อะซีเมทาซิน (Acemetacin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะซีเมทาซิน(Acemetacin) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) ที่นำมาใช้บรรเทาอาการปวดจากการอักเสบของ กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ ต่างๆ ของร่างกายโดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งปิดกั้นการผลิตสารเคมีที่เรียกกันว่า Prostaglandins ซึ่งจะถูกปลดปล่อยออกมาในบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บ และสารProstaglandinsนี้เองที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการปวดอักเสบของร่างกาย

ในประเทศไทย ตัวยาอะซีเมทาซินมีลักษณะเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน โดยถูกกำหนดให้เป็นยาอันตราย และมีเงื่อนไขการใช้ยาอะซีเมทาซินบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบเช่น ข้อห้าม-ข้อควรระวัง ดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม NSAIDs หรือแพ้ยาอะซีเมทาซิน
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคแผลในทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตในระดับรุนแรง
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการบวมใต้ผิวหนัง (Angioedema)/ผื่นแพ้ยา
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคเลือดชนิดต่างๆที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด ด้วยยากลุ่ม NSAIDs สามารถกระตุ้น ให้อาการหอบหืดกำเริบได้ง่ายมากขึ้น
  • ระวังการใช้ยาอะซีเมทาซินกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เพราะตัวยาสามารถกระตุ้น ให้มีภาวะคั่งของของเหลวตามเนื้อเยื่อของร่างกาย และเป็นเหตุสนับสนุนอาการความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี
  • การใช้ยาอะซีเมทาซินกับผู้ป่วย โรคลมชัก และโรคพาร์กินสัน เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวเกิดง่ายและมีความรุนแรงมากขึ้น
  • การใช้ยาชนิดนี้กับผู้สูงอายุ จะทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาอะซีเมทาซินได้ง่าย กว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น จึงต้องเพิ่มความระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องใช้ยาอะซีเมทาซินกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

*อนึ่ง ระหว่างรับประทานยาอะซีเมทาซินแล้วเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) รุนแรง เช่น ปวดท้องรุนแรง ใบหน้าแดง ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือดหรืออุจจาระมีสีดำ อาเจียนออกมาเป็นเลือด/อาเจียนเป็นเลือด กรณีเหล่านี้ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

อะซีเมทาซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะซีเมทาซิน

ยาอะซีเมทาซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ปวดจากข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis) ปวดจากโรคเกาต์ (Gout) ปวดหลัง
  • ใช้บรรเทาอาการปวดบาดแผลหลังการผ่าตัด

อะซีเมทาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะซีเมทาซินมีการดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร จากนั้นตัวยาจะมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Cyclooxygenase เอนไซม์นี้มีหน้าที่สำคัญต่อกระบวนสังเคราะห์สารที่กระตุ้นการอักเสบอย่าง Prostaglandins จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ระดับสาร Prostaglandins ในบริเวณอวัยวะที่มีอาการปวดอักเสบลดลง และกลไกนี้อาจมีระยะเวลายาวนานได้ถึง 16 ชั่วโมง จึงเป็นเหตุผลทำให้การรับประทานยาอะซีเมทาซินเพียง 1–2 ครั้ง/วันก็สามารถบรรเทาอาการปวดอักเสบได้ตามสรรพคุณ

อะซีเมทาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะซีเมทาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Acemetacin ขนาด 60 และ 90 มิลลิกรัม/แคปซูล

อะซีเมทาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะซีเมทาซินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. กรณีปวดเฉียบพลัน (Acute symptom):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 180 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง

ข. กรณีปวดจากโรคเกาต์:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 90 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ไม่เกิน 5 วันติดต่อกัน

ค. อาการปวดทั่วไป:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 90 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อม หรือ หลังอาหาร
  • ห้ามแกะยาออกจากแคปซูล ควรรับประทานยาทั้งแคปซูล และดื่มน้ำตาม อย่างพอเพียง
  • ไม่แนะนำให้ไปซื้อยามารับประทานเอง ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และขนาดยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะซีเมทาซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซีเมทาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่รับประทานอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาอะซีเมทาซิน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

อนึ่ง ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าว่า กรณีที่ลืมรับประทานยานี้ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

อะซีเมทาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะซีเมทาซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีแผลในทางเดินอาหาร อาหารไม่ย่อย ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ท้องอืด เบื่ออาหาร มีเลือดในเสมหะ/เสมหะเป็นเลือด ช่องปากเป็นแผล
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน นอนไม่หลับ มีไข้ เกิดลมชัก
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น อาจมีกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีเลือดออกในจมูก เลือดกำเดา หอบหืด หายใจขั ด
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเลือดจาง ระดับเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ฮีโมโกลบินต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดแผลที่ตับ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง เส้นเลือด/หลอดเลือดอักเสบ มีอาการบวมตามร่างกาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน เกิดลมพิษ ผิวหนังลอก
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ฝันร้าย ซึม ประสาทหลอน รู้สึกสับสน

มีข้อควรระวังการใช้อะซีเมทาซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซีเมทาซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • การรับประทานยาอะซีเมทาซินร่วมกับยาใดๆควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆรวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิดด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียบ่อยครั้ง วิงเวียนศีรษะมาก มีภาวะเลือดออกง่าย และอื่นๆ ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบ แพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะซีเมทาซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะซีเมทาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะซีเมทาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาอะซีเมทาซินร่วมกับยาNSAIDs กลุ่มอื่น จะเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงต่างๆสูงขึ้นตามมา หากไม่มีความจำเป็นหรือคำสั่งแพทย์ ควรงดการรับประทานยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซีเมทาซินร่วมกับยากลุ่มSSRI ด้วยจะทำให้ประสิทธิผล การรักษาของยา SSRI ด้อยลง
  • ห้ามใช้ยาอะซีเมทาซินร่วมกับยาลดความดันโลหิตชนิดต่างๆ ด้วยยาอะซีเมทาซิน จะรบกวนการทำงานของยาลดความดันโลหิตเหล่านั้น
  • การใช้ยาอะซีเมทาซินร่วมกับยาขับปัสสาวะ สามารถทำให้เกิดไตเสื่อม/โรคไตเร็วยิ่งขึ้น หากไม่มีคำสั่งแพทย์ ห้ามรับประทานยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาอะซีเมทาซินร่วมกับยารักษามะเร็ง อย่างเช่น Methotrexate เพราะจะทำให้ตัวยา Methotrexate อยู่ในร่างกายได้ยาวนานมากขึ้นจนส่งผลให้ได้รับอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงตามมาจากยา Methotrexate

ควรเก็บรักษาอะซีเมทาซินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอะซีเมทาซิน ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

อะซีเมทาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะซีเมทาซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aceo (เอซีโอ) American Taiwan Biopharm
Emflex (เอมเฟล็กซ์)Merck KGaA

บรรณานุกรม

  1. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.1001.pdf [2018,Sept22]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Acemetacin [2018,Sept22]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/aceo/?type=brief [2018,Sept22]