หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน ผู้สื่อข่าวกับวงการสาธารณสุขไทย
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 14 กรกฎาคม 2563
- Tweet
“ถ้าเป็นหมอแล้วอยากสบาย อย่าอยู่ประเทศไทย” ผมได้ยินประโยคนี้จากผู้สื่อข่าวท่านหนึ่ง ฟังแล้วสงสารครับ ผมสงสารคนที่พูดประโยคนี้ครับ แสดงถึงความไม่เข้าใจในจิตวิญญาณของผู้ประกอบวิชาชีพศิลปะ แพทย์ พยาบาล เภสัช เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสาธารณสุขไทย พวกเราถูกสั่งสอน ถูกฝึกอบรมมาอย่างดีว่า ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำ ระหว่างหิวข้าวจนท้องร้อง แต่มีผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุมาที่ห้องฉุกเฉิน เราก็รีบไปให้การรักษาผู้ป่วยก่อนเสมอ เพราะเราเป็นลูกของสมเด็จพระราชบิดา พวกเราถึงไม่เคยคิดที่จะโต้แย้ง หรือออกข่าวว่าเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้นเป็นอย่างไร เพราะเราถูกสังคมตัดสินไปแล้วว่าหมอผิด พยาบาลผิด เภสัชกรผิด ผู้ป่วยถูกต้องเสมอ เราไม่เคยอ้างว่าพวกเราต้องนอนให้เพียงพอ ต้องนอนแบบสบายด้วย พวกเราเพียงแค่มีที่ทอดกายนอนลงไปกับโต๊ะ กับพื้น หรือแค่ฟุบหน้าลงไปกับโต๊ะ อย่างนี้ก็พอใจแล้วนะครับ เราไม่เคยเรียกร้องให้พวกเรามีความสุขสบายใดๆ เลย ผมว่าปัญหาที่เราพบความดราม่าในสื่อต่างๆ ตอนนี้ คือเกิดจากสังคมมีการแชร์สิ่งต่างๆ ออกไปอย่างรวดเร็ว ยากแก่การควบคุม แต่ผมว่าผู้สื่อข่าวน่าจะช่วยทำให้สังคมทราบว่าความจริงคืออะไร ไม่ใช่เพียงแค่ทำหน้าที่เล่าเรื่องให้มันส์ สนุก เพื่อสร้างกระแสอย่างต่อเนื่อง ผมอยากขอร้องให้ท่านผู้สื่อข่าวช่วยทำหน้าที่ต่อไปนี้หน่อยนะครับ
1. ก่อนที่นำเสนอข่าวควรหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าความเป็นจริงคืออะไร อย่าเพียงนำข้อความในสื่อโซเชียลมาเล่า แล้วก็ใส่ความเห็นที่ไม่ทราบความจริงเพิ่มลงไป เพียงเพราะว่าต้องการนำเสนอข่าวให้เร็วที่สุด ช่วงชิงเรตติ้ง แต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออนาคตของแพทย์ พยาบาล วิชาชีพที่ถูกกล่าวหา โดยปราศจากความจริง เพราะเขาเหล่านั้นไม่สามารถอดทนต่อสิ่งที่สังคมประณามเขาตลอดต่อไปได้ เพราะมันไม่มีความจริง โปรดเข้าใจด้วยครับ
2. เมื่อทราบว่าความจริงคืออะไร ควรนำเสนอด้วยว่าแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลเขาไม่ผิด ความจริงเป็นอย่างไรที่สังคมควรรับรู้ด้วย เพราะอย่างที่ผมบอกไว้ว่า พวกเราจะไม่ออกมาอธิบาย ต่อล้อต่อเถียง หรือแก้ข่าว เพราะเราเอาเวลาเหล่านั้นไปให้การรักษาผู้ป่วยครับ
3. สื่อควรช่วยเผยแพร่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การรณรงค์การใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินต้องรีบเข้าสู่ระบบการรักษา เช่น ทางด่วนโรคอัมพาต ทางด่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทางด่วนโรคอุบัติเหตุต่อสมอง เป็นต้น
4. สื่อควรช่วยเผยแพร่ข่าวที่สร้างสรรค์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เช่น นวัตกรรม การรักษาที่ได้ผลดี เป็นต้น
5. สื่อควรชื่นชมคนทำดีเกี่ยวกับสุขภาพให้คนในสังคมรับรู้ด้วย
6. สื่อควรสร้าง และปรับเปลี่ยนทัศนคติคนในสังคมให้ใช้สื่อโซเชียลที่เป็นประโยชน์ ไว้ชื่นชมคนมากกว่าทำลายคน
ผมว่าโลกนี้ ประเทศนี้ และคนไทยจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปเป็นแพทย์ที่ประเทศอื่นๆ ครับ ถ้าแพทย์ไทยไม่สามารถอยู่ประเทศไทยได้ แล้วใครจะดูแลสุขภาพคนไทยครับ