อยากเป็นหมอต้องอ่าน: หมอ คือ ผู้ให้ เมตตา อดทน
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 16 เมษายน 2564
- Tweet
หมอ คือ ผู้ประกอบอาชีพรักษาผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ผู้มีอาการผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายให้หายเป็นปกติ หรือลดอาการเจ็บปวด บรรเทาอาการเจ็บป่วยให้ดีขึ้น ผู้ซึ่งเลือกประกอบอาชีพหมอ หรือเป็นแพทย์นั้นต้องทำงานหนัก และมีความรับผิดชอบสูงมาก เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องรักษาผู้ป่วยให้หาย เดิมพันกันด้วยชีวิตคน พลาดคือชีวิต ผมเองนั้นเริ่มเรียนแพทย์ตั้งแต่ปี 2527 จบทำงานเป็นหมอในปี 2533 ทำงานมากว่า 29 ปี การทำงานเป็นหมอนั้นผ่านร้อน ผ่านหนาว ประสบปัญหาต่างๆ มามากมาย ได้รับการยอมรับ การต่อว่า การร้องเรียนมาครบทุกรูปแบบ ดังนั้นผมจึงอยากบอกถึงน้องๆ ที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกันว่า หมอ คือ ผู้ให้ ผู้มีความเมตตา และผู้อดทน ทำไมต้องหมอถึงต้องเป็นผู้ให้ เมตตา อดทน เพราะว่าหมอต้องทำงานที่ทุกคนไม่คาดคิด เนื่องจากคนส่วนใหญ่เห็นหมอทำงานสบาย รายได้ดี ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นตัวอย่าง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมานานมาก แต่ยังอยู่ในความทรงจำของผมเป็นอย่างดี ผู้ป่วยเป็นผู้ชายอายุ 30 ปี เป็นหัวหน้าครอบครัว มีลูก 2 คน อายุ 3, 5 ขวบ และภรรยา มานอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการของภาวะไตวายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยหมดสติ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ในอดีตตอนนั้น การรักษายังไม่สิทธิการรักษาด้วยบัตรทอง ผู้ป่วยต้องออกค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง ถ้าไม่มีค่ารักษาพยาบาล ก็ต้องผ่านขั้นตอนของการสังคมสงเคราะห์ ผู้ป่วยรายนี้ต้องให้การรักษาด้วยการฟอกเลือด แต่ผู้ป่วยและครอบครัวไม่มีค่ารักษาพยาบาล ผู้ป่วยมีอาการหนักมาก ความดันโลหิตก็ต่ำมาก ปัสสาวะก็ไม่ออกเลย เกิดภาวะน้ำท่วมปอดด้วย ซึ่งต้องได้รับการรักษาและเฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีห้องในไอ ซี ยูว่าง ผมได้เรียนถามจากอาจารย์ท่านหนึ่งว่าเราควรทำอย่างไรกับผู้ป่วยรายนี้ดี เพราะผู้ป่วยก็ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล จะหายหรือเปล่าก็ไม่รู้ ห้องไอ ซี ยูก็ไม่ว่าง อาการก็หนักมาก ค่ารักษาจะเอามาจากไหน ใครจะช่วยเขาได้ เราควรจะแนะนำภรรยาผู้ป่วยให้ยุติการรักษาดีหรือไม่ เพราะทุกอย่างดูเหมือนจะไม่มีทางแก้ไขได้เลย คำถามต่างๆ เกิดขึ้นในหัวผมอย่างมากมาย ผมไม่มีทางออกเลยหรือ ผมเครียดมากตอนนั้น เพราะรู้ว่าจะต้องเสียผู้ป่วยไปแน่ๆ ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้ แต่ถ้ามีห้อง ไอ ซี ยูว่าง มีค่ารักษาพยาบาล มีทีมแพทย์ที่พร้อมเฝ้าดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยก็อาจจะรอดได้
