อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 8 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะทาซานาเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะทาซานาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะทาซานาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะทาซานาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะทาซานาเวียรมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะทาซานาเวียร์อย่างไร?
- ยาอะทาซานาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะทาซานาเวียร์อย่างไร?
- ยาอะทาซานาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ริโทนาเวียร์ (Ritonavir)
- ยาต้านไวรัสพีไอ (PIs: Protease inhibitors)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension)
- ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism)
บทนำ
ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) เป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) ในที่นี้ หมายถึง เชื้อไวรัส เอชไอวี (HIV) ยาอะทาซานาเวียร์ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยทำการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรติเอส (Protease enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเป็นตัวตั้งต้นของโปรตีนชนิดหนึ่ง (มีชื่อว่า Gag-pol polyprotein) ที่ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งเมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกายจะทำการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสของเชื้อไวรัส เอชไอวี จึงทำให้เชื้อไวรัสอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ (Immature virion) จากการสร้างโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์เชื้อจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ได้ และด้วยกลไกนี้ยานี้จึงจัดอยู่ในยาต้านรีโทรไวรัสกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitor)
ประสิทธิภาพของยาอะทาซานาเวียร์ มีทั้งในผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นมาก่อน และในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับยาต้านรีโทรไวรัสมาก่อน ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นมาก่อนแล้วเกิดความล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาชนิดนั้น จะไม่แนะนำให้ใช้ยาอะทาซานาเวียร์เพียงชนิดเดี่ยว แต่แนะนำให้ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสริโทนาเวียร์ (Ritonavir)
ยาอะทาซานาเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะทาซานาเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- สำหรับรักษาการติดเชื้อเอชไอวี โดยใช้ร่วมกับยาต้านรีโทรไวรัสชนิดอื่นอีก 2 ชนิด เช่นยา ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) และ ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) โดยพบว่ายาอะทาซานาเวียร์มีประสิทธิภาพทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดอื่นมาก่อน และในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสมาก่อน
ยาอะทาซานาเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะทาซานาเวียร์เป็นยาต้านรีโทรไวรัสในกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์/ ยาต้านไวรัสพีไอ (Protease Inhibitor ย่อว่า PI inhibitor) เมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรติเอส (Protease enzyme) ซึ่งเอนไซม์นี้เป็นตัวตั้งต้นของโปรตีนชนิดหนึ่ง (ชื่อว่า Gag-pol polyprotein) ที่ส่งผลต่อการเจริญของเชื้อเอชไอวี ดังนั้นเมื่อยาอะทาซานาเวียร์เข้าสู่ร่างกายแล้วทำการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส ทำให้การสร้างส่วนประกอบโปรตีนของไวรัสเอชไอวีไม่สมบูรณ์ (Immature virion) จึงทำให้ไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีรอบใหม่ได้ เพราะเชื้อมีโครงสร้างหรือส่วนประกอบที่ยังเจริญไม่เต็มที่
ยาอะทาซานาเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ดังนี้คือ
- เป็นยาเม็ดแคปซูล (Capsules) ขนาด 200, 300 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
อนึ่ง ยังไม่มียาสูตรผสมระหว่างยาอะทาซานาเวียร์กับยารีโทนาเวียร์จำหน่ายในประเทศไทย
ยาอะทาซานาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาอะทาซานาเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น
ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยเด็ก:
ก. ขนาดยานี้สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี:
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาอะทาซานาเวียร์ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดภาวะ Kernicterus ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้เกิดอาการดีซ่านในทารกแรกเกิดร่วมกับระดับสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในเลือดสูง
- ยังไม่มีขนาดยาที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 6 ปีขึ้นไปถึง18 ปีที่น้ำหนักตัวไม่เกิน 40 กิโลกรัม: ให้ใช้ขนาดยาตามน้ำหนักตัวของเด็กดังนี้
- เด็กน้ำหนักตัวตั้งแต่ 15 - 20 กิโลกรัม: ใช้ยา 150 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งพร้อมอาหาร โดยให้ร่วม กับยาริโทนาเวียร์ขนาด 100 มิลลิกรัม
- เด็กน้ำหนักตัวตั้งแต่ 20 - 40 กิโลกรัม: ใช้ยา 200 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งพร้อมอาหาร โดยให้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ขนาด 100 มิลลิกรัม
- เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปถึง 18 ปีที่น้ำหนักตัวตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป: ใช้ขนาดยา 300 มิลลิ กรัมวันละ 1 ครั้งพร้อมอาหาร โดยให้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ขนาด 100 มิลลิกรัม
- กรณีเด็กซึ่งไม่เคยได้รับการรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัสมาก่อน และไม่สามารถทนต่อยารีโทนาเวียร์ได้ แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยาอะทาซานาเวียร์ให้สูงขึ้นเป็นกรณีไป
ข. ขนาดยานี้ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะไตบกพร่อง:
- ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาหากการทำงานของไตยังไม่จำเป็นต้องมีการล้างไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
- กรณีผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการรักษามาก่อนและเป็นผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกเลือด แนะนำขนาดยาอะทาซานาเวียร์ 300 มิลลิกรัมร่วมกับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม
- กรณีผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อนและมีการฟอกเลือดร่วมด้วย ไม่แนะนำให้ใช้ยา อะทาซานาเวียร์หรือใช้ยาอะทาซานาเวียร์ร่วมกับยาริโทนาเวียร์
ค. ขนาดยานี้ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะตับบกพร่อง:
ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับในระดับน้อยถึงปาน กลาง แต่ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา กรณีผู้ป่วยมีความบกพร่องของการทำงานของตับในระดับปานกลาง ควรลดขนาดยานี้ลงเป็น 300 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง และไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในกรณีที่ตับมีการทำงานบกพร่องระดับรุนแรง
ขนาดยาและการปรับขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่:
ก.ขนาดยานี้สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี:
- กรณีผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีมาก่อน: ใช้ยานี้ 400 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหาร หรือขนาดยานี้ 300 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งเมื่อให้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ขนาด 100 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งโดยรับประทานพร้อมอาหาร
- กรณีผู้ป่วยที่เคยได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีมาก่อน: ใช้ยานี้ 300 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งร่วม กับยาริโทนาเวียร์ขนาด 100 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งโดยรับประทานพร้อมอาหาร
ข. ขนาดยานี้ในผู้ป่วยไตบกพร่อง:
- ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาหากการทำงานของไตยังไม่จำเป็นต้องได้รับการล้างไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- กรณีผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการรักษามาก่อนและมีการฟอกเลือด แนะนำขนาดยาอะทาซา นาเวียร์ 300 มิลลิกรัมร่วมกับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม
- กรณีผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อนและมีฟอกเลือด ไม่แนะนำให้ใช้ยาอะทาซานาเวียร์หรือยาอะทาซานาเวียร์ร่วมกับยาริโทนาเวียร์
ค. ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของการทำงานของตับตั้งแต่น้อยถึงปานกลางโดยไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา กรณีผู้ป่วยมีความบกพร่องฯของตับในระดับปานกลาง ควร ลดขนาดยาลงเป็น 300 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง และไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในกรณีที่ตับมีความบก พร่องรุนแรง
ง.ขนาดยาในผู้ป่วยสูงอายุ:
ข้อมูลยังมีจำกัดอยู่ แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharma cokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ไม่แนะนำให้ปรับขนาดยาในผู้ป่วย กลุ่มนี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะทาซานาเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะทาซานาเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาอะทาซานาเวียร์ สามารถผ่านรกและน้ำนมได้ ซึ่งอาจทำให้ยาเข้าสู่ตัวทารกและก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้หญิงที่กำลังได้รับยาอะทาซานาเวียร์อยู่ให้นมบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกและป้องกันอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาต่อบุตร
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ หากช่วงที่ผ่านมาลืมรับประทานยา/ไม่ได้รับยาหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานยาได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันได้ เนื่องจากยาอะทาซานาเวียร์เป็นยาจำเป็นที่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาอย่างเคร่งครัดทุกวัน เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดเชื้อเอชไอวีดื้อยา
- แจ้งชื่อยารักษาโรคประจำตัวหรือยาที่ใช้อยู่เป็นประจำเพื่อให้แพทย์และเภสัชกรประเมินยาที่ผู้ ป่วยกำลังได้รับอยู่ว่า ควรหยุดหรือสามารถใช้คู่กับยาอะทาซานาเวียร์ได้หรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากยาอะทาซานาเวียร์มักมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆได้หลายชนิด
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
สำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาอะทาซานาเวียร์นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประ ทานยานี้ให้ตรงเวลาทุกวันอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานยาวันละ 1 ครั้งซึ่งแนะนำให้รับประทานยาหลังอาหาร เนื่องจากอาหารจะเพิ่มการดูดซึมยา แต่เพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวันโดยรับประทานยาหลังอาหาร
กรณีลืมรับประทานยานี้ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประ ทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยาเวลา 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 20.00 น. ตอนเวลา 7.00 น. ของวันถัดมา ก็ให้รับประทานยามื้อ 20.00 น. ทันที แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
การรับประทานยานี้เกินขนาดโดยอุบัติเหตุ ไม่พบอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงที่รุนแรง และไม่มียาต้านพิษที่จำเพาะเจาะจงสำหรับยาอะทาซานาเวียร์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) เพื่อกำจัดยาที่เหลืออยู่ที่ยังไม่ถูกดูดซึม การฟอกไต/การล้างไตเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือดไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากยาถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับเป็นส่วนใหญ่และจับกับโปรตีนในร่างกายได้สูง ดังนั้นการดูแลรักษากรณีนี้จึงใช้การตรวจสัญญาณชีพและให้การรักษาตามอาการทางคลินิกของผู้ป่วยเป็นหลัก
อนึ่ง การรับประทานยาต้านไวรัสทุกชนิดที่รวมถึงยาอะทาซานาเวียร์ที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำ ให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำเสมือนเป็นการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา
ยาอะทาซานาเวียรมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาการ/ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ผลข้างเคียงของยาอะทาซานาเวียร์ที่พบได้บ่อย เช่น
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- ปวดตามร่างกาย
- ปวดหัว
- ปวดท้อง
- ปวดหลัง
- มีไข้
- ดีซ่าน
- ท้องอืด
- คลื่นไส้-อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ท้องเสีย
- อาจพบอาการผื่นที่ผิวหนังได้
นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น หากในระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาอะทาซานาเวียร์อยู่ แล้วค่าบิลิรูบินเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่าของค่าปกติ แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาต้านรีโทรไวรัส เนื่องจากระดับบิลิรูบินที่สูงอาจทำให้เกิดภาวะดีซ่าน/ ตัวเหลือง/ตาเหลือง จนอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลเรื่องความสวยงาม แต่ไม่แนะนำให้ลดขนาดยาอะทาซานาเวียร์ลง เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาถึงประสิทธิผลในระยะยาวหากมีการลดขนาดยานี้ในการรักษา
อนึ่ง อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานี้ที่พบได้น้อย เช่น
- ในช่วงที่กำลังได้รับการรักษาด้วยยานี้ ผู้ป่วยอาจเกิด
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia)
- ภาวะไขมันในเลือดสูง (โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์)
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- ภาวะนิ่วในไต
- นิ่วในถุงน้ำดี
- ถุงน้ำดีอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะทาซานาเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะทาซานาเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยาอะทาซานาเวียร์ร่วมกับยาชนิดอื่นๆที่มีการเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ CYP 3A4 (อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อ ยาอะทาซานาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?)
- ระวังการใช้ยาอะทาซานาเวียร์ในผู้ป่วยตับทำงานบกพร่อง, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน, ผู้ป่วยเพศหญิง, ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดจากการคั่งของกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ) โดยมีอาการแสดงคือ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนล้า อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยอาจมีอาการร่วมกับอาการแสดงของภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ (Severe Hepatomegaly with steatosis) ซึ่งหากมีอาการทางคลินิกหรือมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ แพทย์จะพิจารณาหยุดใช้ยานี้
- มีรายงานการเกิดโรคเบาหวานในนผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ หรืออาการโรคเบาหวานที่เดิมเป็น อยู่แล้วรุนแรงมากขึ้น และมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมน อินซูลิน (Insulin) อย่างรุนแรง
- มีรายงานการเกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายขึ้น จนอาจต้องได้รับยาต้านการเลือดออกร่วมด้วยเมื่อใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเลือดที่เรียกว่า ฮีโมฟีเลียชนิด A และ B
- นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในการกระจายตัวของมวลไขมัน โดยมีภาวะไขมันฝ่อตัว (Lipoatrophy) มักพบไขมันฝ่อตัวบริเวณใบหน้า, แขน, ขา หรือก้น และอาจพบไขมันพอกตัวผิดปกติ โดยพบก้อนไขมันพอกที่คอด้านหลัง (Buffalo hump), เส้นรอบวงของคอขยายขึ้น, เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ไขมันสะสมตามอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้นทำให้มีพุง ในผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดได้ทั้งภาวะไขมันฝ่อตัวหรือไขมันพอกตัวผิดปกติ
