หมอสมศักด์ชวนคุยชุดที่2 ตอน 12 ตอน ปวดท้องจนตาย
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 5 เมษายน 2565
- Tweet
หมอสมศักด์ชวนคุยชุดที่2 ตอน ปวดท้องจนตาย
เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้วผมได้รับจดหมายจากสำนักงานอธิการบดีฉบับหนึ่ง เนื้อหาใจความของจดหมายฉบับนั้น ได้บรรยายไว้ว่า ผมให้การรักษาผู้ป่วยชายสูงอายุท่านหนึ่งแล้วเสียชีวิต ทางลูกสาวผู้ป่วยได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาสูงสุด คือ ท่านอธิการบดี เพราะทางลูกสาวผู้ป่วยมีความไม่สบายใจว่า ผมให้การรักษาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษา และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับผู้ป่วยจนเสียชีวิต และมีค่าใช้จ่ายสูงมากกว่า 3 แสนบาท ทั้งที่ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง เดินมาหาหมอที่ห้องฉุกเฉินได้เอง แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตภายหลังเมื่อเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน และถูกรับไว้รักษาในห้อง ไอ ซี ยู เพียง 4 ชั่วโมง แต่เสียค่ารักษามากกว่า 3 แสนบาทด้วย
ผมจำเหตุการณ์นี้ได้มาเป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้ เหตุการณ์นี้คือว่า ผู้ป่วยชายสูงอายุรายนี้มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมากะทันหันช่วงเช้าหลังตื่นนอน จึงขับรถมาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน โดยสงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร จึงได้โทรศัพท์บอกลูกสาวที่อยู่คนละบ้านว่าพ่อมาโรงพยาบาล เมื่อลูกสาวได้รับโทรศัพท์จึงได้ตามมาภายหลัง
เมื่อผมทำการสอบถามอาการ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบว่าอาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากภาวะหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการความดันโลหิตตกอย่างรวดเร็ว ผมจึงรีบปรึกษาอาจารย์หมอโรคหัวใจและรีบนำผู้ป่วยเข้าห้องไอ ซี ยู และรีบให้การรักษาทุกอย่างเท่าที่ทำได้ในอดีตเมื่อ 25 ปีที่แล้ว แต่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยเสียชีวิต และในอดีตไม่มีบัตรทอง ผู้ป่วยไม่ได้เป็นข้าราชการ จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก มากกว่า 3 แสนบาท
เมื่อลูกสาวเดินทางมาถึงโรงพยาบาลก็ไม่ได้พบพ่อ เพราะอยู่ในห้องไอ ซี ยูตลอดจนเสียชีวิต ลูกสาวก็ไม่ได้พบหมอด้วย เพราะหมอก็ไม่รู้ว่าจะติดต่อใครได้ เนื่องจากผู้ป่วยเดินทางมาคนเดียว ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกที่ลูกสาวผู้ป่วยจะเขียนจดหมายร้องเรียนผมในฐานะที่เป็นหมอรักษาคนไข้คนแรกตั้งแต่ที่ห้องฉุกเฉิน ในห้องไอ ซี ยูจนกระทั่งเสียชีวิต เพราะลูกสาวผู้ป่วยรับรู้จากผู้ป่วยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร ขับรถมาโรงพยาบาลเองได้ แต่ต้องมาเสียชีวิต และเสียค่ารักษาพยายาบมากกว่า 3 แสนบาท
เมื่อผมได้รับการติดต่อจากทางมหาวิทยาลัยก็ต้องไปชี้แจงให้ลูกสาวผู้ป่วย และคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนของมหาวิทยาลัย ซึ่งโชคดีที่ลูกสาวผู้ป่วยเข้าใจในเหตุการณ์ทั้งหมด และขอบคุณผมและอาจารย์หมอโรคหัวใจที่ให้การรักษาคุณพ่อเป็นอย่างดี แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่อาการนั้นรุนแรงมากเกินกว่าที่จะให้การรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
ผมเองได้เรียนรู้ว่าการสื่อสารระหว่างทีมผู้ให้การรักษาและญาตินั้นมีความสำคัญมากๆ ต้องมีการอธิบายให้รับรู้ข้อมูลเป็นระยะๆ ยิ่งกรณีอาการผู้ป่วยรุนแรงมาก ก็ยิ่งต้องอธิบายให้ละเอียด เข้าใจอย่างดี และต้องอธิบายให้รับรู้ทุกครั้งที่มีอาการเปลี่ยนแปลง
ผมไม่มั่นใจว่าถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผมจะโชคดีแบบนี้หรือไม่