ห้องอะไร ลบๆ บวกๆ (ตอนที่ 1)

ห้องอะไรลบๆบวกๆ-ๅ

      

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่จะช่วยรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

โดย รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีหอผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจหรือห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) สามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้ประมาณ 20 เตียง

เดิมทีหอผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจโรงพยาบาลสงขลานครินทร์หรือห้องความดันลบ จะมีกระจายตามหอผู้ป่วยต่าง ๆของโรงพยาบาล แต่หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงได้รวมห้องเพื่อดูแลรักษาบุคคลที่มีการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดอื่น ๆ ที่สามารถถ่ายทอดสู่คนอื่นได้ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรควัณโรค และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ยังไม่ทราบสาเหตุได้อีกด้วย

ห้องแยกโรค (ISOLATION ROOM) คือ ห้องที่ใช้แยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยอื่น ตามระดับความร้ายแรงของโรค เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้ป่วยที่อยู่ข้างเคียง หรือการแยกผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งส่งผลทำให้ติดเชื้อได้ง่ายให้อยู่ในห้องที่ปลอดเชื้อ เป็นต้น

ห้องแยกโรคไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสำหรับผู้ป่วยเดี่ยว แต่อาจเป็นห้องรวมมีบริเวณนั่ง บริเวณคัดกรอง บริเวณห้องอาบน้ำ อยู่ร่วมกัน

ห้องแยกโรคสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท โดย 2 ประเภทเป็นห้องความดันลบ

1. ห้องแยกโรค Class S – เป็นห้องความดันมาตรฐานใช้เครื่องปรับอากาศตามปกติ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ซึ่งผู้ที่เข้ามาในห้องนี้จะต้องใส่ถุงมือ เสื้อกาวน์ และหน้ากาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย

2. ห้องแยกโรค Class P – เป็นห้องความดันบวก positive pressure room ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ immunocompromised ป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่นหรือจากภายนอกห้อง (นอกจากนี้ยังเป็นห้องที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการความสะอาดปลอดภัยจากฝุ่นที่ละเอียดอ่อน เช่น การผลิตชิปคอมพิวเตอร์)

3. ห้องแยกโรค Class N – เป็นห้องความดันลบ negative pressure room เป็นห้องที่ใช้ป้องกันคนภายนอกจากการติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่ในห้อง มีลักษณะเป็นห้องที่ความดันอากาศภายในห้องจะต่ำกว่าภายนอกห้อง กล่าวคือ หากมีการเปิดประตูเชื้อโรคติดต่อหรือวัตถุอันตรายที่อยู่ภายในห้องจะไม่ไหลออกไปด้านนอก อากาศที่ติดเชื้อจะถูกดูดออกจากห้องด้วยระบบระบายอากาศ exhaust systems ที่มีการกรองและทำความสะอาดอากาศก่อนที่จะปล่อยอากาศออกไปด้านนอก อุณหภูมิและความชื้นในห้องความดันลบจะถูกควบคุม

4. ห้องแยกโรค Class Q – เป็นห้องความดันลบ negative pressure room ที่มีมาตรการควบคุมการติดเชื้อมากขึ้นกว่า Class N เช่น ใช้เป็นสถานที่กักตัว มีห้องโถงคั่นไว้ก่อนที่จะเข้าถึง เพื่อให้เป็นบริเวณที่ปลอดภัยสำหรับแพทย์พยาบาลที่จะเปลี่ยนชุด เตรียมอุปกรณ์การแพทย์ ประตูปิดเปิดอัตโนมัติ ใช้แผ่นกรองอากาศ HEPA filters มีสัญญาณเตือนเมื่อระดับความดันในห้องผิดปกติไป ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. รพ.สงขลานครินทร์โชว์ห้องความดันลบ พร้อมรับมือโควิดระบาดทั่วภาคใต้. https://www.prachachat.net/local-economy/news-590219 [2020, January 29].
  2. What are Negative Pressure Rooms? https://www.news-medical.net/health/What-are-Negative-Pressure-Rooms.aspx [2020, January 29].
  3. Negative room pressure. https://en.wikipedia.org/wiki/Negative_room_pressure [2020, January 29].
  4. Positive pressure. https://en.wikipedia.org/wiki/Positive_pressure [2020, January 29].