- ยาอะทาซานาเวียร์อาจทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจ หรือระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจเช่น ยาในกลุ่ม Beta blocker
- พบรายงานเกิดภาวะ Immune reconstitution syndrome ได้คือ ในผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านรีโทรไวรัสร่วมกันหลายชนิด ในช่วงแรกของการรักษา ผู้ป่วยอาจมีการสร้างกระบวนการอัก เสบเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส ทำให้เกิดอาการของการติดเชื้อนั้นๆกลับมาใหม่ได้
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาอะทาซานาเวียร์เป็นยาเดี่ยวสำหรับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เชื้อฯเกิดเชื้อดื้อยา แนะนำให้ใช้ร่วมกับยาต้าน รีโทรไวรัสตัวอื่นอีก 2 ชนิด เช่น ซิโดวูดีน (Zidovudine) และดีดาโนซีน (Didanosine)
ยาอะทาซานาเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
คู่ยาดังต่อไปนี้เป็นคู่ยาที่ห้ามใช้ร่วมกันเนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยารุนแรงได้
1. การใช้ยาอะทาซานาเวียร์คู่/ร่วมกับยาอาฟูโซซิน (Alfuzosin: ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต) อาจทำให้ระดับยาในเลือดของอาฟูโซซินเพิ่มขึ้นเป็นผลทำให้ ความดันโลหิตต่ำ
2. การใช้ยาอะทาซานาเวียร์คู่กับยาควินิดีน (Quinidine: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ) อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรับประทานยาริโทนาเวียร์ร่วมอีกตัว
3. การใช้ยาอะทาซานาเวียร์คู่กับยาที่สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ Cytochrome P450 CYP3A4 (เรียกเอนไซม์นี้สั้นๆว่า CYP3A4) ซึ่งเอนไซม์ CYP3A4 ดังกล่าวมีหน้าที่ในการทำลายยาอะทาซานาเวียร์ เพราะฉะนั้นหากใช้ยาร่วมที่สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาอะทาซานาเวียร์ลดลง ทำให้ระดับยานี้ในร่างกายลดลงเช่นกันเช่นยา ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital: ยากันชักยาต้านชัก), คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine: ยากันชักฯ), ฟีนีทอย (Phenytoin: ยากันชักฯ), ไรแฟมปินซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาวัณโรค), ไรฟาบูติน (Rifambutin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาวัณโรค) เมื่อระดับยาอะทาซานาเวียร์ในเลือดลดลงจึงอาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อไวรัสเอชไอวีดื้อยาได้
4. การใช้ยาอะทาซานาเวียร์คู่กับยาพิโมซายด์ (Pimozide: ยาจิตเวช) จะเพิ่มโอกาส ทำให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงเช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
5. การใช้ยาอะทาซานาเวียร์คู่กับยาไมด้าโซแลม (Midazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยากันชัก/ยานอนหลับ), ไตรอะโซแลม (Triazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยานอนหลับ) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการยืดเวลาการนอนหลับให้ยาวนานขึ้นหรืออาจเกิดการกดการหายใจ/การหยุดหายใจได้
6. การใช้ยาอะทาซานาเวียร์คู่กับยาโลวาสสะตาติน (Lovastatin: ยาลดไขมัน), ซิมวาสสะตาติน (Simvastatin: ยาลดไขมัน) อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว/กล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง/ กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
7. การใช้ยาอะทาซานาเวียร์คู่กับสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort: สมุนไพรคลายเครียด) อาจทำให้ระดับยาอะทาซานาเวียร์ในเลือดลดลง อาจทำให้สูญเสียฤทธิ์ในการรักษาและก่อให้เกิดเชื้อไวรัสเอชไอวีดื้อยา
8. การใช้ยาอะทาซานาเวียร์คู่กับยาซิเดนาฟิว (Sidenafil: ยารักษาภาวะ Pulmonary Hypertension/ ความดันหลอดเลือดปอดสูง และ Erectile dysfunction/นกเขาไม่ขัน) จะส่ง ผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาซิเดนาฟิวเช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ การมองเห็นผิดปกติ หรือภาวะอวัยวะเพศชาย/ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism)
นอกจากนี้ ยังมียาอีกหลายชนิดที่อาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้ เมื่อใช้คู่กับยาอะทาซานาเวียร์ ดังนั้นเมื่อมีการสั่งใช้ยาอื่นๆ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบว่า กำลังรับประทานยาอะทาซานาเวียร์อยู่
ควรเก็บรักษายาอะทาซานาเวียร์อย่างไร?
เนื่องจากยาอะทาซานาเวียร์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย อยู่ในลักษณะยาเม็ดแคปซูล จึงแนะนำ:
- เก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้องที่อุณหภูมิไม่สูงเกินกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องที่ร้อนจัดหรือที่มีความชื้นมาก เช่น ในรถยนต์ หรือในห้องน้ำ
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดหรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้มีประสิทธิภาพตลอดถึงวันสิ้นอายุของยา
ยาอะทาซานาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะทาซานาเวียร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเ ช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Reyataz (เรยาทาซ) | Bristol-Myers Squibb |
บรรณานุกรม
1. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012
2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
3. Product Information: Reyataz, Bristol-Myers Squibb, Thailand.
4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013