ ติดเชื้อราที่เล็บเท้า

ก่อนการใช้ยาอะมอร์โรลฟีนทาเล็บ แพทย์จะสั่งให้ทำการตะไบเล็บดังกล่าวให้อยู่ในรูปทรงที่เหมาะสมต่อการทายา และห้ามใช้ตะไบดังกล่าวมาตะไบเล็บที่ปกติ ด้วยจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนและติดเชื้อราตามมา หลังการทายานี้บริเวณเล็บที่ติดเชื้อราแล้ว ให้ปล่อยทิ้งยาให้แห้งติดกับเล็บ ไม่ต้องเช็ดยาออก ควรรักษาจนกระทั่งเล็บมีการงอกใหม่ขึ้นมาสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อราที่เล็บก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก การดูแลสุขลักษณะของเล็บจะช่วยป้องกันมิให้กลับมาเป็นซ้ำ

มีคำเตือนที่พึงใส่ใจและระวังเมื่อต้องใช้ยาอะมอร์โรลฟีน ดังนี้ เช่น

  • ยานี้ใช้เฉพาะกับเล็บมือ-เล็บเท้าที่ติดเชื้อราเท่านั้น ห้ามนำไปใช้ทาบริเวณอื่นของร่างกาย
  • ห้ามมิให้ยานี้ เข้าตา เข้าปาก-จมูก อวัยวะเพศ ทวารหนัก
  • ทิ้งตะไบเล็บที่ใช้กับเล็บที่ติดเชื้อราเพื่อป้องกันการนำมาใช้กับเล็บที่ปกติ ด้วยอาจเกิดการปนเปื้อนจนเป็นเหตุให้เล็บที่ปกติติดเชื้อราขึ้นได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทาเล็บทาร่วมกับยาอะมอร์โรลฟีน ด้วยจะรบกวนการ ออกฤทธิ์ของยาอะมอร์โรลฟีน
  • หลีกเลี่ยงมิให้เล็บที่ทายาอะมอร์โรลฟีนสัมผัสกับตัวทำละลายประเภททินเนอร์ หรือแอลกอฮอล์ ด้วยตัวทำละลายเหล่านี้จะชะล้างยาอะมอร์โรลฟีนออกจากเล็บ
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างสูง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดูดซึมตัวยานี้เข้าร่างกายและถูกส่งผ่านไปถึงทารก การใช้ยาอะมอร์โรลฟีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • อาจเกิดอาการข้างเคียงบริเวณผิวหนัง/เล็บที่สัมผัสกับยานี้หรือไม่ก็ได้ เช่น รู้สึกแสบคัน สีของเล็บซีดจาง อาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญ แต่มิได้ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด
  • ยานี้ใช้รักษาการติด เชื้อรา ยีสต์(Yeasts) รวมถึง โมลด์(Molds,เชื้อราที่มักขึ้นตามอาหาร และมีสีต่างๆให้เห็นได้ เช่น เขียว เหลือง) ห้ามนำไปใช้รักษาการติดเชื้อของผิวหนังที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาอะมอร์โรลฟีนเป็นยาใช้ภายนอกประเภทยาควบคุมพิเศษ การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และในบ้านเราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Loceryl”

อะมอร์โรลฟีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะมอร์โรลฟีน

ยาอะมอร์โรลฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อราในบริเวณเล็บมือ-เล็บเท้า โดยมีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อราชนิดต่างๆ ดังนี้ เช่น

  • เชื้อรากลุ่ม Dermatophytes (เชื้อราชนิดต้องใช้สาร Keratin เพื่อการเจริญเติบโต): เช่น Trichophyton, Microsporum, Epidermophyton
  • เชื้อรากลุ่ม Yeasts: เช่น Candida, Malassezia หรือ Pityrosporum, Cryptococcus
  • เชื้อรากลุ่ม Molds: เช่น Alternaria, Hendersonula, Scopulariopsis, Scytalidium, Aspergillus
  • เชื้อรากลุ่ม Dimorphic Fungi (เชื้อราที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ Mold): เช่น Coccidioides, Histoplasma, Sporothrix

อะมอร์โรลฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะมอร์โรลฟีน มีกลไกการออกฤทธิ์ฆ่าและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราโดยลดการสังเคราะห์สารประเภท Ergosterol ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา จากกลไกนี้ ทำให้ปัจจัยในการดำรงชีวิต การขยายพันธุ์ รวมถึงการเจริญเติบโตของเชื้อราถูกจำกัด และเป็นผลให้เชื้อราตายลงในที่สุด

อะมอร์โรลฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะมอร์โรลฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาน้ำชนิดทาเล็บ โดยมีส่วนประกอบของตัวยา Amorolfine HCl เข้มข้น 5%

อะมอร์โรลฟีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอะมอร์โรลฟีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป:

- ตะไบตกแต่งเล็บที่ติดเชื้อราให้มีรูปทรงที่เหมาะสมต่อการทายาโดยเป็น ไปตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร

- ทำความสะอาดเล็บที่ต้องการทายา โดยใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด ชำระคราบไขมันบริเวณเล็บที่ติดเชื้อราดังกล่าว

- ใช้อุปกรณ์สำหรับทายา ป้ายตัวยา และทายาบนเล็บที่ติดเชื้อราให้ครอบคลุมถึงโคนเล็บ

- หลังการป้ายยา ให้ทิ้งเวลา 3–5 นาที จนกระทั่งยาแห้งติดกับเล็บ

- ความถี่ของการทายาเพียง 1–2 ครั้ง/สัปดาห์ตามคำสั่งแพทย์

  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้กับเล็บนิ้วมือต้องใช้เวลารักษาถึงประมาณ 6 เดือน ขณะที่เล็บเท้าต้องใช้เวลารักษานานประมาณ 9–12 เดือน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะมอร์โรลฟีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาอะมอร์โรลฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ลืมทายาอะมอร์โรลฟีน สามารถทายานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ทายาในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การใช้ยาอะมอร์โรลฟีนอย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น จึงจะทำให้อาการเชื้อราที่เล็บดีขึ้นเป็นลำดับ

อะมอร์โรลฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะมอร์โรลฟีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น แสบคันบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยา ทำให้เล็บมีสีซีดจางจนถึงขั้นเล็บปริแตกแต่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก

มีข้อควรระวังการใช้อะมอร์โรลฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมอร์โรลฟีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง ให้ใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ห้ามใช้ยานี้บำบัดการติดเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนัง
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จะต้องเป็นไปตาม ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะมอร์โรลฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะมอร์โรลฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะมอร์โรลฟีนเป็นยาทาเล็บที่ใช้ภายนอก จึงยังไม่พบข้อมูลทางคลินิกว่า ยานี้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาอะมอร์โรลฟีนอย่างไร?

โดยทั่วไปยาอะมอร์โรลฟีนจะมีอายุการเก็บได้นาน 3 ปี หลังวันที่ผลิต ซึ่ง ควรเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อะมอร์โรลฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะมอร์โรลฟีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Loceryl (โลเซริล)Galderma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Amorolfine[2017,July1]
  2. https://patient.info/medicine/amorolfine-for-fungal-nail-infections-locerylloceryl-curanail-omicur[2017,July1]
  3. https://www.drugs.com/uk/amorolfine-5-w-v-medicated-nail-lacquer-leaflet.html[2017,July1]
  4. http://www.netdoctor.co.uk/medicines/skin-and-hair/a7023/loceryl-nail-lacquer-amorolfine/[2017,July1]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/loceryl/?type=brief[2017,July1]