ออกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาออกซี่เมตาโซลีน (Oxymetazoline)คือ ยาพ่นจมูกเพื่อลดอาการคั่งของน้ำมูก บรรเทาอาการคัดจมูก แต่ไม่ควรใช้ยานี้เกิน 3 วัน ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะเยื่อจมูกอักเสบและเกิดการคั่งของน้ำมูกย้อนกลับคืนตามมา(Rebound congestion) สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ติดต่อกันบ่อยๆ มักจะพบกับอาการคัดจมูกน้ำมูกมากแบบเรื้อรังตามมา

หากพิจารณาคุณสมบัติโครงสร้างทางเคมีจะพบว่ายานี้จัดอยู่ในประเภท Selective alpha -1 agonist รวมถึงแสดงฤทธิ์เป็น Alpha-2 agonist (อ่านเพิ่มเติมเรื่องยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ซิมพาโทมิเมติค) ได้บ้างเช่นกัน

ยาออกซี่เมตาโซลีนถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อการค้า เช่น Afrin, Ocuclear, Drixine, ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะของยาพ่น หรือยาหยอดจมูก

ตัวยาออกซี่เมตาโซลีน จะถูกดูดซึมในช่องปากส่วนที่ต่อกับโพรงจมูก และสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึงประมาณ 7 ชั่วโมง หลังการพ่นยาร่างกายต้องใช้เวลา 5 - 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและบางส่วนผ่านไปกับอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาออกซี่เมตาโซลีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุวัตถุประสงค์ของการรักษาให้เป็นยาลดอาการคัดจมูก โดยมีลักษณะการใช้ยาแบบหยอด และพ่นจมูก ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่จะทำให้มีอาการคัดจมูกเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ออกซี่เมตาโซลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ออกซี่เมตาโซลีน

ยาออกซี่เมตาโซลีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการคัดแน่นจมูก น้ำมูกมาก ในรูปแบบ ยาพ่นจมูก, ยาหยอดจมูก
  • รักษาอาการตาแดงอันเนื่องมาจากการระคายเคืองในรูปแบบยาหยอดตา

ออกซี่เมตาโซลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาออกซี่เมตาโซน จะออกฤทธิ์ในลักษณะของยา Sympathomimetics ส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดในบริเวณที่มีการหยอดหรือพ่นยา ทำให้ลดอาการบวมและลดการหลั่งน้ำเมือกต่างๆของบริเวณดังกล่าว ด้วยกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ออกซี่เมตาโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาออกซี่เมตาโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาพ่นจมูก/ยาสเปรย์จมูก: ขนาดความเข้มข้น 0.05% (0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)
  • ยาหยอดจมูก: ขนาดความเข้มข้น 0.025% (0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)

ออกซี่เมตาโซลีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาออกซี่เมตาโซลีนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาสำหรับอาการคัดจมูกน้ำมูกมากดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่และ เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: สเปรย์ยา/หยอดยา 1 - 3 ครั้งเข้าโพรงจมูกวันละ 2 เวลาเช้า - เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออกซี่เมตาโซลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซี่เมตาโซลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมสเปรย์/หยอดจมูกควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่น/สเปรย์/หยอดยาออกซี่เมตาโซลีนสามารถพ่น/หยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการพ่น/หยอดยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ออกซี่เมตาโซลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออกซี่เมตาโซลีน ทั้งชนิดหยอด/พ่นจมูกสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ทำให้รู้สึกแสบคันบริเวณสัมผัสยา
  • อาจพบอาการจาม
  • ปากคอแห้ง
  • หากใช้ยาไปนานอาจเกิดภาวะแน่นจมูกกลับมาใหม่
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการ
    • ปวดหัว
    • นอนไม่หลับ
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ความดันโลหิตสูง
    • กระสับกระส่าย
    • คลื่นไส้
    • วิงเวียน
    • หัวใจและชีพจรเต้นผิดจังหวะ

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยาออกซี่เมตาโซลีนเกินขนาด จะมีอาการความดันโลหิตสูงหรือต่ำก็ได้, อาจเกิดภาวะคลื่นไส้-อาเจียน, ตัวเย็น, รูม่านตาหรี่แคบ, เหงื่อออกมาก, ปวดหัว, ชักจนถึงขั้นโคม่า, หากพบอาการดังกล่าว ควรต้องรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งในทางคลินิกยังไม่มียาต้านพิษของยาออกซี่เมตาโซลีนโดยตรง แพทย์อาจใช้ยากลุ่ม Alpha adrenergic antagonists เช่นยา Phentolamine เพื่อลดภาวะความดันโลหิตสูง บางกรณีแพทย์อาจพิจารณาการใช้ยากลุ่ม Benzodiazepines ช่วยป้องกันและลดอาการชักที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)

มีข้อควรระวังการใช้ออกซี่เมตาโซลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ออกซี่เมตาโซลีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ(ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่อง ปัสสาวะขัด, ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต และผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซี่เมตาโซลีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ออกซี่เมตาโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาออกซี่เมตาโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาออกซี่เมตาโซลีนชนิดพ่น/หยอดจมูก ร่วมกับ ยา Ergotamine สามารถทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น และเกิดภาวะลดการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาออกซี่เมตาโซลีน ร่วมกับ ยา Duloxetine (ยาโรคซึมเศร้า) สามารถทำให้เกิดภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาออกซี่เมตาโซลีน ร่วมกับ ยากลุ่ม MAOIs อาทิเช่นยา Selegiline, Tranylcypromine ด้วยสามารถทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

ควรเก็บรักษาออกซี่เมตาโซลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาออกซี่เมตาโซลีน:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ออกซี่เมตาโซลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออกซี่เมตาโซลีน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Iliadin (อิลิเอดิน) Merck
Metzodin (เมทโซดิน) Sriprasit Pharma
Oxymet (ออกซี่เมท) Greater Pharma
Pernazene Oxy (เพอร์นาซีน ออกซี่) sanofi-aventis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Oxymetazoline [2021,July10]
  2. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/oxymetazoline?mtype=generic [2021,July10]
  3. https://www.drugs.com/mtm/oxymetazoline-nasal.html [2021,July10]
  4. https://go.drugbank.com/drugs/DB00935 [2021,July10]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=oxymetazoline [2021,July10]
  6. https://www.drugs.com/monograph/oxymetazoline.html [2021,July10]