อยากเป็นหมอต้องอ่าน: เพื่อประชาชน (ใช้ทุน)

อยากเป็นหมอต้องอ่าน-1

      

อยากเป็นหมอต้องอ่าน: เพื่อประชาชน (ใช้ทุน)

ภายหลังที่นักศึกษาแพทย์ทุกคนในภาครัฐจบการศึกษาแล้ว ก็จะต้องทำงานจริงในโรงพยาบาลภาครัฐ โดยไม่ต้องไปหางานทำ ผมคิดว่าตอนนี้น่าจะเหลือเพียงวิชาชีพเดียวที่ไม่ต้องหางานทำ คือ รัฐจะรับหมอทุกคนเข้าทำงานในภาครัฐเป็นเวลา 3 ปี ที่เรียกกันง่ายๆ ว่าการใช้ทุนของหมอทุกคน เป็นกติกาหรือสัญญาที่ทำกันตั้งแต่เข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 และนักเรียนแพทย์บางคนต้องใช้ทุนนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบการสอบเข้า และสัญญาการชดใช้ทุน หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องใช้ทุน ผมอยากบอกให้น้องหมอทุกคนทราบไว้ว่า ในการเรียนของนักศึกษาแพทย์นั้น รัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้ปีละประมาณ 3 แสนบาท รวมแล้วเกือบ 2 ล้านบาท แต่นักศึกษาแพทย์อาจไม่เคยรู้มาก่อน นักศึกษาแพทย์จึงเสียค่าหน่วยกิตที่ถูกมาก ผมยืนยันว่าถูกจริงๆ ถูกกว่าค่าเทอมนักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนชื่อดังในจังหวัดขอนแก่นเสียอีก ดังนั้นเมื่อนักศึกษาแพทย์เรียนจบ จึงควรต้องทำงานเพื่อประชาชนคนไทย เพื่อประเทศไทย ซึ่งผมมองว่าการใช้ทุนนี้เป็นโอกาสที่ดี ในการฝึกฝนเพิ่มความรู้ ความสามารถ และทักษะต่างๆ ในการรักษาคนไข้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่น้องหมอทุกๆ คนนั้นยังมีพลังกาย พลังใจ สุขภาพที่ดี ความรู้ที่ดี และทันสมัย เนื่องจากเพิ่งจบออกมาจากรั้วโรงเรียนแพทย์ ดังนั้นน้องหมอทุกๆ คนควรมีความภูมิใจ มีความเต็มใจ และมีความสุขใจที่จะได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่มีอยู่นั้นมาทำประโยชน์ให้กับคนไทย และประเทศไทย การใช้ทุน 3 ปี เป็นอย่างไร ผมจะเล่าโดยสรุป ดังนี้

1. การใช้ทุนมีหลายรูปแบบ ได้แก่ แบบที่ 1 การสมัครเป็นแพทย์ใช้ทุนในสาขาวิชาต่างๆ ของโรงเรียนแพทย์ส่วนภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา เป็นต้น นักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีสัญญาผูกพันการใช้ทุนใดๆ และมีผลการเรียนค่อนข้างดี มีความรักในสาขาเฉพาะทางใดโดยเฉพาะ ก็จะสมัครเป็นแพทย์ใช้ทุนเฉพาะทาง ซึ่งก็จะมีการสอบคัดเลือกก่อนที่จะจบในชั้นปีที่ 6 แบบที่ 2 คือ การเลือกโรงพยาบาลที่จะใช้ทุนในจังหวัดต่างๆ ที่มีตำแหน่งว่างในการบรรจุหมอจบใหม่ทุกท่าน ถ้าจังหวัดไหนมีผู้สนใจไม่เกินตำแหน่ง ก็ได้ทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลนั้นๆ ทันที แต่ถ้ามีผู้สนใจมากกว่าตำแหน่งที่มี ก็ต้องทำการเจรจาพูดคุยกัน ถ้าตกลงปรับเปลี่ยนกันได้ ก็ตกลงตามนั้น แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องจับฉลาก หาผู้เหมาะสมในการทำงานใช้ทุนในจังหวัดนั้นๆ และรูปแบบที่ 3 คือ กลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่มีการสอบคัดเลือกเข้ามาโดยมีสัญญาติดตัวมาด้วย เช่น กลุ่ม ODOD กลุ่ม CPIRD เป็นต้น กลุ่มนักศึกษาแพทย์เหล่านี้เมื่อจบแล้ว ก็ต้องกลับไปใช้ทุนในจังหวัดนั้นๆ ไม่ต้องเลือกจังหวัด และไม่สามารถสมัครเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงเรียนแพทย์ได้

2. การใช้ทุนในปีที่ 1 หรือ intern 1 นั้น หมอทุกคนจะต้องผ่านการฝึกฝนภายใต้การดูแลของแพทย์พี่เลี้ยง หรืออาจารย์แพทย์ กรณีเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงเรียนแพทย์ เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะ และความรู้เพิ่มเติมในแผนกหลักๆ คือ อายุรกรรม ศัลยกรรม กุมาร สูติ-นรีเวช ออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และเวชปฏิบัติผู้ป่วยนอก ในโรงพยาบาลจังหวัด และออกฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชน

3. การใช้ทุนในปีที่ 2-3 หรือปีที่ 4-5 กรณีเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงเรียนแพทย์ ก็จะเป็นการเข้าฝึกอบรมในสาขาวิชานั้นๆ การฝึกอบรมก็ใช้เวลาตามที่สาขาวิชานั้นๆ กำหนดมา เช่น 3 ปี 4 ปี เป็นต้น บางสาขาอาจนานถึง 5 ปี สำหรับแพทย์ใช้ทุนในโรงพยาบาลจังหวัด พอเป็นปีที่ 2 ก็ต้องออกไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนของจังหวัดนั้นๆ ต่อไป การใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนนั้นก็ย่อมแตกต่างกับการทำงานในโรงพยาบาลจังหวัดอย่างแน่นอน หน้าที่ที่มีมากขึ้น ความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น ไม่มีแพทย์พี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาแล้ว ต้องเป็นหมอใหญ่เต็มตัวแล้ว โรคที่ผู้ป่วยมารักษาก็หลากหลายมาก ไม่ได้เป็นแผนกต่างๆ เหมือนในโรงพยาบาลจังหวัดแล้ว ต้องมีหน้าที่อื่นๆ นอกจากการตรวจรักษาด้วย เช่น การบริหารงานด้านต่างๆ ในโรงพยาบาล การประชุม การออกหน่วยแพทย์ การออกเยี่ยมบ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย

ผมมองว่าชีวิตการเป็นแพทย์จะสมบูรณ์จริงๆ ก็ตอนที่หมอได้ใช้ทุนครบ 3 ปี นั้นหมายถึงว่าหมอมีทั้งความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่พร้อมในการเป็นหมอต่อไปตลอดชั่วชีวิต การใช้ทุนคือการสร้างโอกาส และให้โอกาสกับตัวหมอครับ จงมีความสุขกับการใช้ทุน