อะพิซาแบน (Apixaban)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะพิซาแบน(Apixaban)เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด(Anticoagulants) ทางคลินิกได้นำมาใช้รักษาภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดดำ(Venous thromboembolic events) ยานี้ได้รับรองการใช้ในยุโรปเมื่อปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) และ 2 ปีต่อมาก็ถูกนำมาใช้ในอเมริกา โดยใช้เป็นยาป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอด/หลอดเลือดดำขอด และภาวะหลอดเลือดแดงในปอดอุดตัน ปัจจุบันยาอะพิซาแบนยังใช้บำบัดอาการในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอีกด้วย ซึ่งโดยทั่วไป อดีตจนถึงปัจจุบันแพทย์มักจะใช้ยา Warfarin เป็นยาบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยต้อง ทำการตรวจเลือดเพื่อดูระยะเวลาที่ใช้ในการจับตัวของเกล็ดเลือดเมื่อมีเลือดออกร่วมด้วย ในขณะที่ยาอะพิซาแบนมีข้อดีกว่า ที่ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจเลือดดังกล่าว

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอะพิซาแบนคือ ยาชนิดรับประทาน ซึ่งตัวยานี้สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร และกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 50% ในกระแสเลือด ตัวยานี้จะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 87% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 9–14 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม ทางคลินิกได้กำหนดข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง สำหรับยาอะพิซาแบนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายหรืออยู่ในภาวะตกเลือด
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคตับระยะรุนแรง หรือผู้ที่ใช้ลิ้นหัวใจเทียม
  • ผู้ที่ใช้ยาบางประเภท อย่างเช่นยา Carbamazepine, Phenytoin, Rifampin, หรือสมุนไพร St. John's wort จัดเป็นข้อห้ามใช้ร่วมกับยาอะพิซาแบน ด้วยยากลุ่มดังกล่าว จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาอะพิซาแบนด้อยลงไป
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาหลายประเภทซึ่งรวมถึงยาอะพิซาแบนด้วย
  • ผู้ที่มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น เคยป่วยด้วยความดันโลหิตสูง มีปัญหาผิดปกติของหลอดเลือดในบริเวณของ ตา สมอง หรือไขสันหลัง ผู้มีภาวะเลือดจาง มีเกล็ดเลือดต่ำ มีแผลในระบบทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) การทำงานของตับ-ของไตมีปัญหา ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรต่างๆดังกล่าวเมื่อใช้ยาอะพิซาแบน
  • ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาอะพิซาแบนร่วมกับยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ต่อต้านการรวมตัว/จับตัวของเกล็ดเลือด อย่างเช่นยา Aspirin, Bivalirudin, Dabigatran Desirudin, Eptifibatide, NSAIDs, Clopidogrel, Prasugrel, Ticlopidine, SSRIs SNRIs, Tirofiban, ด้วยกลุ่มยาดังกล่าวเมื่อใช้ร่วมกับยาอะพิซาแบน จะส่งผลให้ร่างกายมีภาวะเลือดออกง่ายมากยิ่งขึ้น
  • ยาต้านเชื้อโรค/ยาฆ่าเชื้อบางอย่างหากใช้ร่วมกับยาอะพิซาแบน ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกง่ายเกิดขึ้นได้เช่นกัน อาทิเช่นยา Fluconazole, Itraconazole, Ketoconazole, Voriconazole, Clarithromycin, Cobicistat, Erythromycin, Mifepristone, Nefazodone, Boceprevir, Ritonavir, Telithromycin
  • ระหว่างที่มีการใช้ยาอะพิซาแบน หากได้รับอุบัติเหตุเกิดบาดแผลและมีเลือดออก ควรรีบส่งผู้ส่งป่วยไปยังโรงพยาบาลโดยเร็ว และแจ้งให้ แพทย์ พยาบาลทราบด้วยว่า ผู้ป่วยได้รับยาอะพิซาแบน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับ แพทย์ พยาบาล ในการเยียวยาผู้บาดเจ็บ

สำหรับผู้ป่วย การใช้ยาอะพิซาแบนจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง กินยานี้ตรงเวลา ไม่รับประทานยาอื่นร่วมด้วยโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา

ประเทศไทย จัดให้ยาอะพิซาแบนอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ จะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาล โดยการใช้ยานี้จะต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยานี้ ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาได้จาก แพทย์ผู้รักษา หรืจากเภสัชกรได้ทั่วไป

อะพิซาแบนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะพิซาแบน

ยาอะพิซาแบนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาป้องกันการอุดตันด้วยลิ่มเลือดของหลอดเลือดดำหลังผ่าตัด
  • บำบัดรักษาภาวะเส้นเลือด/หลอดเลือดดำขอด และหลอดเลือดแดงในปอดอุดตัน
  • ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Non-valvular atrial fibrillation)

อะพิซาแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะพิซาแบน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาต้านการรวมตัวของเกล็ดเลือดที่ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือด โดยยับยั้งการทำงานของสารโปรตีนที่ทำให้โลหิตแข็งตัว (Fibrin clot formation) และยังออกฤทธิ์ต้านกระบวนการทำงานของสารที่เป็นปัจจัยต่อการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกกันว่า “Factor Xa” จากกลไกดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรคุณตามมา

อะพิซาแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะพิซาแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Apixaban ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด

อะพิซาแบนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการรับประทานยาอะพิซาแบนจะต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และชนิดของโรค ซึ่งในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานยาอะพิซาแบน เช่น

ก. สำหรับป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตันจากลิ่มเลือดหลังการผ่าตัด:

  • -ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น โดยเริ่มรับประทานยาหลังการผ่าตัดไปแล้ว 12–24 ชั่วโมง หากเป็นการผ่าตัดเข่า ให้ใช้ยานาน 10–14 วัน หากเป็นการผ่าตัดสะโพกให้ใช้ยานาน 32–38 วัน

ข. สำหรับเส้นเลือดขอด/หลอดเลือดดำขอด หรือหลอดเลือดแดงในปอดอุดตัน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น เป็นเวลา 7 วัน จากนั้น แพทย์อาจลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็นหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษามาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน การป้องกันการกลับมาเป็นโรคใหม่ แพทย์อาจให้รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็นทุกวัน

ค. สำหรับป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ:

  • ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวสูงกว่า60กิโลกรัม: รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 80 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 60 กิโลกรัมลงมา: รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลัง อาหารก็ได้
  • รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะพิซาแบน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ มีแผลในระบบทางเดินอาหาร โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะพิซาแบนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะพิซาแบน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อะพิซาแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะพิซาแบนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดออกง่ายได้แต่เลือดจะออกไม่รุนแรง มีภาวะโลหิตจางหลังผ่าตัด ปริมาณฮีโมโกลบินลดลง มีภาวะThrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ปวดฟัน ปวดท้องช่วงบน/ช่วงเหนือสะดือขึ้นไป อาเจียน มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เลือดออกที่เหงือก เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ เลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ เลือดออกในไขสันหลัง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ มือ-เท้าบวม หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อตับ: เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น/ตับทำงานผิดปกติ ค่าบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเลือดออกใต้ผิวหนัง/ห้อเลือด เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เลือดออกในทางเดินปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ท่อปัสสาวะอักเสบ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ : เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง มีเลือดออกในกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว ข้อบวม
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดต้อกระจก มีเลือดออกในตา
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก หลอดลมอักเสบ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ไซนัสอักเสบ
  • อื่นๆ: เช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด

มีข้อควรระวังการใช้อะพิซาแบนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะพิซาแบน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตกเลือด เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร เลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ เลือดออกในไขสันหลัง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก เม็ดยาเปียกชื้น
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ผู้มีภาวะลิ่มเลือดจับตัวกันง่ายร่วมด้วย ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง ผู้ที่มีโรคลิ้นหัวใจ ผู้ที่ได้รับยาแก้ปวดทางไขสันหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยโรคไต
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะพิซาแบนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะพิซาแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะพิซาแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะพิซาแบนร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือยายับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือด อย่างเช่น Clopidogrel, Prasugrel Ticlopidine, ด้วยจะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามการใช้ยาอะพิซาแบนร่วมกับยา Carbamazepine, Phenytoin Rifampin, ด้วยยาดังกล่าวสามารถทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาอะพิซาแบนด้อยลง
  • การใช้ยาอะพิซาแบนร่วมกับยาต้านไวรัสอย่าง Boceprevir, Ritonavir สามารถทำให้ระดับยาอะพิซาแบนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาอะพิซาแบนสูงขึ้น อย่างเช่น เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากยิ่งขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอะพิซาแบนร่วมกับยา Dexamethasone อาจทำให้ระดับของตัวยา อะพิซาแบนในกระแสเลือดน้อยลง จนทำให้ฤทธิ์การป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือด ของยาอะพิซาแบนมีประสิทธิภาพต่ำลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาอะพิซาแบนอย่างไร?

ควรเก็บยาอะพิซาแบนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

อะพิซาแบนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะพิซาแบนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Eliquis (อิลิควิส)Bristol-Myers Squibb

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/apixaban/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb4]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/eliquis/?type=brief [2017,Feb4]
  3. http://patient.info/medicine/apixaban-tablets-eliquis [2017,Feb4]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Apixaban [2017,Feb4]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/apixaban-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Feb4]