หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน สู้เต็มที่ แต่ไม่มีคนดูแลระยะยาว
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 18 มกราคม 2565
- Tweet
หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน สู้เต็มที่ แต่ไม่มีคนดูแลระยะยาว
การเจ็บป่วยด้วยอาการที่รุนแรง เช่น อัมพาตแขนขาอ่อนแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย หรือภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ผู้ป่วยกลายเป็นเจ้าชาย เจ้าหญิงนิทรา ซึ่งการรักษาในขณะนอนรักษาในโรงพยาบาล การดูแลทั้งหมดก็เป็นหน้าที่ของหมอ พยาบาลและทีม แต่เมื่อกลับไปที่บ้าน ต้องบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของญาติทั้งหมด ตรงนี้ละครับสำคัญมากครับ ญาติจะดูแลได้หรือไม่ ผมชวนคุยประเด็นนี้ เพราะปัจจุบันผมพบว่าการตัดสินใจของญาติในการสู้กับโรคอัมพาต หรือภาวะสมองขาดออกซิเจนของผู้ป่วย ซึ่งมักจะเป็นพ่อ แม่ของญาติที่ตัดสินใจ ผมอยากพูดตรงนี้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การตัดสินใจของญาตินั้น ต้องพูดคุยกับแพทย์ให้เข้าใจว่าการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยนั้นเป็นอย่างไร ถ้าญาติทั้งหมดยอมรับไม่ได้ในระยะยาว ก็ควรบอกแพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองระยะสุดท้าย แต่ถ้ายอมรับได้ ก็ให้แพทย์สู้เต็มที่
- การตัดสินใจนั้นต้องพูดคุยกันในครอบครัวให้ชัดเจน ย้ำแค่คนในครอบครัว ไม่ต้องกังวลต่อเสียง คำพูดของคนข้างบ้าน เพื่อน คนรู้จัก เพราะสิ่งที่เราต้องพบเจอ ดูแลผู้ป่วยนั้น คือ คนในครอบครัวเท่านั้น ไม่ได้มีคนข้างบ้านมาช่วยเลย
- การตัดสินใจควรคำนึงถึงระยะยาวๆ อย่ามองเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะการต้องดูแลผู้ป่วยนั้นเป็นเรื่องยาวมากๆ
- การตัดสินใจต้องคำนึงค่าใช้จ่ายระยะยาวทีต้องเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่จะเบิกได้ก็ตาม แต่ก็จะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งมีมูลค่าไม่น้อยเลยครับ
- การตัดสินใจต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตครับ ทั้งของผู้ป่วยและครอบครัวครับ ลองทบทวนว่าสิ่งที่เราตัดสินใจนั้น ทำแล้วทุกคนมีความสุขหรือไม่
- การตัดสินใจ ถ้าผู้ป่วยเคยบอกไว้แล้วว่ามีความต้องการอย่างไร ให้เราเคารพการตัดสินใจของผู้ป่วยครับ ต้องยอมรับการตัดสินใจของผู้ป่วยว่าเหมาะสมที่สุดครับ
ความกตัญญูไม่ได้หมายความว่าต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยให้ท่านอยู่กับเรานานที่สุด เพราะถ้าท่านไม่มีความสุข ก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรครับ