ออริสแตท (Orilstat) หรือ เซนิคอล (Xenical)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ออริสแตท (Orilstat) คือยาบำบัดรักษาโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยมีกลไกยับยั้งการดูดซึมไขมันเข้าสู่ร่างกายจากทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นการลดแคลอรีหรือพลังงานเข้าสู่ร่างกายช่องทางหนึ่ง ยานี้มีชื่อการค้าว่า “เซนิคอล (Xenical)” ถูกผลิตโดยบริษัทโรช (Roche) ประเทศสหรัฐอเมริกา

จากการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้า สู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า หลังรับประทาน ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีในระบบทาง เดินอาหาร การกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% หรือค่าครึ่งชีวิต (Half life) ของยาในร่างกายใช้เวลาเพียง 1 - 2 ชั่วโมง โดยมากตัวยาจะถูกขับผ่านมากับอุจจาระ

ในประเทศไทย จะพบว่ามีบริษัทที่จัดจำหน่ายน้อยมาก ออริสแตทจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การจะใช้ยาได้ปลอดภัย ถูกต้อง ควรต้องขอคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

ยาออริสแตทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ออริสแตท

ยาออริสแตทมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เนื่องจากมีการสะสมไขมันของร่างกายมาก
  • ช่วยลดอุบัติการณ์ความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • ช่วยเสริมในการลดความดันโลหิต

ยาออริสแตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาออริสแตทคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ระบบทางเดินอาหารของผู้บริโภค โดยจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์หรือน้ำย่อยไขมันในกระเพาะอาหารและตับอ่อน (Inhibiting gastric and pancreatic lipase) ทำให้ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในอาหารไม่ถูกปลดปล่อยออกมา แต่จะถูกส่งผ่านไปกับกากอาหาร และขับออกมากับอุจจาระในที่สุด

ยาออริสแตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาออริสแตท:

  • ยาแคปซูล ขนาด 120 มิลลิกรัม/แคปซูล

ยาออริสแตทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาออริสแตทมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 แคปซูลวันละ 3 ครั้งพร้อมอาหาร
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): อายุมากกว่า 12 ปี รับประทานขนาดเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ที่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออริสแตท ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออริสแตทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาออริสแตท สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาออริสแตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออริสแตทสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อุจจาระเยิ้มจากมีน้ำมัน/ไขมันปน
  • มีแก๊สในทางเดินอาหารมาก
  • การกลั้นอุจจาระยากขึ้น ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว
  • รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ปวดท้อง
  • ท้องอืด
  • ปวดช่องทวารหนัก

มีข้อควรระวังการใช้ยาออริสแตทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาออริสแตท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีการดูดซึมสารอาหารได้ไม่ดี
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำดีจากตับสู่ลำไส้เล็กอันเนื่องมาจากนิ่วในถุงน้ำดีหรือเนื้องอก
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ไม่ควรใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
  • การใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย จะเป็นปัจจัยที่ช่วยควบคุมน้ำหนักของร่างกายได้ดี ระดับหนึ่ง ควรแนะนำวิธีดังกล่าวก่อนการใช้ยานี้เสมอ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, ผู้ที่มีประวัติเป็นนิ่วถุงน้ำดี, ผู้ที่มีประวัติ ตับอ่อนอักเสบ, ผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออริสแตทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาออริสแตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาออริสแตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาออริสแตท ร่วมกับ ยากดภูมิคุ้มกัน เช่นยา Cyclosporine อาจทำให้ฤทธิ์ของยา Cyclosporine ด้อยประสิทธิภาพลง ก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ที่อยู่ระหว่างการปลูกถ่ายอวัยวะ อาจทำให้ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่นั้นๆ หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยา Cyclosporine ให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาออริสแตท ร่วมกับ ยาต้านเอชไอวี เช่นยา Adefovir, Abacavir จะเกิดการรบกวนการดูดซึมของยาต้านเอชไอวี และส่งผลต่อประสิทธิภาพของการบำบัดโรคเอชไอวีในผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาออริสแตท ร่วมกับ ยาเบาหวาน เช่นยา Glimepiride อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนนำมาซึ่งอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ/ ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ หิวบ่อย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดรับประทานในผู้ป่วยที่ได้รับยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาออริสแตทอย่างไร?

ยาออริสแตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาออริสแตท ร่วมกับ ยากดภูมิคุ้มกัน เช่นยา Cyclosporine อาจทำให้ฤทธิ์ของยา Cyclosporine ด้อยประสิทธิภาพลง ก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ที่อยู่ระหว่างการปลูกถ่ายอวัยวะ อาจทำให้ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่นั้นๆ หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยา Cyclosporine ให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาออริสแตท ร่วมกับ ยาต้านเอชไอวี เช่นยา Adefovir, Abacavir จะเกิดการรบกวนการดูดซึมของยาต้านเอชไอวี และส่งผลต่อประสิทธิภาพของการบำบัดโรคเอชไอวีในผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาออริสแตท ร่วมกับ ยาเบาหวาน เช่นยา Glimepiride อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนนำมาซึ่งอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ/ ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ หิวบ่อย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดรับประทานในผู้ป่วยที่ได้รับยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน

ยาออริสแตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออริสแตท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Xenical (เซนิคอล) Roche

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Orlistat#Medical_uses [2021,Sept11]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/orlistat?mtype=generic [2021,Sept11]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Xenical/?type=brief [2021,Sept11]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Cholestasis [2021,Sept11]
  5. https://www.drugs.com/orlistat.html [2021,Sept11]
  6. https://www.healthcentral.com/condition/obesity [2021,Sept11]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/cyclosporine-with-orlistat-763-0-1756-0.html [2021,Sept11]