ออกซาโพรซิน (Oxaprozin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ออกซาโพรซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ออกซาโพรซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ออกซาโพรซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ออกซาโพรซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ออกซาโพรซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ออกซาโพรซินอย่างไร?
- ออกซาโพรซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาออกซาโพรซินอย่างไร?
- ออกซาโพรซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยาออกซาโพรซิน(Oxaprozin หรือ Oxaprozinum)เป็นยาในกลุ่ม NSAIDs ที่ใช้บรรเทาอาการอักเสบ อาการปวด อาการบวมของข้อกระดูก รวมถึงอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ ยาออกซาโพรซินได้รับการขึ้นทะเบียนยาเมื่อปี ค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ถึงประมาณ 95% และในกระแสเลือด ยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 99% การทำลายโครงสร้างเคมีของยานี้เกิดที่ตับเป็นส่วนมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ตัวยาออกซาโพรซินอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานเกือบ 2 วัน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 40–54 ชั่วโมง เพื่อขับยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ข้อดีของยาออกซาโพรซินประการหนึ่งคือ รับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้งก็สามารถควบคุมอาการปวดอักเสบของผู้ป่วยได้แล้ว อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ต่อเนื่อง เป็นเวลานานๆ สามารถสร้างผลข้างเคียงที่รุนแรง และต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น เกิดภาวะหัวใจวาย เส้นโลหิต/หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก(โรคหลอดเลือดสมอง) นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นเดียวกับยา NSAIDs ตัวอื่นๆ
ทั้งนี้ มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่แพทย์ ไม่แนะนำ ให้ใช้ยาออกซาโพรซิน เช่น
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่ม NSAIDs
- ผู้ที่เพิ่งรับการผ่าตัดหัวใจมาใหม่ๆ
- สตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อการใช้ยาออกซาโพรซิน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาออกซาโพรซินกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
- ต้องเพิ่มความระวังเป็นอย่างมากหากต้องใช้ยาออกซาโพรซินกับผู้ป่วยโรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน โรคแผลในทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) ด้วยตัวยาสามารถทำให้อาการของโรคดังกล่าวทวีความรุนแรงได้มากยิ่งขึ้น
- เป็นผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยา Aspirin, Corticosteroids, Heparin, และ SSRIs, ด้วยกลุ่มยาเหล่านี้ เมื่อใช้ร่วมกับยาออกซาโพรซินจะทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารและในลำไส้ได้ง่ายมากขึ้น
- ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งที่ผิวหนังมีการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง หากได้รับยากลุ่ม NSAID ที่รวมถึงยาออกซาโพรซิน สามารถกระตุ้นให้ผิวหนังแพ้แสงแดดได้ง่ายมากขึ้น
*สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาออกซาโพรซินเกินขนาด จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)รุนแรงเพิ่มเป็นทวีคูณ สามารถสังเกตได้จาก อาการปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะลำบาก สูญเสียสติสัมปชัญญะ เกิดอาการชัก วิงเวียนอย่างรุนแรง ง่วงนอนมาก คลื่นไส้ และปวดท้องอย่างรุนแรง หายใจแผ่ว/เบา/ตื้นลง อาเจียนออกมามีสีเข้มเหมือนสีกาแฟ/อาเจียนเป็นเลือด ซึ่งหากพบเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อใช้ยานี้ ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทันที/ฉุกเฉิน
อาจจะสรุปข้อควรระวัง ระหว่างการใช้ยาออกซาโพรซิน ออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้
- ควรเฝ้าระวัง และดูความผิดปกติการทำงานของหัวใจ เช่น เหนื่อยง่าย ตลอดจนความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น มีเลือดออกจากระบบทางเดินอาหารหรือไม่
- หากพบ อาการผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก บวมตามร่างกายและ ผิวหนังบวมระหว่างที่ใช้ยาออกซาโพรซิน ให้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าตนเองอาจแพ้ยานี้เข้าแล้ว จึงควรต้องหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- กรณีที่พบอาการ คลื่นไส้ ตัวเหลือง อ่อนแรง มีอาการคล้ายเป็น โรคหวัดเหล่านี้ อาจเป็นผลมาจากตับเริ่มทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยาออกซาโพรซิน และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งที่ต้องใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาออกซาโพรซิน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะแพ้ยาออกซาโพรซินง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- ไม่ควรซื้อยานี้มารับประทานเองโดยมิได้ขอคำแนะนำจากแพทย์หรือจากเภสัชกรก่อน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มประเภทสุรา การสูบบุหรี่ ระหว่างการใช้ยานี้ ด้วยแอลกอฮอล์และบุหรี่ สามารถทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่ายมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย อาจพบเห็นการใช้ยานี้ได้น้อย แต่ในต่างประเทศ จะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาออกซาโพรซินภายใต้ชื่อการค้าว่า “Daypro”
ออกซาโพรซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาออกซาโพรซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการ ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ทั้งในผู้ใหญ่ และในเด็ก (Rheumatoid arthritis)
ออกซาโพรซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาออกซาโพรซินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยจัดเป็นอนุพันธ์ของกรดโพรพิโอนิก(Propionic acid)ในหมวด NSAIDs ที่สามารถออกฤทธิ์ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ) ส่งผลให้ร่างกายชะลอการสังเคราะห์สารที่กระตุ้นการอักเสบอย่างเช่น โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้การปวดอักเสบของข้อ-กระดูก, อาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์บรรเทาลงได้ตามสรรพคุณ
ออกซาโพรซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาออกซาโพรซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Oxaprozin 600 มิลลิกรัม/เม็ด (0.6 กรัม/เม็ด)
ออกซาโพรซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาออกซาโพรซิน มีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับรักษาโรค ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1.2 กรัม วันละ1 ครั้ง, สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย เช่นต่ำกว่า 50 กิโลกรัมลงมา แพทย์อาจให้เริ่มรับประทานที่ขนาด 0.6 กรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1.8 กรัม/วัน หรือคำนวณตามเกณฑ์น้ำหนักตัว 26 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้งตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีรายงานการใช้ยานี้ในเด็ก เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคของผู้ใหญ่
ข.สำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1.2 กรัม วันละ1ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1.8 กรัม/วัน หรือคำนวณตามเกณฑ์น้ำหนักตัว 26 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3ครั้งตามคำสั่งแพทย์
ค. สำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis):
ก.เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป:
- น้ำหนักตัว 22–31 กิโลกรัม, รับประทานยา 600 มิลลิกรัม/วัน
- น้ำหนักตัว 32–54 กิโลกรัม, รับประทานยา 900 มิลลิกรัม/วัน
- น้ำหนักตัว 55 กิโลกรัมขึ้นไป, รับประทานยา 1,200 มิลลิกรัม/วัน
ข. เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ห้ามใช้ยานี้
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้หลังอาหารทันที หรือรับประทานพร้อมอาหาร แต่การรับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร อาจทำให้เวลาการดูดซึมยาเข้ากระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพของการรักษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
- การรับประทานยาออกซาโพรซินร่วมกับยาลดกรด ไม่มีผลต่อการดูดซึมตัวยาออกซาโพรซินเข้าสู่ร่างกาย
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาออกซาโพรซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ แผลในทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซาโพรซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
การใช้ออกซาโพรซินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ กรณีที่ลืมรับประทานยานี้ ให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยานี้ในขนาดปกติ
ออกซาโพรซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาออกซาโพรซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง มีภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด/เม็ดเลือดทุกชนิดมีปริมาณต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ท้องอืด เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร อาเจียน คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก ปากแห้ง กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ มีอาการชัก โคม่า ตัวสั่น มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดดำอักเสบ
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ดีซ่าน ตับอักเสบ ตับวาย
- ผลต่อไต: เช่น กรวยไตอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน เกิดนิ่วในไต
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผมร่วง ผื่นแพ้แสงแดด เหงื่อออกมาก ผื่นผิวหนังอักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะถี่/บ่อย ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะมาก มีโปรตีนในปัสสาวะ
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักตัวลดลง
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม รู้สึกสับสน วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หอบหืด หยุดหายใจ ติดเชื้อที่ปอด/ปอดอักเสบ ปอดบวม ไซนัสอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ภาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน กดการหายใจ
มีข้อควรระวังการใช้ออกซาโพรซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาออกซาโพรซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี แผลในกระเพาะอาหาร หรือในลำไส้ ผู้ที่เพิ่งรับการผ่าตัดหัวใจมาใหม่ๆ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
- เมื่อใช้ยานี้ หากพบอาการ ผื่นคัน อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปัสสาวะมีเลือดปน อุจจาระมีสีคล้ายคล้ายสีกาแฟ/อุจจาระเป็นเลือด ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซาโพรซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภํณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ออกซาโพรซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาออกซาโพรซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาออกซาโพรซินร่วมกับยา Aspirin ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อร่างกายผู้ป่วย หรือที่เรียกกันว่า Salicylate toxicity (อาการ เช่น คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย วิงเวียนศีรษะ ไข้สูง ชัก โคม่า)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาออกซาโพรซินร่วมกับ ยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่ม ACE inhibitors ด้วยยาออกซาโพรซินอาจทำให้ฤทธิ์การลดความดันโลหิตของยากลุ่ม ACE inhibitors ด้อยประสิทธิภาพลงไป
- การใช้ยาออกซาโพรซินร่วมกับยา Lithium อาจทำให้ระดับยา Lithium ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมาจากยาLithium หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาออกซาโพรซินร่วมกับยา Warfarin ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะเลือดออก ในระบบทางเดินอาหารได้ง่ายยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาออกซาโพรซินอย่างไร?
ควรเก็บยาออกซาโพรซินภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ออกซาโพรซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออกซาโพรซิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Daypro (เดย์โปร) | pfizer |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Dayrun, Duraprox, Macprox