อยากเป็นหมอต้องอ่าน: เรียนอะไรบ้าง อย่างไร
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 14 พฤษภาคม 2564
- Tweet
ใครๆ ก็บอกว่าเรียนแพทย์นั้นมันหนักหนาสาหัส อดหลับ อดนอน ต้องสอบบ่อย ผมขอเล่าให้น้องๆ ฟังง่ายๆ ว่าการเรียนแพทย์นั้นแบ่งการเรียนเป็น 2 ช่วง คือการเรียนในชั้นปรีคลินิก ปีที่ 1-3 และการเรียนในชั้นคลินิกชั้นปีที่ 4-6 ดังนี้
1. การเรียนในชั้นปรีคลินิก ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-3 โดยชั้นปีที่ 1 นั้นเป็นการเรียนวิชาทั่วไป ภาษาอังกฤษ และจิตวิทยา ซึ่งในปีที่ 1 นั้นเรียกว่าเป็นปีที่สุขสบายที่สุดในชีวิตนักศึกษาแพทย์ เป็นการอุ่นเครื่องในการเรียนแพทย์ก็ว่าได้ ชีวิตจริงของนักศึกษาแพทย์เริ่มเข้มข้นตอนขึ้นปีที่ 2 ครับ
2. การเรียนในชั้นปีที่ 2 จะเรียนหนักกว่าชั้นปีที่ 1 อย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น มีทั้งเรียนเล็คเชอร์ เรียนแล็บ และเรียนกับครูใหญ่ โดยเรียนทีละระบบของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท เป็นต้น เมื่อเรียนจบก็จะสอบ ประมาณ 4- 6 สัปดาห์ในแต่ละระบบ นักศึกษาต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพราะทั้งรูปแบบการเรียน เนื้อหาที่เรียนนั้นแตกต่างกับที่เคยเรียนมาอย่างมาก เป็นการเรียนที่เตรียมพร้อมการเป็นแพทย์
3. การเรียนในชั้นปีที่ 3 ครึ่งปีแรกนั้นก็จะเหมือนกับปีที่ 2 ส่วนครึ่งปีหลังจะเรียนการตรวจร่างกาย และเตรียมการขึ้นเรียนในชั้นคลินิก ออกหมู่บ้านเพื่อเรียนรู้การแก้ปัญหาสาธารณสุขในชุมชน การทำงานเป็นทีม ร่วมกับนักศึกษาคณะต่างๆ ในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ การเรียนในปีที่ 3 นั้นไม่หนักเท่ากับปีที่ 2 เพราะนักศึกษาปรับตัวได้แล้วจากการเรียนในชั้นปีที่ 2
4. ก่อนการขึ้นเรียนชั้นคลินิก นักศึกษาแพทย์จะต้องสอบ national license ขั้นที่ 1 ซึ่งนักศึกษาต้องสอบให้ผ่าน จึงขึ้นเรียนชั้นปีที่ 4 ได้ เนื้อหาก็คือที่เรียนมาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 และ 3
5. การเรียนในชั้นปีที่ 4 ปีนี้ละครับ เรียกว่าของจริงสำหรับการเรียนแพทย์ เพราะเป็นการเรียนที่ต้องเรียนกับคนไข้จริงๆ ไม่ได้เรียนเฉพาะในห้องเรียน ห้องแล็บ แต่เป็นการเรียนที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วย ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน เปลี่ยนการเรียนจากสไลด์อาจารย์มาเป็นเรียนจากผู้ป่วยจริงๆ ต้องเรียนรู้การดูแลรักษาคนไข้ในแผนกต่างๆ ต้องฝึกการอยู่เวร การพูดคุย สอบถามประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายคนไข้ การทำคลอด การทำแผล การผ่าตัด การอยู่เวรจะอยู่ประมาณ 1 ครั้งทุกๆ 3 วัน การขึ้นเรียนในชั้นคลินิกจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 6.00 น. หรือไม่ก็ประมาณ 6.30 น. แล้วก็มีกิจกรรมดูแลรักษาคนไข้ เข้าห้องผ่าตัด ห้องคลอด หรือเรียนหนังสือ เวลาเลิกไม่ชัดเจน อาจเลิก 6 โมงเย็นเป็นส่วนใหญ่ ถ้าอยู่เวรต่อ ก็ถึงประมาณ 4 ทุ่มในชั้นปีที่ 4 กลับหอพักก็ต้องเขียนรายงานผู้ป่วย อ่านหนังสือ เตรียมการเรียน หรือการนำเสนอผู้ป่วยในวันรุ่งขึ้น การทำหัวข้อวิชาการ การอ่านวารสารทางการแพทย์ เป็นปีที่หนักจริงๆ ครับ ถ้าใครไม่ชอบการเป็นหมอ ปีที่ 4 นี้ก็จะเป็นทุกข์มาก อาจเรียนไม่ไหว และมีปัญหาด้านการเรียน ลาออก หรือตกออกก็ได้ ย้ำว่าเป็นปีที่จะทดสอบเลยครับว่าใครจะรอดหรือไม่รอด
6. การเรียนในชั้นปีที่ 5 ก็เหมือนกับชั้นปีที่ 4 ซึ่งนักศึกษาจะปรับตัวได้แล้ว จึงเป็นชั้นปีที่ไม่หนักหนาอะไร นักศึกษาก็จะผ่านไปด้วยดี แต่ตอนปลายปี จะต้องสอบ national license ขั้นที่ 2 ซึ่งนักศึกษาก็ต้องเคร่งเครียดกับการเตรียมตัวสอบมากพอสมควร
7. การเรียนในชั้นปีที่ 6 เหมือนกับการเตรียมตัวเป็นหมอ ต้องขึ้นดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เช้ามืดทุกๆ วัน เพื่อให้การดูแลรักษาคนไข้ก่อนที่แพทย์พี่เลี้ยงจะขึ้นมาดูผู้ป่วย ดังนั้นการเรียนในชั้นปีที่ 6 นี้จะเหมือนกับการฝึกงาน ฝึกการเตรียมตัวเป็นหมอจริงๆ จึงมีความรับผิดชอบมาก งานหนัก มีความเครียดกับการรักษาคนไข้ให้หาย การเรียนเล็คเชอร์จะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอผู้ป่วยข้างเตียง และการทำหัวข้อวิชาการ การอยู่เวรก็ตลอดคืน ไม่ได้นอนเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นการเรียนที่หนักหนาสาหัสด้านการรับผิดชอบ การอดนอน ดังนั้นสุขภาพกาย ใจต้องเข็มแข็งมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็ผ่าไปด้วยดี เนื่องจากผ่านการฝึกและปรับตัวมาหลายปีอย่างต่อเนื่อง จะมีปัญหาบ้างก็คือต้องสอบ national license ขั้นที่ 3 ถ้าไม่ผ่านก็ยังถือว่าไม่จบเป็นหมอ
8. เมื่อจบ 6 ปี และสอบ national license ผ่านก็จะต้องทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐอีก 3 ปี เรียกว่า intern ชั้นปีที่ 1-3 เป็นอีกด่านหนึ่งของการเป็นหมอที่แท้จริง เพราะจบเป็นหมอแล้ว ความรับผิดชอบเต็มตัว ต้องพบเจอปัญหาต่างๆ มากมายที่ต้องสอบให้ผ่านชีวิตจริง ไม่เหมือนการสอบในห้องสอบแล้ว
ดังนั้นการเรียนหมอนั้น ต้องชอบ ใจรัก มีความสุขในเป็นหมอ จึงจะทำให้น้องๆ ประสบความสำเร็จในการเป็นหมอ