อะบิราเทอโรน (Abiraterone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะบิราเทอโรน(Abiraterone หรือ Abiraterone acetate)เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen)/ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกายของคนเรา โดยยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานเอนไซม์ที่มีชื่อว่า CYP17A1 (Cytochrome P450 17A1)ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมนแอนโดรเจน ทางการแพทย์พบว่าการมีแอนโดรเจนปริมาณมากเกินไปในร่างกาย จะเป็นเหตุให้มะเร็งของต่อมลูกหมากเจริญขยายตัวมากขึ้น จากกลไกดังกล่าว ยาอะบิราเทอโรนจึงถูกนำมาใช้บำบัดอาการมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลามและระยะดื้อต่อการรักษาด้วยการตัดอัณฑะออก(Metastatic castration-resistant prostate cancer) โดยต้องใช้ยานี้ ร่วมกับยาเพรดนิโซน(Prednisone)

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอะบิราเทอโรน เป็นยารับประทาน หลังจากตัวยานี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะถูกทำลายหรือถูกเปลี่ยน แปลงโครงสร้างทางเคมีโดยเอนไซม์ Esterases , CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) และเอนไซม์ Bile salt sulfotransferase ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 14.4–16.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ยังมีข้อจำกัดการใช้ยาอะบิราเทอโรนบางประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยานี้เพื่อรักษาผู้ป่วยได้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาอะบิราเทอโรน
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง และยังต้องระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้มีภาวะบวมน้ำ
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • มียาอื่นๆหลายรายการที่ห้ามใช้หรือต้องปรับขนาดรับประทาน หากจะใช้ร่วมกับ ยาอะบิราเทอโรน เช่นยา Atazanavir, Clarithromycin, Indinavir, Itraconazole, Ketoconazole, Nefazodone, Nelfinavir, Ritonavir, Saquinavir, Telithromycin, Voriconazole, Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, Rifabutin, Rifampin, Rifapentine, Carvedilol, Chlorpromazine, Desipramine, Dextromethorphan, Encainide, Flecainide, Iloperidone, Maprotiline, Metoprolol, Nortriptyline, Paroxetine, Pimozide, Propafenone, Propranolol, Risperidone, Tetrabenazine, Thioridazine
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมอาหาร เพราะจะทำให้ระดับยาอะบิราเทอโรนในเลือดเพิ่มสูงมากจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆตามมา แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยานี้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง

การใช้ยาอะบิราเทอโรนได้อย่างมีประสิทธิผล ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้ร่วมกับยาเพรดนิโซนอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ โดยห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดใช้ยาเหล่านี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์ก่อน

นอกจากนี้ยังมีข้อควรปฏิบัติปลีกย่อยซึ่งผู้ป่วยควรให้ความสำคัญเพราะจะ เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง อาทิ เช่น

  • ผู้ที่ได้รับยาอะบิราเทอโรนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่าย กรณีที่พบเห็นอาการปวดกระดูกตามร่างกายต่อเนื่องระหว่างใช้ยานี้ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • บุรุษที่ใช้ยานี้ ต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยชายเพื่อป้องกันมิให้ตัวยาถูกส่งผ่านไปยังสตรีขณะมีเพศสัมพันธ์กัน
  • ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อดู การทำงานของตับ ระดับเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือด รวมถึงตรวจสอบความดันโลหิตและการทำงานของหัวใจตามที่แพทย์นัดหมาย ซึ่งหากพบความผิดปกติ แพทย์อาจต้องปรับแนวทางการใช้ยาอะบิราเทอโรน

ยังมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับยาอะบิราเทอโรน เช่น แสบร้อนกลางอก ไอ ท้องเสีย บวมตามข้อต่อของร่างกาย อาจมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อบ้าง เหนื่อย อาเจียน หากผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงรุนแรงจนรบกวนต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแผนการรักษา

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุให้ยาอะบิราเทอโรนอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษ และพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

อะบิราเทอโรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะบิราเทอโรน

ยาอะบิราเทอโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลามและดื้อต่อการรักษาด้วยการผ่าตัดอัณฑะออก(Metastatic castration-resistant prostate cancer)

อะบิราเทอโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะบิราเทอโรน มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานเอนไซม์ที่มีชื่อว่า CYP17A1 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมนแอนโดรเจน ฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกายจึงลดลง ส่งผลช่วยลดการกระตุ้นต่อเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากไม่ให้ขยายและเจริญเติบโตมากขึ้น

อะบิราเทอโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะบิราเทอโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Abiraterone acetate 250 มิลลิกรัม/เม็ด

อะบิราเทอโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะบิราเทอโรน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1,000 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง โดยต้องรับประทานร่วมกับยา Prednisone 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นหลังอาหารทันที
  • เด็ก: มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคของชายสูงอายุ ทางคลินิกจึงยังไม่มีรายงานการใช้ยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • กรณีผู้ป่วยมี โรคไต โรคตับ ที่ไม่ใช่ระดับรุนแรง ไม่จำเป็นต้องปรับ ขนาดรับประทานยานี้แต่อย่างใด
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการเป็นพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)เกิดกับตับของผู้ป่วย เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาอะบิราเทอโรนโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะบิราเทอโรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะบิราเทอโรน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะบิราเทอโรน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

อะบิราเทอโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะบิราเทอโรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนลดลง
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น มีภาวะตับวายจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หัวใจวาย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น บวมตามข้อต่อของร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายสลาย กระดูกหักง่าย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง มีเกลือโซเดียมในเลือดสูงเพิ่มขึ้น ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ตัวบวม ระดับฟอสเฟต(Phosphate)ในเลือดต่ำ ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวาย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน คออักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้อะบิราเทอโรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะบิราเทอโรน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง หรือมีเนื้องอกที่ตับ
  • ห้ามนำยานี้ไปใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นที่นอกเหนือจากมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่ภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคทางกล้ามเนื้อ-กระดูก ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยยานี้อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านี้กำเริบมากขึ้น
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจเลือดและ การตรวจร่างกาย ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะบิราเทอโรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะบิราเทอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะบิราเทอโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานอะบิราเทอโรนร่วมกับยา Atazanavir, Clarithromycin, Indinavir, Itraconazole, Ketoconazole, Nefazodone, Nelfinavir, Ritonavir, Saquinavir, Telithromycin, Voriconazole, ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากอะบิราเทอโรนมากขึ้น
  • ห้ามรับประทานอะบิราเทอโรนร่วมกับยา Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, Rifabutin, Rifampin, และ Rifapentine, ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพและฤทธิ์ของการรักษาของยาอะบิราเทอโรนด้อยลง
  • ห้ามใช้ยาอะบิราเทอโรนร่วมกับpk Carvedilol, Chlorpromazine, Desipramine, Dextromethorphan, Encainide, Flecainide, Iloperidone, Maprotiline, Metoprolol, Nortriptyline, Paroxetine, Pimozide, Propafenone, Propranolol, Risperidone, Tetrabenazine, Thioridazine, ด้วยตัวยาอะบิราเทอโรนจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากกลุ่มยาดังกล่าวได้มากขึ้น
  • ห้ามรับประทานยาอะบิราเทอโรนร่วมกับอาหาร เพราะจะทำให้การดูดซึมของ ยาอะบิราเทอโรนเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว และเป็นผลให้เกิดอาการข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น อย่างเช่น ความดันโลหิตสูง มีอาการบวมน้ำ ระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น

ควรเก็บรักษาอะบิราเทอโรนอย่างไร?

ควรเก็บยาอะบิราเทอโรน ในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อะบิราเทอโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะบิราเทอโรนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Zytiga(ไซทิกา)Janssen

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Abiratas, Abretone, Abirapro, Zecyte, Zybirra, Zelgor, Samtica, Xbira

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Abiraterone_acetate[2017,May27]
  2. https://www.drugs.com/cdi/abiraterone-acetate.html[2017,May27]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/zytiga/?type=brief[2017,May27]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/abiraterone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,May27]