หมอสมศักดิ์ ตอบ:ทำไมอาจารย์ไม่รักษาเอง ต้องเป็นแพทย์ฝึกหัด
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 22 มีนาคม 2562
- Tweet
การรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่นโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ จะมีแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ฝึกหัดร่วมดูแลผู้ป่วยภายใต้การดูแลให้คำปรึกษา วางแผนการรักษาโดยอาจารย์แพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ ซึ่งจะแตกต่างกับโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลประจังหวัดที่ไม่มีศูนย์แพทย์หรือการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากแพทย์ประจำเลย ทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความกังวลใจในระบบการดูแล กังวลใจว่าจะได้รับการดูแลได้ไม่ดี ข้อมูลไม่ถึงอาจารย์แพทย์ ทำไมอาจารย์แพทย์ไม่มาดูผู้ป่วยเองทุกวัน ผมขอให้ความมั่นใจว่าระบบการดูแลผู้ป่วยนั้นเป็นมาตรฐาน และท่านจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากระบบดังกล่าว ดังนี้
1. การเรียนแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องมีการฝึกให้นักศึกษาแพทย์ แพทย์ผู้เข้ารับการอบรมนั้นต้องดูแลผู้ป่วยด้วยตนเอง ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้นไม่ต้องกังวลใจ
2. การดูแลผู้ป่วยดังกล่าวอาจารย์แพทย์จะทราบข้อมูลทั้งหมด และให้การวางแผนการรักษา การตัดสินใจว่าต้องรักษาแบบไหน อย่างไร เพียงแต่ผู้สั่งการรักษาคือแพทย์ฝึกหัด หรือแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ผู้มารับการฝึกอบรม
3. อาจารย์แพทย์ นักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด หรือแพทย์ประจำบ้านจะมีการสื่อสาร ส่งต่อข้อมูลที่สำคัญถึงอาจารย์แพทย์แน่นอน และมีการปรึกษาหารือร่วมกับอาจารย์แพทย์ท่านอื่น ๆ ในกรณีผู้ป่วยมีปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้นผู้ป่วย ญาติไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูล หรือการดูแลไม่ถึงอาจารย์แพทย์
4. ความล่าช้าในการตัดสินใจ อาจมีบ้างถ้าไม่ใช่กรณีเร่งด่วน แต่ถ้ากรณีเร่งด่วนจะไม่มีความล่าช้าในการวางแผนการรักษา การตัดสินใจแน่นอน อาจารย์แพทย์จะรีบมาดูผู้ป่วย และให้การรักษาอย่างทันเวลาแน่นอน
5. ถ้าไม่มีระบบแบบนี้ ให้อาจารย์แพทย์ดูแลผู้ป่วยเองทั้งหมด ก็จะเกิดผลเสีย คือ ความล่าช้า ดูแลได้ไม่ครบถ้วน ไม่ละเอียดเพียงพอ และทำให้ไม่มีการสร้างหมอรุ่นใหม่ที่จะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยชาญในอนาคต ส่งผลเสียต่อระบบใหญ่ของประเทศแน่นอน
ดังนั้นผมอยากให้ทุกท่านมีความมั่นใจในระบบการดูแลรักษาของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และให้โอกาสในการฝึกอบรม เรียนรู้ของแพทย์รุ่นใหม่ด้วยครับ