หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน โรงพยาบาลเอกชนกับระบบสุขภาพไทย

หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน  โรงพยาบาลเอกชนกับระบบสุขภาพไทย

โรงพยาบาลเอกชนนั้นมีส่วนร่วมในการให้บริบาลด้านสุขภาพกับคนไทยในปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยประกันชีวิต และผู้มีฐานะที่นิยมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากมีความสะดวก สบาย รวดเร็ว และได้รับการรักษากับแพทย์ที่ต้องการได้ แต่เราก็พบเห็นหลายประเด็นที่ระบบสุขภาพไทยได้รับผลกระทบจากโรงพยาบาลเอกชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นผมมองว่ามีทั้งสิ่งที่ดีช่วยระบบสุขภาพ และก่อให้เกิดโอกาสพัฒนา ว่าโรงพยาบาลเอกชนจะมีการปรับเปลี่ยน พัฒนาอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับระบบสุขภาพไทยมากขึ้น ลองติดตามดูผลกระทบที่ผมนำเสนอครับ
1. ผลกระทบที่ทำให้ระบบสุขภาพไทยดีขึ้น ได้แก่ การร่วมบริบาลผู้ป่วย ช่วยลดความแออัด ลดภาระของโรงพยาบาลรัฐไปได้ส่วนหนึ่ง และก่อให้เกิดธุรกิจด้านสุขภาพ เช่น การประกันชีวิต การสร้างงานให้กับทีมสุขภาพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่มีการนำวิธีการรักษา เครื่องมือใหม่ ทันสมัยมาใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย และร่วมให้บริการรักษาผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม เป็นการแบ่งเบาภาระงานด้านการรักษาของโรงพยาบาลรัฐไปได้ระดับหนึ่ง
2. ผลกระทบที่ทำให้ระบบสุขภาพไทยต้องมีการพัฒนาให้ดีขึ้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงมากขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาสูงมาก เกิดภาวะสมองไหล แพทย์ พยาบาล ทีมสุขภาพอื่นๆ จากโรงพยาบาลรัฐมาที่โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากค่าตอบแทนและภาระงานที่มีความแตกต่างกันระหว่างรัฐกับเอกชน การส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยโรคมากเกินความเหมาะสม การใช้ยารักษาโรคที่ไม่เหมาะสมในบางกรณี และการทำให้มีการทำธุรกิจที่หวังผลกำไรสูงในระบบสุขภาพ ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น
3. ทำอย่างไรให้โรงพยาบาลเอกชนไทยสามารถช่วยให้ระบบสุขภาพไทยดีขึ้น ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจมากที่สุด เพราะโรงพยาบาลเอกชนนั้นมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การลงทุนเพื่อหาผลกำไรในรูปแบบธุรกิจหนึ่ง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยรักษาคนเจ็บป่วยเหมือนโรงพยาบาลของรัฐ ดังนั้นเมื่อเป้าหมายที่แตกต่างกัน จะทำอย่างไรให้โรงพยาบาลเอกชนมาช่วยโรงพยาบาลของรัฐได้บ้าง

ผมว่าประการแรกคือการร่วมมือในการรักษาผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิตจริงๆ และให้การดูแลจนกระทั่งปลอดภัยจริงๆ โดยรัฐบาลจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่ตกลงกันไว้เบื้องต้นที่ไม่ขาดทุน และไม่มีผลกำไร ถือว่าเป็นการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน

ประการที่ 2 คือ การดูแลผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการที่คิวในโรงพยาบาลของรัฐยาวมาก โดยคิดราคาเท่ากับโรงพยาบาลของรัฐ  เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็มอาร์ไอ อัลตราซาวด์ ตรวจแมมโมแกรมเต้านม และอื่นๆ ที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นมีเครื่องมืออยู่แล้ว และมีคิวว่าง กรณีแบบนี้ผมว่าก็จะช่วยให้ผู้ป่วยคนไทยได้รับการรักษาที่รวดเร็วขึ้น และเป็นการใช้เครื่องมือให้เกิดประสิทธิภาพ มีความคุ้มทุนมากยิ่งขึ้น

ประการที่ 3 คือ การส่งแพทย์ พยาบาลที่พอมีเวลาบ้างมาเป็นจิตอาสาช่วยการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ หรือการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือการช่วยงานด้านวิชาการอะไรก็ได้ ที่บุคลากรในโรงพยาบาลเอกชนนั้นมีความสามารถ และมีเวลามาช่วยงานในโรงพยาบาลของรัฐ ให้คิดว่าเป็นการช่วยเหลือส่วนรวมของสังคมไทย ช่วยคนไทยด้วยกัน โดยที่โรงพยาบาลเอกชนเองก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากขึ้น

ประการที่ 4 คือ การร่วมพัฒนาความสามารถเพิ่มประสบการณ์ของแพทย์ พยาบาล และทีมโดยการมีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของทีมสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐ

ประการที่ 5 คือ การแบ่งปันผลกำไรบางส่วนคืนต่อสังคมไทย เพื่อเป็นการพัฒนาระบบสุขภาพไทยให้ดียิ่งขึ้น เช่น การสร้างความรู้ด้านการดูแลสุขภาพในภาพรวม ไม่ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน แต่เป็นการสร้างความรู้ในภาพใหญ่ของประเทศ

ประการที่ 6 คือ โรงพยาบาลเอกชนมีระบบการ print รายการยาที่แพทย์สั่ง แล้วอนุญาตให้ผู้ป่วยหรือญาตินำใบสั่งยานั้นไปซื้อยาได้เอง ถ้าผู้ป่วยต้องการ

หลายคนคงขำแนวคิดของผมแน่นๆ ว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เอกชนเขาต้องการผลกำไร แล้วจะมาทำในสิ่งที่ผมเสนอทำไมกัน แต่ผมยังมีความหวังว่าโรงพยาบาลเอกชนน่าจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสุขภาพไทยได้

ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชนกับระบบสุขภาพไทย ต้องมีการพูดคุย ร่วมกันพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพให้เกิดประโยชน์กับคนไทย ประเทศไทยมากขึ้น เราทุกคนก็เป็นคนไทยทุกคน  ถ้าทุกคนมีความสุข เราก็มีความสุขด้วย อย่าปล่อยให้คนไทยบางส่วนต้องทุกข์ทรมานเลยครับ เราทุกๆ คน ทุกภาคส่วนมาช่วยกันครับ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ดียิ่งขึ้น