ออกซิเตตราไซคลีน (Oxytetracycline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ ยาอะไร?

ยาออกซิเตตราไซคลีน (Oxytetracycline) คือ ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง (ครอบคลุมแบคทีเรียได้หลายชนิด) ถือเป็นยาตระกูลเดียวกับยา Tetracycline เพียงแต่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกันเล็กน้อย

ทางแพทย์ ได้นำยาออกซิเตตราไซคลีนมาใช้รักษาการติดเชื้อต่างๆ เช่น

  • กลุ่มแบคทีเรียที่ชื่อ Chlamydia: ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในอวัยวะบริเวณทรวงอก (Psittacosis), การติดเชื้อที่เปลือกตา/หนังตา (Trachoma, โรคริดสีดวงตา), การติดเชื้อในท่อปัสสาวะ (Urethritis, ท่อปัสสาวะอักเสบ)
  • กลุ่มแบคทีเรียที่ชื่อ Mycoplasma: อันเป็นสาเหตุของโรคปอดบวม (Pneumonia) เป็นต้น
  • กลุ่มแบคทีเรีย Propionibacterium: ที่เป็นสาเหตุของ สิว
  • แบคทีเรีย Haemophilus influenza: ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดลมอักเสบ

ทั้งนี้ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยา ที่พบเห็นได้จะเป็น ยาชนิดรับประทาน, ยาใช้ภายนอก (เช่น ยาป้ายตาและยาทาผิวหนัง), ซึ่งขณะที่ยาออกซิเตตราไซคลีนดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จะมีปริมาณยาประมาณ 20 - 40% ที่เข้าจับกับพลาสมาโปรตีน ยาบางส่วนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ข้อจำกัดสำคัญของการใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน คือ

  • ห้ามรับประทานพร้อมกับนม และ
  • ควรรับประทานยาตอนกระเพาะอาหารว่าง

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขของการใช้ยานี้อีกมากมายที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค/ผู้ป่วย จึงควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด

ออกซิเตตราไซคลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ออกซิเตตราไซคลีน

ยาออกซิเตตราไซคลีนมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้: รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อตัวยาออกซิเตตราไซคลีน เช่น

  • สิวอักเสบ
  • โรคโกโนเรีย/โรคหนองใน (Uncomplicated gonorrhea)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณเปลือกตา/หนังตา (ริดสีดวงตา)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนัง(ผิวหนังติดเชื้อ)

ออกซิเตตราไซคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาออกซิเตตราไซคลีนคือ ตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของ แบคทีเรียที่เรียกว่า ไรโบโซม(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)/(30S และ 50S Ribosome subunits) ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการสังเคราะห์โปรตีนและไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อีก ซึ่งยาออกซิเตตราไซคลีนสามารถออกฤทธิ์ได้ดีกับแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบ และด้วยกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ออกซิเตตราไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาออกซิเตตราไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาผงชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 50 กรัม/ผงยา 100 กรัม
  • ยาขี้ผึ้งป้ายตาที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่นเช่น Oxytetracycline 0.5% + Polymyxin B 10,000 ยูนิต/กรัม
  • ยาขี้ผึ้งทาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Oxytetracycline HCl 30 มิลลิ กรัม + Polymyxin B sulfate 10,000 ยูนิต/กรัม

ออกซิเตตราไซคลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาออกซิเตตราไซคลีนมีขนาดรับประทานสำหรับต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาออกซิเตตราไซคลีน เช่น

  • ผู้ใหญ่ และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 250 - 500 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง
  • ในผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยานี้ลดลงตามความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • ขนาดการใช้ยานี้ที่เป็นยาใช้ภายนอกให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออกซิเตตราไซคลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซิเตตราไซคลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาออกซิเตตราไซคลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ออกซิเตตราไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออกซิเตตราไซคลีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ผิวแพ้แสงแดด
  • ลิ้นอักเสบ
  • กลืนลำบาก
  • หลอดอาหารอักเสบ
  • แผลในกระเพาะอาหาร
  • เกิดพิษกับไต/ ไตอักเสบ
  • ลำไส้อักเสบ
  • ปวดหัว
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • ตาพร่า
  • ความดันในกะโหลกศีรษะสูง

*อนึ่ง:สำหรับผู้ที่รับประทานยาออกซิเตตราไซคลีนเกินขนาด ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการได้รับผลข้างเคียงที่มากเกินไปของยานี้ หากเพิ่งรับประทานออกซิเตตราไซคลีนไม่เกิน 1 ชั่วโมง แพทย์อาจล้างท้องหรือให้ผู้ป่วยดื่มนมหรือยาลดกรดเพื่อทำลายพิษของยาออกซิเตตราไซคลีน

มีข้อควรระวังการใช้ออกซิเตตราไซคลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ออกซิเตตราไซคลีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และกับผู้แพ้ยาในกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracycline)
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมนม
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซิเตตราไซคลีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ออกซิเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาออกซิเตตราไซคลีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน ร่วมกับ ยาลดกรด และ ยาวิตามินที่ประกอบด้วย ธาตุเหล็ก, อะลูมิเนียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, และสังกะสี, ด้วยตัวยาเหล่านี้จะก่อกวนและลดการดูดซึมของยาออกซิเตตราไซคลีนจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุม กำเนิดด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน ร่วมกับ ยา Lithium, Digoxin และ Theophylline อาจทำให้เพิ่มระดับความเข้มข้นของยาดังกล่าวในกระแสเลือด หากต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน ร่วมกับ ยาประเภทสาร Ergot alkaloids (สารชนิดหนึ่งที่พบในธรรมชาติที่มีผลต่อการหดตัวของหลอดเลือด) เช่นยา Ergotamine อาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากกลุ่ม Ergot alkaloids หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาออกซิเตตราไซคลีนอย่างไร

ควรเก็บยาออกซิเตตราไซคลีน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ออกซิเตตราไซคลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออกซิเตตราไซคลีน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
O-Tetra (โอ-เตตรา) P P Lab
Oxynutra (ออกซินูตรา) P P Lab
Oxycide (ออกซิไซด์) P P Lab
Oxycline (ออกซิคลีน) General Drugs House
Oxytetracycline HCl Chew Brothers (ออกซิเตตราไซคลีน เฮชซีไอ จิว บราเดอร์ส) Chew Brothers
Oxytetracycline Asian Union (ออกซิเตตราไซคลีน เอเชียน ยูเนียน) Asian Union
Oxylim (ออกซิลิม) Atlantic Lab
Terramycin (เทอร์รามายซิน) Pfizer
Terramycin Topical (เทอร์รามายซิน ทอปิคอล) Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Oxytetracycline [2021,May1]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/oxytetracycline%20asian%20union [2021,May1]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=oxytetracycline [2021,May1]
  4. https://www.drugs.com/cdi/oxytetracycline.html [2021,May1]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Terramycin/?type=brief [2021,May1]
  6. https://www.drugs.com/uk/oxytetracycline-tablets-250mg-leaflet.html [2021,May1]