อะบาคาเวียร์ (Abacavir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะบาคาเวียร์ (Abacavir) เป็นยาต้านรีโทรไวรัส(Antiretroviral agent) มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome; AIDS) โดยยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเชื่อมต่อสายดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัสเอดส์ โดยส่งผลต่อเอนไซม์ชื่อรีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของไวรัสจากอาร์เอ็นเอ(RNA) ไปเป็นดีเอ็นเอ(DNA) เพื่อให้รีโทรไวรัส(ไวรัส้เอดส์/ไวรัสเอชไอวี)สามารถอาศัยในโครโมโซมของ มนุษย์ได้ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยรับประทานยานี้แล้ว ตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้กระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ(DNA)ของรีโทรไวรัสหยุดชะงัก ปริมาณไวรัสในร่างกายจึงลดลง ส่งผลให้การรักษาบรรลุเป้าหมายคือ ลดปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวี/HIV จึงช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชไอวี การรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัส ที่รวมยาอะบาคาเวียร์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี

ยาอะบาคาเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะบาคาเวียร์์

ยาอะบาคาเวียร์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ สำหรับรักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่น เช่น เอฟฟาไวเร็นส์ (Efavirenz), ราลทิกราเวียร์ (Raltegravir)

ยาอะบาคาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะบาคาเวียร์ (Abacavir) จัดเป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) กลุ่ม Nucleoside Analog Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของเอนไซม์ ชื่อรีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยสร้างสายดีเอ็นเอ (DNA) จากอาร์เอ็นเอ (RNA) ของรีโทรไวรัสเพื่อให้ไวรัสมีสายดีเอ็นเอ (DNA) สำหรับเพิ่มจำนวนในเซลล์เจ้าบ้าน(เซลล์ในผู้ป่วย)ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอ (DNA)ได้ ดังนั้นเมื่อได้ยาอะบาคาเวียร์เข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ทำให้มีฤทธิ์ต้านรีโทรไวรัส โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตสของรีโทรไวรัส จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อสายดีเอ็นเอของรีโทรไวรัสหยุดชะงัก เชื้อรีโทรไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

ยาอะบาคาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาอะบาคาเวียร์ในประเทศไทย มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ดังนี้

  • ยาเม็ดอะบาคาเวียร์ขนาด 300 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้ยังมียารับประทานสูตรผสมระหว่างยาอะบาคาเวียร์กับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก เช่น ยา Kivexa® ประกอบด้วย ยาอะบาคาเวียร์ 600 มิลลิกรัม และ ยาลามิวูดีน(Lamivudine) 300 มิลลิกรัม

ยาอะบาคาเวียร์มีวิธีใช้ยาอย่างไร?

ขนาดยาอะบาคาเวียร์สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เช่น

  • เด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน – 18 ปี: รับประทาน 16 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1กิโลกรัม แบ่งให้วันละ1 - 2 ครั้งตามคำสั่งแพทย์
  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปี: รับประทาน 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง) หรือ 600 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง
  • ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง/โรคไต: ไม่มีขนาดยาที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง สามารถใช้ขนาดยาเท่ากับขนาดยาของผู้ใหญ่ โดยใช้ยาอย่างระมัดระวังโดยติดตามอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยาอย่างใกล้ชิดตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง/โรคตับ: พิจารณาลดขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องระดับความรุนแรงปานกลาง และพิจารณาหยุดใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องรุนแรง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในด้านความปลอดภัยและขนาดยา การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะบาคาเวียร์ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา /แพ้อาหาร/ แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะบาคาเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะ ยาอะบาคาเวียร์สามารถผ่านรก และน้ำนมได้ ซึ่งอาจทำให้ยาเข้าสู่ตัวทารกและก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาอะบาคาเวียร์อยู่ให้นมบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และป้องกันอาการข้างเคียงของยานี้ต่อบุตร
  • แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากช่วงที่ผ่านมาลืมกินยานี้/ไม่ได้รับยานี้ หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยานี้ได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันได้ เนื่องจาก ยาอะบาคาเวียร์เป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอ และตรงเวลาอย่างเคร่งครัดทุกวัน ตัวยาจึงจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ความถี่ในการรับประทานยาอะบาคาเวียร์ มีวิธีการรับประทานทั้งวันละ 1 ครั้ง หรือ วันละ 2 ครั้งตามคำสั่งแพทย์

กรณีรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง แนะนำให้รับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน กรณีรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง แนะนำให้รับประทานยาห่างกัน 12 ชั่วโมงอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ระดับยาอยู่ในช่วงการรักษาที่สามารถยับยั้งการเติบโตของเชื้อ รีโทรไวรัสได้

กรณีลืมรับประทานยาอะบาคาเวียร์ ที่มีวิธีการรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป(วันถัดไป) หมายถึง นึกขึ้นได้ในเวลาเกิน 12 ชั่วโมง จากเวลารับประทานยาปกติ ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

กรณีลืมรับประทานยาอะบาคาเวียร์ และมีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ (หากห่างไม่เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานปกติ) แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่า 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทานไป จากนั้นรับประทานยานี้ ในขนาดปกติต่อไป (ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือนำยามื้อที่ลืม มารับประทานด้วย) และรับประทานยาในมื้อถัดๆไปในขนาดยาปกติ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรตระหนักเสมอว่า การกินยาต้านรีโทรไวรัสไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำก็จะเป็นเหมือนการกระตุ้นให้เชื้อรีโทรไวรัสเกิดการกลายพันธุ์จนเป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา

ยาอะบาคาเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาอะบาคาเวียร์ที่พบได้บ่อยทั่วไป ได้แก่ มีผื่นตามร่างกาย, อาการคลื่นไส้ อาเจียน, เบื่ออาหาร, ปวดศีรษะ, นอนไม่หลับ, อาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน, อาการหมดแรง/อ่อนแรง, มีไข้

ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆที่รุนแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ได้แก่ ภาวะภูมิไวเกินต่อยานี้ (Hypersensitivity reaction) เช่น มีไข้, มีผื่นแพ้เพียงเล็กน้อยถึงรุนแรงขึ้นทั่วตัว โดยระยะเวลาในการเกิดภาวะภูมิไวเกินนี้พบได้ตั้งแต่ 9 วัน - 6 สัปดาห์แรก ตั้งแต่เริ่มใช้ยานี้

อนึ่ง อาการทางผิวหนังอาจพัฒนาความรุนแรงจนเกิดเป็นการแพ้ยาชนิดรุนแรงชนิด สตีเวนจอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome) ดังนั้นจึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้ คือ มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง หรือตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย ร่วมกับมีไข้ มีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ เจ็บบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก เจ็บบริเวณช่องคลอด เจ็บรอบทวารหนัก เจ็บอวัยวะเพศ เจ็บรอบตา นัยน์ตาแดงอักเสบ หากเกิดอาการดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งอาจจำเป็นต้องหยุดยาอะบาคาเวียร์และไม่สามารถใช้ยาอะบาคาเวียร์ได้อีกเลย และกรณีที่อาการทางผิวหนังขยายตัวเป็นบริเวณกว้าง อาจรุนแรงจนเรียกว่า เทนส์ (Toxic Epidermal Necrosis, TENs) ซึ่งมีอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ในผู้ป่วยเพศหญิง, ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง, ตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน ถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดที่เรียกว่า แลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พียงพอ) และภาวะตับโตรุนแรง ร่วมกับมีไขมันสะสมในตับ/ไขมันพอกตับ (Severe Hepatomegaly with steatosis) โดยแพทย์จะให้หยุดยาอะบาคาเวียร์ หากผู้ป่วยมีอาการทางคลินิก หรือมีผลทางห้องปฏิบัติการว่า มีภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis), อาการที่เกิดความผิดปกติกับระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยพบว่ายานี้สามารถทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction, MI)ได้ จึงแนะนำให้ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง, สูบบุหรี่, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคเบาหวาน

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะบาคาเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะบาคาเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • แพทย์ที่วางแผนการรักษาผู้ป่วยด้วยยาอะบาคาเวียร์ ควรทำการตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์(Pharmacogenomic testing) ของผู้ป่วยก่อนได้รับยานี้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยา และเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยที่มียีน/จีนพันธุกรรม(Gene) ที่มีชื่อว่า HLA-B*5701 (Human leukocyte antigen-B*5701) ปรากฏอยู่บนรหัสพันธุกรรมจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน (Hypersensitivity) และอาการแพ้ยาชนิดรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่มียีนพันธุกรรมดังกล่าว ดังนั้นผู้ป่วยที่ตรวจพบยีน HLA-B*5701 แพทย์ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้ยาอะบาคาเวียร์ และบันทึกประวัติให้ระมัดวังการใช้ยาอะบาคาเวียร์แก่ผู้ป่วย
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาอะบาคาเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะ ยาอะบาคาเวียร์สามารถผ่านรก และน้ำนมได้ ซึ่งอาจทำให้ยานี้เข้าสู่ตัวทารกและก่อให้เกิดผลข้างเคียง ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาอะบาคาเวียร์อยู่ให้นมบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และเพื่อป้องกันอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยานี้ต่อบุตร
  • ระวังการใช้ยาอะบาคาเวียร์เป็นระยะเวลานานๆในผู้ป่วยมีการทำงานของตับบกพร่อง/โรคตับ, ตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน, ผู้ป่วยเพศหญิง, เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ที่เรียกว่าแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดจากการคั่งของกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พียงพอ) และภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ/ไขมันพอกตับ (Severe Hepatomegaly with steatosis)ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว โดยควรหยุดยาอะบาคาเวียร์ หากมีอาการทางคลินิกหรือผลทางห้องปฏิบัติการว่า มีภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับมีไขมันสะสมในตับ หรือเกิดภาวะเลือดเป็นกรดฯ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะบาคาเวียร์) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอะบาคาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะบาคาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. เมื่อใช้ยาอะบาคาเวียร์ ร่วมกับยาเมททาโดน (Methadone: ยาแก้ปวด) ระดับยาเมทาโดนในเลือดจะลดลง เนื่องจากยาอะบาคาเวียร์จะเพิ่มการขจัดยาเมททาโดนออกจากกระแสเลือด ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

2. เมื่อใช้ยาอะบาคาเวียร์ ร่วมกับยาไรบาไวริน (Ribavirin: ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี) เนื่องจาก ยาทั้งสองจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกคั่ง ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พียงพอ) ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาอะบาคาเวียร์อย่างไร?

แนะนำเก็บยาอะบาคาเวียร์ที่อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บยาในห้องที่ร้อนจัดหรือมีความชื้นมาก เช่น ห้องที่ถูกแสงแดดส่องถึงทั้งวัน ในรถยนต์ ห้องครัว หรือห้องน้ำ นอกจากนี้ยังควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา หากยาเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ เช่น สี, ลักษณะเม็ดยาปริแตก, ควรทิ้งยาไป

ยาอะบาคาเวียร์ชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะบาคาเวียร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ziagenavir tablet 300 mgGlaxoSmithKline

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Abamune, Abavir, Abcavir, Abec, Abmune, Virol, Ziagen

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013