อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ (Adrenergic antagonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Adrenergic agonist)
- ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ไวอากร้า (Viagra)
- ยาแอสไพริน (Aspirin)
- ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
บทนำ
ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ (Adrenergic antagonist หรือ Adrenergic blocker) เป็นสารประกอบที่แสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่คอยยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทประเภทแคททีโคลามีน (Catecholamines)ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า แอดริเนอร์จิก รีเซพเตอร์(Adrenergic receptor) ที่เป็นตัวรับของกลุ่มสารสื่อประสาทชนิด Epinephrine, Norepinephrine, และ Dopamine การออกฤทธิ์ของยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์จะเป็นไปในลักษณะตรงกันข้ามกับสาร/ยาประเภทอะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Adrenergic agonist)
นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ ออกเป็น 2 หมวด/กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1 แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blocker หรือ Alpha adrenergic blocker): เป็นกลุ่มยาที่นำมารักษาอาการของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ, ภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia), และ ปรากฏการณ์ Raynaud’s phenomenon(ความผิดปกติของการหดและขยายตัวของหลอดเลือด)
ในทางปฏิบัติ มักจะพบว่ายากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ถูกนำมาใช้กับ โรคความดันโลหิตสูง และภาวะต่อมลูกหมากโต เสียเป็นส่วนมาก แต่ยังมียาบางตัวในกลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ ที่ถูกนำมาใช้รักษาอาการซึมเศร้าได้ด้วย เช่นยา Mirtazapine
ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ สามารถแบ่งออกเป็นอีก 3 กลุ่มย่อย คือ
- แอลฟา-1 บล็อกเกอร์ (Alpha-1 blocker) เช่นยา Prazosin
- แอลฟา-2 บล็อกเกอร์ (Alpha-2 blocker) เช่นยา Atipamezole
- แอลฟา-บล็อกเกอร์ ชนิด Non-selective alpha adrenergic blockers เช่นยา Phentolamine
2 เบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta-blocker): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า เบต้า รีเซปเตอร์ (Beta receptor) ตัวรับดังกล่าวถูกพบที่กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบ หลอดลม หลอดเลือดฝอย ไต และเนื้อเยื่อของเซลล์ประสาท ชนิด Sympathetic nervous system หากมีฮอร์โมน หรือสารสื่อประสาทบางประเภท เช่น Epinephrine เข้ามาจับกับตัวรับเบต้าก็จะทำให้อวัยวะต่างๆที่มีตัวรับเบต้าแสดงอาการตามชนิดของสารสื่อประสาทที่เข้ามาทำปฏิกิริยา
ประโยชน์ทางคลินิกของยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ นี้ได้ถูกนำมาบำบัดอาการ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการหัวใจล้มเหลว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคต้อหิน เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์แบ่งกลุ่มยาเบต้า-บล็อกเกอร์ ออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ
- เบต้า-บล็อกเกอร์ ชนิด Non-selective beta antagonist /Non selective beta blocker เช่น ยา Timolol
- เบต้า-2 บล็อกเกอร์ (Beta-2 selective blockers) เช่นยา Pindolol
- เบต้า-3 บล็อกเกอร์ (Beta-3 selective blockers) ซึ่งยาในกลุ่มนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาตัวยา
การใช้ยากลุ่มอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ อาจต้องใช้ยาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง มีระยะเวลายาวนาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป โดยแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์ของการปรับเปลี่ยนการใช้ยาเหล่านี้ในผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
ยากลุ่มอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย มีข้อจำกัด ข้อห้ามใช้ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละตัวยาย่อย การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น และห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายามารับประทานเอง
อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
ก.ยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์:
- รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต
- รักษาความดันโลหิตสูง
- ลดภาวะเส้น/หลอดเลือดหดเกร็ง
- สงบประสาท/ยาคลายเครียด และระงับอาการปวด/ยาแก้ปวด
- รักษาอาการซึมเศร้า และเป็นยารักษาทางจิตเวช
- รักษาอาการสมรรถภาพทางเพศเสื่อม
ข. ยากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์:
- รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)
- รักษาและบรรเทาอาการหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
- รักษาโรคต้อหิน (Glaucoma)
- รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction)
- ป้องกันโรคไมเกรน (Migraine)
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง(Hypertension)
อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้ เช่น
ก. ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์: มีกลไกการออกฤทธิ์โดยเข้าจับกับตัวรับที่อยู่ภายในเซลล์ของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือดที่หัวใจ และที่ต่อมลูกหมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทภายในเซลล์ดังกล่าว ทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และทำให้ผนังหลอดเลือดขยายออก รวมถึงทำให้ต่อมลูกหมากลดอาการหดเกร็ง จากกลไกดังกล่าวทั้งหมด จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ข. ยาเบต้า บล็อกเกอร์: จะออกฤทธิ์โดยเข้าไปปิดกั้นตัวรับ ซึ่งมี 3 ชนิด คือ เบต้า-1, เบต้า-2, และ เบต้า-3 (ดังได้กล่าวใน บทนำ) ตัวรับ เหล่านี้อยู่ตามเนื้อเยื่อของ หัวใจ หลอดเลือด หลอดลม ส่งผลให้หัวใจลดการบีบตัวและลดอัตราการเต้นลง รวมถึง หลอดเลือด และหลอดลม เกิดการขยายตัว และพร้อมกับยับยั้งการปลดปล่อยสารเรนิน(Renin,สารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย)จากไต ส่งผลให้เพิ่มการขับถ่ายโซเดียมและน้ำออกจากร่างกายจึงช่วยลดความดันโลหิตได้ จากกลไกดังกล่าวทั้งหมด จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
- ยาหยอดตา
- ยาเหน็บทวาร
อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาในกลุ่ม อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ มีหลากหลายรายการตัวยาย่อย ขนาดรับประทานจึงหลากหลาย จึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วยแต่ละคน เช่น อายุ โรคประจำตัว การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การใช้ยาอื่นๆ รวมกับชนิดอาการผู้ป่วย เพื่อแพทย์เลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการโรค และมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด การรับประทานยาในกลุ่มนี้ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น บทความนี้จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยาในกลุ่มนี้
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น ความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน/ใช้ยายาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ใช้ยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทาน/ใช้ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ ตรงเวลา
อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า เท้าและขาบวม เจ็บหน้าอก
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น แน่น/คัดจมูก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ไอ มีอาการคล้ายหอบหืด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เป็นลม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก ผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม น้ำตาลในเลือดต่ำ ไขมันในเลือด ชนิดเฮชดีแอล (HDL) ลดต่ำลง ในขณะที่ไขมันชนิดแอลดีแอล (LDL)เพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า ฝันร้าย ประสาทหลอน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะสีคล้ำ
- ผลต่อระบบสืบพันธ์: เช่น มดลูกบีบรัดตัวมาก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- ผลต่อตา: เช่น ระคายเคืองตา
- อื่นๆ: เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย
มีข้อควรระวังการใช้อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการช็อกด้วยโรคหัวใจล้มเหลว มีอาการโรคหืด
- ด้วยยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์หลายตัว ทำให้มีอาการวิงเวียนคล้ายเป็นลม บางครั้งแพทย์จึงอาจแนะนำให้รับประทานยากลุ่มนี้ก่อนนอน
- ไม่แนะนำการใช้ยากลุ่มนี้กับเด็ก
- ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนสนับสนุนผลของการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และกับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- ระหว่างใช้ยากลุ่มนี้ ต้องระวังการทำงานกับเครื่องจักร รวมถึงการขับขี่ยานพาหนะ ด้วยอาจเกิดอาการวิงเวียน จนเกิดอันตรายได้ง่าย
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าอย่างรุนแรง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ ทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ ร่วมกับยารักษาอาการสมรรถภาพทางเพศเสื่อม เช่นยา Sildenafil สามารถทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำ จนถึงขั้นเป็นลมได้ จึงควรหลีก เลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถทำให้ เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยจะรู้สึกวิงเวียนจนถึงขั้นเป็นลม จึงห้ามรับประทานร่วมกัน
- การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยาแก้ปวด เช่น Aspirin หรือยากลุ่ม NSAIDs เช่นยา Ibuprofen อาจส่งผลทำให้ฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตของยาเบต้า บล็อกเกอร์ด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยากันชัก เช่น Phenobarbital อาจลดประสิทธิภาพในการทำงานของยาเบต้า บล็อกเกอร์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น Clonidine สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนถึงระดับที่อันตราย จึงควรหลีกเลี่ยง/ห้ามใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ ภายใต้อุณหภูมิตามที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะดรีเนอร์จิก แอนตาโกนิสต์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cardoxa (คาร์ด็อกซา) | Sriprasit Pharma |
Cardura/Cardura XL (คาร์ดูรา/คาร์ดูรา เอ็กซ์แอล) | Pfizer |
Carxasin (คาร์ซาซิน) | M & H Manufacturing |
Cazosin (คาโซซิน) | Millimed |
Dezcard (เดซการ์ด) | Siam Bheasach |
Dovizin (โดวิซิน) | Ranbaxy |
Dozozin (โดโซซิน) | Umeda |
Duracard (ดูราการ์ด) | Sun Pharma |
Genzosin (เจนโซซิน) | Genovate Biotechnology |
Pencor (เพนคอร์) | Unison |
Xadosin (ซาโดซิน) | MacroPhar |
Urief (ยูรีฟ) | Eisai |
Atodel (อโทเดล) | Remedica |
Hyposin 2 (ไฮโพซิน 2) | V S Pharma |
Lopress (โลเพรส) | Siam Bheasach |
Mima (มิมา) | New Life Pharma |
Minipress (มินิเพรส) | Pfizer |
Polypress (โพลีเพรส) | Pharmasant Lab |
Prazosin T.O. (พราโซซิน ที.โอ.) | T.O. Chemicals |
Pressin (เพรสซิน) | Utopian |
Harnal OCAS (ฮาร์นอล โอซีเอเอส) | Astellas Pharma |
Xatral XL (ซาทอล เอ็กซ์แอล) | sanofi-aventis |
Hytrin (ไฮทริน) | Abbott |
Desirel (ดิไซเรล) | Codal Synto |
Trazo (ทราโซ) | Medifive |
Trazodone Pharmasant (ทราโซโดน ฟาร์มาซันท์) | Pharmasant Lab |
Zodonrel (โซดอนเรล) | Condrugs |
Zorel (โซเรล) | Utopian |
Brevibloc (เบรวิบล็อก) | Baxter Healthcare |
Caraten (คาราเทน) | Berlin Pharm |
Dilatrend (ไดลาเทรน) | Roche |
Tocarlol 25 (โทคาร์ลอล 25) | T. O. Chemicals |
Cardoxone R (คาร์ดอซอน อาร์) | Remedica |
Meloc (เมล็อก) | T. Man Pharma |
Melol (เมลอล) | Pharmasant Lab |
Metoblock (เมโทบล็อก) | Silom Medical |
Metoprolol (เมโทโพรลอล) | Stada |
Metprolol (เมทโพรลอล) | Pharmaland |
Sefloc (เซฟล็อก) | Unison |
Bisloc (บิสล็อก) | Unison |
Concor (คอนคอร์) | Merck |
Hypercor (ไฮเพอร์คอร์) | Sriprasit Pharma |
Novacor (โนวาคอร์) | Tri Medical |
Nebilet (เนบิเลท) | Menarini |
Betoptic S (เบท็อปติก เอส) | Alcon |
Arteoptic (อาร์ติออพติก) | Otsuka |
Betagan (เบทาแกน) | Allergan |
Archimol (อาร์ชิมอล) | T P Drug |
Glauco Oph (กลายูโค ออฟ) | Seng Thai |
Opsartimol (ออพซาร์ไทมอล) | Charoon Bhesaj |
Timodrop (ไทโมดร็อพ) | Biolab |
Timolol Maleate Alcon (ทิโมลอล มาลีทเอท อัลคอน) | Alcon |
Timo-optal (ทิโม-ออฟตัล) | Olan-Kemed |
Timoptol (ทิมอพทอล) | MSD |
Timosil (ทิโมซิล) | Silom Medical |
Atcard (แอทการ์ด) | Utopian |
Atenol (อะทีนอล) | T. O. Chemicals |
Atenolol Community Pharm (อะทีนอล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Atenolol Kopran (อะทิโนลอล โคพราน) | Kopran |
Betaday-50 (เบต้าเดย์-50) | Vesco Pharma |
Enolol (อีโนลอล) | Charoon Bhesaj |
Esnolol (เอสโนลอล) | Emcure Pharma |
Eutensin (ยูเทนซิน) | Greater Pharma |
Oraday (ออราเดย์) | Biolab |
Prenolol (พรีโนลอล) | Berlin Pharm |
Tenocard (ทีโนคาร์ด) | IPCA |
Tenolol (ทีโนลอล) | Siam Bheasach |
Tenormin (ทีนอร์มิน) | AstraZeneca |
Tenrol (เทนรอล) | Unique |
Tetalin (ทีตาลิน) | Pharmasant Lab |
Tolol (โทลอล) | Suphong Bhaesaj |
Velorin (วีโลริน) | Remedica |
Alperol (อัลพีรอล) | Pharmasant Lab |
Betalol (เบต้าลอล) | Berlin Pharm |
Betapress (เบต้าเพรส) | Polipharm |
C.V.S. (ซี.วี.เอส.) | T. Man Pharma |
Cardenol (คาร์ดีนอล) | T.O. Chemicals |
Chinnolol (ชินโนลอล) | Chinta |
Emforal (เอมโฟรอล) | Remedica |
Idelol 10 (ไอดีลอล 10) | Medicine Products |
Inderal (อินดีรอล) | AstraZeneca |
Normpress (นอร์มเพรส) | Greater Pharma |
Palon (พาลอล) | Unison |
Perlon (เพอร์ลอน) | Asian Pharm |
P-Parol (พี-พารอล) | Osoth Interlab |
Pralol (พราลอล) | Pharmasant Lab |
Prolol (โพรลอล) | Atlantic Lab |
Propanol (โพรพานอล) | Utopian |
Propranolol GPO (โพรพราโนลอล จีพีโอ) | GPO |
Syntonol (ซินโทนอล) | Codal Synto |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Adrenergic_antagonist [2017,Dec9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Catecholamine [2017,Dec9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha_blocker [2017,Dec9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta_blocker [2017,Dec9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-1_blocker [2017,Dec9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-2_blocker [2017,Dec9]
Updated 2017,Dec9