หัดเยอรมัน คู่ปรับหญิงตั้งครรภ์ (ตอนที่ 2)

หัดเยอรมันคู่ปรับหญิงตั้งครรภ์-2

      

      นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน โดยเข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

      โรคหัดเยอรมัน (Rubella / German measles / Three-day measles) เป็นโรคติดต่อเชื้อไวรัส (Rubella virus) โดยมีลักษณะเด่น คือ เป็นผื่นออกแดง โรคหัดเยอรมันจะไม่เหมือนกับโรคหัด (Measles / Rubeola) ทีเดียว แม้จะมีลักษณะอาการบางอย่างที่เหมือนกัน เช่น เป็นผื่น เพราะทั้งสองโรคเกิดจากเชื้อไวรัสที่แตกต่างกัน

      โรคหัดเยอรมันพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ในสหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศว่าสามารถกำจัดโรคหัดเยอมันได้หมดไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2547

      โดยระยะเวลาฟักตัวของโรคหัดเยอรมันอยู่ที่ 14-23 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 16-18 วัน และจะออกผื่นอยู่ประมาณ 3 วัน

      อาการของโรคหัดเยอรมันมักจะมีอาการอ่อนจนยากที่จะสังเกตได้โดยเฉพาะในเด็ก หากมีอาการปรากฏแสดงว่ามีการได้รับเชื้อมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ และมักจะมีอาการนาน 1-5 วัน กล่าวคือ

  • เป็นไข้อ่อนๆ (38.9 C หรือต่ำกว่า)
  • ปวดศีรษะ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ตาอักเสบ แดง
  • ต่อมน้ำเหลืองใต้กะโหลก ด้านหลังคอและหู โต
  • ผื่นสีชมพูเริ่มที่หน้าและแพร่ไปยังลำตัวอย่างรวดเร็ว ต่อด้วยแขนและขาก่อนที่จะค่อยๆ หายไปลำดับ
  • ปวดข้อ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยสาว

      สำหรับสาเหตุของโรคหัดเยอรมันเกิดจากการแพร่เชื้อโรคผ่านการไอหรือจาม ซึ่งมีทั้งการติดต่อผ่านทางเดินหายใจโดยสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก (Mucus) การกินอาหารหรือดื่มน้ำร่วมกัน และสามารถแพร่กระจายจากหญิงตั้งครรภ์ไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางกระแสเลือด

      หัดเยอรมันมักเกิดในเด็กที่อายุระหว่าง 5-9 ปี หรือในผู้ใหญ่บางคน ผู้ที่ติดเชื้อหัดเยอรมันจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ระหว่าง 1-2 สัปดาห์ ก่อนแสดงอาการ และหลังการแสดงอาการอีก 1-2 สัปดาห์ จนกว่าผื่นจะหายไป หรือบางคนอาจติดและแพร่เชื้อได้ โดยที่ไม่มีอาการแต่อย่างใด (Asymptomatic)

      โรคหัดเยอรมันเป็นโรคติดเชื้อที่อ่อนไม่รุนแรง เมื่อมีการติดเชื้อมักจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการปวดข้อที่นิ้ว ข้อมือ และเข่า ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะหาย ในบางกรณี (พบยาก) อาจมีการติดเชื้อในหูหรือหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) หรือสมองอักเสบ (Encephalitis)

แหล่งข้อมูล:

  1. กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคหัดเยอรมันในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด. https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/118758/ [2018, November 21].
  2. Rubella. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rubella/symptoms-causes/syc-20377310 [2018, November 21].
  3. German Measles (Rubella). https://www.healthline.com/health/rubella [2018, November 21].
  4. Rubella (German Measles). https://kidshealth.org/en/parents/german-measles.html [2018, November 21].