หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน ปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาเกิดจากใคร แต่คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบ

หมอสมศักดิ์ชวนคุย-9


หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน ปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาเกิดจากใคร แต่คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบ

จากหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เกี่ยวกับปัญหาการรับบริบาลด้านสุขภาพ การบริบาลที่ถูกมองว่าไม่ได้มาตรฐานของผู้ป่วยสิทธิการรักษาบัตรทอง การไม่ยอมให้การรักษาของโรงพยาบาลเอกชนกับผู้ป่วยสิทธิการรักษาประกันสังคม หรือกรณีร้องเรียนว่าโรงพยาบาลรักษาล่าช้า ไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน อื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเกิดเป็นข่าว ก็ตามด้วยกระแสของสังคมที่ทำให้ทุกอย่างถูกส่งผ่านไปทุกหย่อมหญ้าของประเทศไทยผ่านทางสื่อโซเชียล ส่งผลให้ปัญหาความไม่เข้าใจเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่โต แพทย์ พยาบาลผู้ให้การรักษาเสียขวัญ หมดกำลังใจ ฝ่ายผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยก็ดูเหมือนจะได้รับการรักษาตามที่ตนเองหรือครอบครัวต้องการได้มากขึ้น ผู้สื่อข่าวก็ได้ทำข่าว นักเลงคีย์บอร์ดก็ได้สนุกมือ สุขใจที่ได้คอมเมนต์มันส์ๆ โดยอาจไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร เสมือนว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ยกเว้นแพทย์ พยาบาล และผู้ให้บริการที่ถูกสังคมพิพากษาไปว่าเป็นฝ่ายผิด ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีจรรยาบรรณ ต่างๆ นาๆ ผมมาวิเคราะห์หาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นในสังคมไทย ติดตามและระดมความเห็นให้ผมด้วยครับ เผื่อเราจะช่วยให้สังคมไทยมีความสุขด้านสุขภาพมากขึ้น

1. เหตุจากระบบสุขภาพที่มี 3 สิทธิการรักษาหลัก คือ บัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคมที่มีแนวทางไม่เหมือนกัน การครอบคลุมด้านการรักษาพยาบาลที่ไม่เท่าเทียมกัน และแนวทางในการเบิกจ่ายจากหน่วยงานหลักผู้รับผิดชอบแตกต่างกัน ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานต้องทำตามแนวทางที่แต่ละสิทธิกำหนดมา เพราะถ้าไม่ทำตามก็มีปัญหารเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามมา

2. ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจระบบสุขภาพของประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร เช่น สิทธิการรักษามีกี่สิทธิ ใครใช้สิทธิไหน แต่ละสิทธิมีขั้นตอนอย่างไรในการขึ้นสิทธิ การเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องมีขั้นตอนอย่างไร คือส่วนใหญ่แล้ว ประชาชนจะไม่ได้ศึกษามาก่อนเลย เข้าใจเพียงว่าสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค รักษาฟรี ไม่เคยรู้ว่าต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิก่อน อยากไปโรงพยาบาลไหนก็ไป แบบนี้ก็ทำให้เกิดความไม่สะดวกและนำมาถึงข้อร้องเรียนต่างๆ ได้

3. ประชาชนส่วนหนึ่งรู้แต่สิทธิของตนเองว่าได้สิทธิการรักษาฟรี แต่ไม่เคารพกติกาที่มีการกำหนดไว้ว่าต้องเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน ต้องการเรียกร้องเพียงแค่ว่าตนเองมีสิทธิ์ ใครไม่ให้การรักษาตามที่ต้องการ ก็จะร้องเรียน แบบนี้ก็ทำให้เกิดความวุ่นวายไปหมดในระบบการรักษา ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายของผู้ให้การรักษา

4. ความไม่รู้ ความไม่พร้อมของประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพว่าปัญหาแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นนั้นควรดูแลตนเองอย่างไร ควรป้องกันด้วยวิธีไหน และควรเข้ารับการรักษาเมื่อมีอาการผิดปกติแบบไหน ปัญหาอะไรที่ฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบบริการเกิดปัญหาได้พอสมควร

5. การประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ กับหน่วยงานหลักเจ้าของสิทธิการรักษา หรือการประสานงานระหว่างหน่วยบริการด้วยกันที่ยังขาดแนวทางที่ชัดเจน และเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลกระทบต่อระบบการให้บริการ และผู้ทำงาน ผู้ป่วยด้วย

6. ความพร้อมของโรงพยาบาล ที่อาจไม่พร้อมในทุกๆ ที่ ตามที่ควรจะเป็น อาจเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ ขาดแคลนงบประมาณ และระบบการทำงานที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

7. ผู้ให้บริการเกิดความอ่อนล้าจากปัญหาการทำงานที่หนักเกินไป เพราะปริมาณงานและอัตรากำลังที่ไม่สอดคล้องกัน รวมถึงความคาดหวังของผู้ป่วยและสังคม ที่มีความคาดหวังมากต่อการให้การรักษา

8. สังคมไทยยังมีบางส่วนที่ยังขาดสติ ขาดการยับยั้งชั่งใจ และการไตร่ตรองให้ดี ก่อนที่จะพูดหรือให้ความเห็นใดๆ

9. การตอบสนอง การแก้ปัญหาของผู้มีอำนาจในระบบสุขภาพ ไม่ได้แก้ไขอย่างเต็มกำลัง หรือไม่กล้าที่จะแก้ไข เพราะกลัวต่อกระแสสังคมที่อาจมีความเห็นต่างออกไป

10. นักการเมือง พรรคการเมืองมีผลกับระบบสุขภาพมาก มีการใช้ระบบทุนนิยม และกระแสนิยมในการหาเสียง สร้างฐานเสียง โดยใช้ระบบสุขภาพเป็นเครื่องมือในการหาเสียงและสร้างคะแนนนิยม

11. ความไม่พอดีของสังคมในปัจจุบัน ที่เราต้องการสิ่งที่ดีที่สุด สู้จนถึงที่สุด การรักษาที่ได้รับต้องดีที่สุด แต่ลืมคำนึงถึงความเหมาะสม ความพร้อมด้านการเงินของประเทศ ความพร้อมด้านความรู้และการเงินของคนไทย

12. ความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน และไม่มีความศรัทธาต่อแพทย์ ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และประชาชนเปลี่ยนไป จากแพทย์ผู้ให้ชีวิต เป็นแพทย์ผู้ให้บริการ ดังนั้นเมื่อรักษาหายก็เป็นเพียงการทำหน้าที่ให้บริการแบบหนึ่งเหมือนช่างซ่อมรถ แต่ถ้าไม่หาย คือ การทำหน้าที่บกพร่องต้องถูกลงโทษ

13. การใส่สื่อที่ง่าย รวดเร็ว และกระจายไปทั่ว ทำให้เรื่องบานปลายได้ง่าย ทำลายความภูมิใจในการเป็นแพทย์ พยาบาล ทำให้เกิดภาวะท้อแท้ หมดกำลังใจ

14. การกำหนดนโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล เช่น การกำหนดการรักษาในเขตจังหวัดของตนเอง ในบางกรณีผู้ป่วยอยู่ในอำเภอของจังหวัดหนึ่ง ซึ่งระยะทางไปตัวจังหวัดนั้นไกลมาก แต่ถ้ามารักษาอีกจังหวัดหนึ่งที่อยู่ติดกันแต่ใกล้กว่ากันมาก ก็ไม่สามารถทำได้

15. การกำหนดนโยบายแบบตรงกันข้ามกับความจริงที่ควรทำ เช่น การร่วมจ่ายในการรักษาของทุกสิทธิ์ (การร่วมจ่ายก่อนเข้ารับการรักษาอาจพิจารณาตามฐานภาษีที่เสียในแต่ละปี ไม่ใช่การร่วมจ่ายเมื่อมีค่าใช้จ่ายจริง)

ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ตรงของผม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาที่ทำงานอยู่ เขียนโดยมีเจตนาดี ไม่คิดต่อว่าใคร เพียงแค่ต้องการให้คนไทยฉุกคิดว่า เราโชคดีมากมายแล้ว ที่เกิดและมีชีวิตในประเทศไทย และอยากให้คนไทยได้มามองหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันในขณะนี้ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องของคนทุกคนครับ