อหิวาต์แอฟริกาในหมู (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

อหิวาต์แอฟริกาในหมู-2

      

      นสพ.สรวิศ กล่าวด้วยว่า อยากขอความร่วมมือเกษตรกรให้ยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดี ตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ไม่นำเศษอาหารมาเลี้ยงสุกรโดยเด็ดขาด หรือควรต้มให้สุกก่อน ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้

      และแนะนำให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดง และต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่

      นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการผลักดันยกระดับปัญหาแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแม้ว่าโรคนี้จะไม่แพร่จากสัตว์สู่คนก็ตาม แต่หากตรวจพบการแพร่ระบาด ก็จะส่งผลเสียต่อผู้เลี้ยงสุกร และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

      อหิวาต์แอฟริกาในหมู (African swine fever = ASF) เป็นโรคติอต่อที่เกิดในหมู ไม่มีการติดต่อมายังคน เกิดจากเชื้อไวรัสในวงศ์ Asfarviridae มีอาการคล้ายโรคอหิวาต์สุกร (Classical swine fever = CSF / Hog cholera) แต่เกิดจากไวรัสคนละตัว

      การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูเกิดได้จาก

  • การสัมผัสโดยตรงระหว่างหมูบ้านหรือหมูป่าที่ติดเชื้อ
  • การสัมผัสทางอ้อมด้วยการกินของที่ติดเชื้อ เช่น เศษอาหารที่ใช้เลี้ยงหมู สารคัดหลั่งของหมูติดเชื้อ
  • การสัมผัสกับไรฝุ่นในบ้านที่มีเชื้อ (Contaminated fomites) หรือ ตัวนำโรค (Biological vectors) เช่น เห็บอ่อน (Soft ticks) ที่อยู่ในตระกูล Ornithodoros

      อาการของโรคแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงและพันธุ์ของหมู โดยอาการเฉียบพลัน (Acute forms) ที่เกิดในหมู ได้แก่

      - มีไข้สูง

      - ซึมเศร้า (Depression)

      - เบื่ออาหาร (Anorexia)

      - เลือดออกใต้ผิวหนัง (Haemorrhages) โดยมีผิวแดงบริเวณหู ท้อง และขา

      - อาการเขียวคล้ำ (Cyanosis)

      - แท้งในหมูตัวเมีย

      - อาเจียน

      - ท้องเสีย

      - ไอหรือหายใจลำบาก

      - เสียชีวิตใน 6-13 วัน (หรือสูงสุดที่ 20 วัน) โดยมีอัตราการเสียชีวิตเกือบทั้งหมด

      ส่วนอาการกึ่งเฉียบพลันและอาการเรื้อรัง (Subacute and chronic forms) นั้น จะมีไข้เป็นพักๆ น้ำหนักลด และมีอัตราการเสียชีวิตที่ร้อยละ 30-70

      ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคและยังมีมีวิธีรักษา การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการต้มเศษอาหารที่ให้หมูกิน และการฆ่าหมูที่ติดเชื้อเพื่อไม่ให้แพร่ระบาด

แหล่งข้อมูล:

  1. อหิวาต์แอฟริกา โผล่เชียงราย. http://www.thaihealth.or.th/Content/45998-อหิวาต์แอฟริกา โผล่เชียงราย.html [2018, December 14].
  2. African Swine Fever (ASF). http://www.thepigsite.com/pighealth/article/441/african-swine-fever-asf/ [2018, December 14].
  3. African Swine Fever. http://www.oie.int/en/animal-health-in-the-world/animal-diseases/african-swine-fever/ [2018, December 14].