อาจารย์ตอบผมเพียงประโยคสั้นๆ ว่า “ถ้าผู้ป่วยรายนี้เป็นญาติเรา เราจะทำอย่างไรกับญาติเรา หมอก็จะได้คำตอบว่าต้องทำอย่างไรกับผู้ป่วยรายนี้” ด้วยคำตอบที่ไม่ต้องการคำอธิบายหรือขยายความไปมากกว่านี้ พวกเราทุกคน หมายถึงแพทย์ที่อยู่เวรในคืนนั้นก็ระดมความคิด ระดมวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่าจะต้องเหนื่อยเพียงใด ไม่ต้องหลับต้องนอน เพราะต้องเฝ้าผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไม่มีห้องไอ ซี ยูที่มีเครื่องมือต่างๆ พร้อม แต่ตอนนี้เราต้องเฝ้าผู้ป่วยเองอย่างใกล้ชิดแทนเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ แล้วเงินค่ารักษาพยาบาลเอามาจากไหน ผมเชื่อว่าทุกคนคงสงสัย พวกเราก็ขอรับบริจาคจากเพื่อนๆ แพทย์และใช้เงินกองทุนของแพทย์ที่มีอยู่บางส่วนมาช่วยผู้ป่วย แม้จะเป็นเงินที่ไม่มาก แล้วค่ารักษาส่วนใหญ่ก็ประสานกับทางแผนกสังคมสงเคราะห์ให้ช่วยเป็นกรณีพิเศษ พวกเราอดหลับอดนอนกันหลายคืน บางวันไม่ได้ทานข้าวกลางวัน ข้าวเย็น เพราะต้องนั่งเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถละสายตาได้เลย แต่ผลสุดท้ายก็ทำให้เราหายเหนื่อย ผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้น แล้วก็หายเป็นปกติ กลับบ้านได้
วันที่ผู้ป่วยกลับบ้านนั้น เราได้เห็นรอยยิ้มของผู้ป่วย และภรรยาผู้ป่วยที่ยิ้มพร้อมน้ำตา ลูกที่วิ่งเล่นไปมาแบบไม่รู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ภรรยาผู้ป่วยยกมือไหว้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกคน พวกเราทุกคนก็หายเหนื่อย มีแต่ความปิติ ยินดี ถามว่าเราทำไมถึงต้องทำอะไรมากขนาดนี้ ญาติเราก็ไม่ใช่ คำตอบคือ เราถูกสอน และฝึกให้คิดเสมอว่า คนทุกคนนั้นมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีเท่ากันทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร อาชีพอะไร ฐานะอย่างไร ตำแหน่งอะไร ถ้าโรคนั้นสามารถรักษาให้หายได้เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด เราต้องคิดว่าถ้าคนนั้นเสียชีวิตไป จะเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเขา ลูก ภรรยาจะอยู่อย่างไร การที่เรารักษาคนหนึ่งคนนั้น ไม่ได้เพียงแค่ดูแลรักษาผู้ป่วยคนนั้นเพียงคนเดียว แต่มันยังหมายถึงการดูแลให้คนทั้งครอบครัวของผู้ป่วยรายนั้นด้วย ยิ่งผู้ป่วยคนนั้นเป็นหัวหน้าครอบครัว เรายิ่งต้องทำทุกอย่างให้ครอบครัวนั้นมีความสุขมากที่สุด
การทำงานของหมอนั้น ต้องเริ่มจากการเข้าใจอย่างดีว่า หมอมีหน้าที่อะไร หมอต้องทำอะไร หมอต้องทำอย่างไร ดังนั้น หมอ จึงต้องเป็นผู้ให้ ผู้มีความเมตตา และผู้มีความอดทน คน คนนั้นจึงเป็น หมอ ที่สมบูรณ์ในคำว่า หมอ
ห : ผู้ให้
ม : ผู้เมตตา
อ : ผู้อดทน