ออกซานเทล (Oxantel)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ออกซานเทลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ออกซานเทลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ออกซานเทลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ออกซานเทลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ออกซานเทลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ออกซานเทลอย่างไร?
- ออกซานเทลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาออกซานเทลอย่างไร?
- ออกซานเทลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- พยาธิแส้ม้า (Whipworm) โรคพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)
- พยาธิปากขอ (Hookworm infection)
- พยาธิเข็มหมุด
- การตรวจอุจจาระ (Stool examination)
บทนำ
ยาออกซานเทล(Oxantel หรือ Oxantel pamoate) เป็นยารักษาโรคพยาธิที่สามารถใช้ได้ทั้งในคนและในสัตว์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิที่ลำไส้เล็ก ยานี้มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดต่ำ จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิที่ลำไส้ เช่น พยาธิแส้ม้า(Trichuris trichiura) พยาธิปากขอ(Hook worm) และพยาธิเข็มหมุด(Enterobiassis) ขนาดการรับประทานของยานี้จะถูกคำนวณโดยมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย
ผลข้างเคียงของยาออกซานเทลมักจะเกิดกับระบบทางเดินอาหาร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคก่อนการใช้ยาออกซานเทล ควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ รวมถึงการตรวจอุจจาระเพื่อวิเคราะห์ว่ามีการติดโรคพยาธิจริง
ยาออกซานเทลยังถูกนำมาใช้กับโรคปริทันต์หรือโรคเหงือกอักเสบซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่สะสมบริเวณคราบหินปูนและคราบอาหารที่ผิวฟันอีกด้วย โดยยาออกซานเทลจะเข้าไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ในตัวแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Fumarate reductase ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
ทั้งนี้ในแถบเอเชีย จะพบเห็นการใช้ยาออกซานเทลเป็นยารักษาโรคพยาธิ โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่เป็นยาผสมร่วมกับยา Pyrantel ซึ่งผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถพบเห็นการจำหน่ายยาออกซานเทลภายใต้ชื่อการค้าว่ายา “Quantrel”
ออกซานเทลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร
ยาออกซานเทลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาอาการติดโรคพยาธิตัวกลม(Round worm) เช่น พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ พยาธิเข็มหมุด
ออกซานเทลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาออกซานเทลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของตัวพยาธิ โดยจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของตัวพยาธิที่มีชื่อว่า Acetylcholinesterase ส่งผลให้ตัวพยาธิเกิดภาวะเป็นอัมพาต ไม่สามารถหาอาหารได้เหมือนปกติ และตายลงในที่สุด
ออกซานเทลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ออกซานเทลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Oxantel 20 มิลลิกรัม + Pyrantel embonate 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ออกซานเทลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาออกซานเทลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก: รับประทานขนาด 10–20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว โดยสามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
อนึ่ง: ด้วยสูตรตำรับของยาออกซานเทลเป็นรูปแบบของยาผสม โดยผู้บริโภคจะได้รับยา Pyrantel ขนาด 10–20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมร่วมด้วย
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาออกซานเทล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซานเทลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
โดยทั่วไป การใช้ยาออกซานเทลเพียงครั้งเดียวก็สามารถเห็นผลการรักษาแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รับประทานยาออกซานเทลตามเวลาที่กำหนดไว้ ก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้
ออกซานเทลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาOxantel ในรูปแบบยาผสมกับยา Pyrantel สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เป็นตะคริวที่ท้อง ทำให้เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน
- ผลต่ออาการทางจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้ออกซานเทลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาออกซานเทล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในสูตรตำรับออกซานเทล
- ห้ามใช้ยานี้หญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน ยามีเศษผงเจือปน
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
- ด้วยสูตรตำรับยาออกซานเทลจะประกอบด้วยตัวยาPyrantel ซึ่งถูกดูดซึม เข้าสู่ร่างกายได้บ้างและจะมีผลต่อการทำงานของตับ จึงต้องระวังการใช้ยาสูตรผสมนี้ กับผู้ป่วยโรคตับ
- ก่อนการใช้ยาออกซานเทล ควรได้รับการตรวจร่างกายและการตรวจอุจจาระจากแพทย์เพื่อยืนยันว่า ผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิชนิดใด เพื่อผู้ป่วยได้รับยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดของพยาธิ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซานเทลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ออกซานเทลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาออกซานเทลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาออกซานเทลร่วมกับยาถ่ายพยาธิ Albendazole สามารถส่งผลสนับสนุน การฆ่าเชื้อพยาธิแส้ม้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่การใช้ยาทั้ง 2 ตัวนี้ร่วมกัน ควร ต้องเป็นคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ควรเก็บรักษาออกซานเทลอย่างไร?
ควรเก็บยาออกซานเทลภายใต้เงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
ออกซานเทลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออกซานเทลที่จำหน่ายในต่างประเทศ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Quantrel (ควอนเทรล) | Johnson & Johnson |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/oxantel/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oxantel [2017,Feb25]
- http://www.drugsupdate.com/news/view/2/1066/oxantel-could-prevent-periodontitis [2017,Feb25]
- https://drug.mynahcare.com/drugs/genericdetail/oxantel-MTYzNQ [2017,Feb25]
- http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMc1403068?af%3DR%26rss%3DcurrentIssue#t=article [2017,Feb25]