ห่วงพยุงปากมดลูก (Cervical pessary)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 20 ธันวาคม 2560
- Tweet
- ห่วงพยุงปากมดลูกคืออะไร?
- ห่วงพยุงปากมดลูกมีประโยชน์อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรที่รวมถึงเพศสัมพันธ์เมื่อใส่ห่วงพยุงปากมดลูก?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีอาการข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ห่วงพยุงปากมดลูกอย่างไร?
- ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปต้องใส่ห่วงพยุงปากมดลูกอีกหรือไม่?
- ทารกที่คลอดจากมารดาที่ใส่ห่วงพยุงปากมดลูกมีปัญหาหรือไม่?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเอาห่วงพยุงปากมดลูกออกแล้ว?
- ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไหร่เมื่อเคยใส่ห่วงพยุงปากมดลูก?
- บรรณานุกรม
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- คอมดลูกสั้น (Shortened cervix)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes)
- แท้งซ้ำ (Recurrent miscarriage)
- การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด(Labor induction)
- ระยะหลังคลอด (Postpartum period)
ห่วงพยุงปากมดลูกคืออะไร?
ห่วงพยุงปากมดลูก หรือ ห่วงยึดปากมดลูก(Cervical pessary) เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำจากซิลิโคนชนิดนิ่ม ลักษณะคล้ายถ้วยเล็กๆ มีรูตรงกลาง มีหลายขนาด มีสำหรับการตั้งครรภ์เดี่ยว และสำหรับการตั้งครรภ์แฝด แพทย์จะใส่ ห่วงพยุงปากมดลูกเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกไปจนถึงปากมดลูก เพื่อให้เข้าไปดันบริเวณปากมดลูก ทำให้มุมระหว่างปากมดลูกกับกับตัวมดลูกเปลี่ยนแปลง ส่งผลทำให้น้ำหนักจากมดลูก/การตั้งครรภ์ที่กดลงบนปากมดลูกลดลง
ห่วงพยุงปากมดลูกมีประโยชน์อย่างไร?
มีการนำห่วงพยุงปากมดลูกมาใช้ในการรักษาภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โดยใส่ห่วงพยุงปากมดลูกเข้าไปในช่องคลอดที่วางไว้บริเวณปากมดลูก ซึ่งห่วงพยุงปากมดลูกจะไปช่วยดันบริเวณปากมดลูก ช่วยให้น้ำหนักของถุงการตั้งครรภ์ในมดลูกที่กดลงบนปากมดลูกลดลง เพื่อลดโอกาสการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกจากการใช้ยาฮอร์โมนโปรเจสโตรแจน(Progestrogen)เพื่อให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว หรือการเย็บปากมดลูกในสตรีตั้งครรภ์ที่มีคอมดลูกสั้น (คอมดลูก/ปากมดลูกยาวน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 มม.ในช่วงอายุครรภ์ 20-24 สัปดาห์) ที่มีโอกาสเกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีที่เหมาะสมให้กับสตรีที่ครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดแต่ละคน บางการศึกษาพบว่า การใช้ยาฮอร์โมนโปรเจสโตรแจน ร่วมกับการใส่ห่วงพยุงปากมดลูกจะให้ผลในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดดีกว่าใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลงานศึกษาวิจัยจนถึงปัจจุบัน ยังมีความเห็นต่างที่เกี่ยวกับประโยชน์ที่ชัดเจนของห่วงพยุงปากมดลูกในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด บางการศึกษาพบว่า สามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ชัดเจน แต่บางการศึกษาพบว่า ไม่สามารถป้องกันได้
ดูแลตนเองอย่างไรที่รวมถึงเพศสัมพันธ์เมื่อใส่ห่วงพยุงปากมดลูก?
และควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อใส่ห่วงพยุงปากมดลูกที่รวมถึงเพศสัมพันธ์ และการพบแพทย์ก่อนนัด ได้แก่
1. ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
2. ปกติทั่วไป แพทย์จะเป็นผู้ใส่ห่วงพยุงปากมดลูกให้และแพทย์จะนัดเอาห่วงพยุงปากมดลูกออกเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด 37 สัปดาห์ หรือเอาห่วงพยุงปากมดลูกออกก่อนกำหนดหากมีเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด หรือเมื่อมีถุงน้ำคร่ำแตก ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์ที่ใส่ห่วงพยุงปากมดลูกควรรีบด่วนทันทีไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือด หรือ น้ำใสๆ/ของเหลวออกทางช่องคลอด ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
3. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างใส่ห่วงพยุงปากมดลูก เนื่องจากอาจเหนี่ยวนำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ อีกทั้งการมีห่วงพยุงปากมดลูก วางอยู่ในช่องคลอด จะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการมีเพศสัมพันธ์
มีอาการข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ห่วงพยุงปากมดลูกอย่างไร?
อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)/ภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ห่วงพยุงปากมดลูก มีดังนี้ เช่น
1. ตกขาวมากขึ้น
2. ระคายเคืองในช่องคลอด
3. เกิดแผลกดทับในช่องคลอดหรือที่ปากมดลูก จึงอาจทำให้มีเลือดผิดปกติออกทางช่องคลอดได้
ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปต้องใส่ห่วงพยุงปากมดลูกอีกหรือไม่?
หากการใส่ห่วงพยุงปากมดลูกได้ผลดีในครรภ์แรก การใส่ห่วงพยุงปากมดลูก เมื่อตั้งครรภ์ครั้งใหม่ น่าจะมีประโยชน์ต่อสตรีตั้งครรภ์ท่านนั้นมากกว่า เพราะสตรีนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้
ทารกที่คลอดจากมารดาที่ใส่ห่วงพยุงปากมดลูกมีปัญหาหรือไม่?
ปัญหาของทารกในครรภ์ หรือทารกที่คลอดออกมาแล้ว ไม่เกี่ยวกับการใส่ห่วงพยุงปากมดลูก แต่จะขึ้นกับอายุครรภ์ของทารกเมื่อคลอดมากกว่า ยิ่งอายุครรภ์น้อยก็จะมีปัญหาในการดูแลทารกมากขึ้นเรื่อยๆ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเอาห่วงพยุงปากมดลูกออกแล้ว?
การดูแลตนเองเมื่อเอาห่วงพยุงปากมดลูกออกแล้ว ได้แก่
ก. ช่วงก่อนคลอด: เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด คือ 37 สัปดาห์ ทารกสามารถคลอดได้แล้วโดยปลอดภัย (พ้นระยะการคลอดก่อนกำหนด) แพทย์จะเอาห่วงพยุงปากมดลูกออก แล้วรอให้เจ็บครรภ์คลอดเอง หากยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอด แพทย์ก็ให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปตามปกติ และนัดตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอจนเจ็บครรภ์คลอดเอง การดูแลตนเองในช่วงนี้เหมือนสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป ที่สำคัญ เช่น ต้องสังเกตการณ์ดิ้นของทารก สังเกตอาการเจ็บครรภ์ สังเกตการมีถุงน้ำคร่ำแตก/มีน้ำ/ของเหลวคล้ายปัสสาวะออกจากช่องคลอด อาการไข้ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หากมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่นดังที่ได้กล่าว ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด่วน ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
กรณีหากแพทย์มีข้อบ่งชี้ที่ต้องเอาห่วงพยุงปากมดลูกออกก่อนอายุครรภ์ครบกำหนด เช่น เกิดการแตกของถุงน้ำคร่ำ มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก หลังจากเอาห่วงฯออก แพทย์มักจะกระตุ้นให้เกิดการคลอด/การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอดตามมา
ข. ช่วงหลังคลอด/ระยะหลังคลอด: การดูแลตนเองจะเหมือนสตรีระยะหลังคลอดทั่วไป เพราะไม่มีการ ใส่ห่วงพยุงปากมดลูกแล้ว โดยขึ้นอยู่กับว่า ผ่าตัดคลอด หรือคลอดทางช่องคลอด(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดบุตร) ที่สำคัญ คือ สังเกตอาการไข้ ตกขาวหรือเลือดทางช่องคลอด/น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ หากมีอาการผิดปกติต่างๆ ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด่วน ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไหร่เมื่อเคยใส่ห่วงพยุงปากมดลูก?
การเว้นระยะห่างและวางแผนตั้งครรภ์ครั้งต่อไปขึ้นอยู่กับว่า ผ่าตัดคลอด หรือคลอดทางช่องคลอด(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดบุตร) ซึ่งจะเหมือนสตรีระยะหลังคลอดทั่วไป แต่ควรเว้นระยะ 2-3 ปี เพื่อมีเวลาเลี้ยงลูกคนแรกอย่างเต็มที่ และในการฝากครรภ์ครั้งต่อไป จะมีความจำเป็นต้องใส่ห่วงพยุงปากมดลูกอีก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรบอกแพทย์ที่ตนไปฝากครรภ์ไว้ตั้งแต่แรกพบแพทย์ว่า เคยใส่ห่วงพยุงปากมดลูกมาก่อนเพื่อแพทย์จะได้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม